‘เบร็กซิท’ ดันทองคำพุ่ง คาดได้เห็นสูงสุดแตะ 1,400 ดอลล์/ออนซ์

28 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
ราคาทองคำพุ่งแรงหลังผลโหวตอังกฤษพลิกตีจากอียู นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัย ราคาทองในประเทศผันผวนหนัก สร้างประวัติศาสตร์ปรับขึ้น-ลงรวม 31 ครั้ง ขึ้นสูงสุดบาทละ 1,350 บาทเยาวราชคึก ประชาชนแห่เก็งกำไร แม่ทองสุกมองครึ่งปีหลังเป็นขาขึ้น คาดได้เห็นวิ่งสูงสุดที่1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ หรือประมาณ 22,800 บาทต่อบาททองคำคาดปีนี้เฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ย

[caption id="attachment_65908" align="aligncenter" width="700"] ราคาทองคำโลก ราคาทองคำโลก[/caption]

ราคาทองคำโลกปรับขึ้นแรงในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 เช่นเดียวกับราคาทองคำในประเทศที่ผันผวนอย่างหนัก ผลจากสถานการณ์เรื่องการลงประชามติของอังกฤษ หรือ"เบร็กซิท" ที่จะออกจากสหภาพยุโรป(อียู) ออกมาพลิกความคาดหมาย

โดยราคาทองคำในประเทศวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ผันผวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จากราคาจำหน่ายทองในประเทศไทยในอดีตที่มีการปรับราคาระหว่างวันมากที่สุด 22 ครั้ง โดยระหว่างวันปรับเปลี่ยนขึ้นลงมากถึง 31 ครั้ง (ปรับขึ้น 16 ครั้ง และปรับลง 15 ครั้ง )ปรับขึ้นสูงสุดเพิ่มขึ้นบาทละ 1,350 บาท ขณะที่เวลา 16.40 น.ของวันดังกล่าว ราคาทองคำปรับขึ้นจากวันก่อนหน้าบาทละ 800 บาท ทองคำแท่ง 96.5% รับซื้อบาทละ 21,850 บาท ขายออกบาทละ 21,950 บาท

ส่วนทองคำรูปพรรณรับซื้อบาทละ 21,451.40 บาท ขายออกบาทละ 22,450 บาท ส่วนราคาทองคำโลกอยู่ที่ 1,313 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ บนค่าเงินบาทที่ 35.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่บรรยากาศการนำทองคำมาจำหน่ายที่ร้านทองคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะที่ย่านเยาวราช

น.พ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส แม่ทองสุก กล่าวให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าผลการทำประชามติของประเทศอังกฤษ หรือ"เบร็กซิท" ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เชื่อว่าจะส่งผลบวกต่อการลงทุนในทองคำ ทำให้ทิศทางหรือแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นขาขึ้น

อย่างไรก็ตามราคาทองคำจะปรับขึ้นมากหรือน้อยคงต้องขึ้นอยู่กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยมองว่าระยะสั้นจะปรับขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ หรือประมาณ 22,800 บาทต่อบาททองคำ

เช่นเดียวกับในระยะยาว คาดว่าราคาในระดับดังกล่าวจะสามารถยืนอยู่ได้ เนื่องจากผลประชามติที่ออกมาทำให้โอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ในปีนี้มีความเป็นไปได้ยาก หรือเรียกว่าทั้งปีอาจจะไม่มีการปรับขึ้น ทำให้ปัจจัยลบที่จะมีผลต่อราคาทองคำไม่มี

ทั้งนี้มองว่าในระยะต่อไปจะมีนักลงทุนหันมาความสนใจลงทุนในทองคำเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีเข้ามาลงทุนกันมากพอสมควรอยู่แล้ว เนื่องจากทองคำถือว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปในทิศทางที่บวก โดยหากวิเคราะห์ออกไปในระยะยาวในทางเทคนิคก็ถือว่าเป็นขาขึ้นทั้งปีไปเรียบร้อยแล้ว

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนนายแพทย์กฤชรัตน์แนะนำว่า อันดับแรกจะต้องความเข้าใจความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น มีการเข้าหรือออกที่รวดเร็วในตลาด รวมถึงการมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำกำไรเพื่อป้องกันการแกว่งตัวของราคาที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

"ในส่วนของแม่ทองสุกเองได้มีการเตือนนักลงทุนของเราไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบทวิเคราะห์ผ่านทางหน้าของเว็บไซด์ โดยให้เพิ่มความระมัดระวังด้วยการควบคุมความเสี่ยงที่มากขึ้น หรือดับเบิ้ลมาร์จิ้น ขณะที่นักลงทุนเองก็จะต้องเข้าใจในสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความหวั่นไหว"นายแพทย์กฤชรัตน์ กล่าวในที่สุด

นายอภิสิทธิ์ ภัทรสกลเกียรติ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวว่า เมื่อผลการนับคะแนนจริงกลับออกมาตรงกันข้าม คือ ชาวอังกฤษตกลงที่จะแยกตัวออกจากอียู ทำให้ทันทีที่เปิดตลาดการซื้อขายในช่วงเช้านักลงทุนจึงมีความต้องการเข้าไปลงทุนในทองคำในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ราคาทองคำจึงปรับตัวขึ้นแรง

อย่างไรก็ตามการที่อังกฤษออกจากอียูจะยังไม่ได้เกิดผลทันทีในทางปฏิบัติ เพราะต้องมีกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ทางกฎหมายที่คาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งในระหว่างนี้เชื่อว่านักลงทุนจะมีความพร้อมเพียงพอที่จะเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และปัจจัยสำคัญที่จะยังคงเป็นปัจจัยระยะยาวที่นักลงทุนให้ความสำคัญคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

กลยุทธ์การลงทุน ในระยะสั้น จีที เวลธ์ฯ ให้แนวรับ-แนวต้านสำหรับราคาทองคำในตลาดโลกไว้ในกรอบ 1,300 - 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯออนซ์ หรือคิดเป็นเงินบาทในอัตราแลกเปลี่ยนที่ประมาณ 35.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะอยู่ในกรอบบาทละ 21,800 - 22,800 บาท

ด้านปัจจัยข่าวที่ต้องติดตามจากนี้ไป คือ จะมีประเทศอื่นในอียู จะเดินตามกรณีของอังกฤษหรือไม่ในการขอแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียู ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะมีบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ รวมถึงประเทศอื่นที่ต้องรับผิดชอบกรณีหนี้ของกรีซที่ต้องการจะดำเนินการในลักษณะเดียวกับอังกฤษ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะทำให้มุมมองภาวะเศรษฐกิจจากเดิมที่ค่อยๆ คาดว่าจะดีขึ้น จะเริ่มกลับมาสะดุดอีกรอบ

พร้อมประเมินว่า ในปีนี้มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง เนื่องจากขณะนี้ถือว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯค่อนข้างฟื้นตัวสวนกระแสกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งเฟดคงจะต้องเร่งทำให้นโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพราะหลังจากในปี 2008(พ.ศ.2551) ที่สหรัฐฯเกิดวิกฤติซับไพร์มนั้น เฟดได้ระดมอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปเป็นจำนวนมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559