Brexit “เข้าล็อค” รัสเซีย l โอฬาร สุขเกษม

27 มิ.ย. 2559 | 06:09 น.
ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรได้ลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ว่า ให้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ด้วยคะแนนเสียงเกินครึ่ง เป็นอันว่าระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนที่จะปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกและจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เป็นต้นว่าสภาอังกฤษต้องออกมติในทิศทางเดียวกันกับเสียงประชามติเสียก่อนจึงจะเริ่มดำเนินการได้ ขณะเดียวกันกลุ่มสหภาพยุโรปก็เรียกประชุมเป็นการด่วนเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่อาจติดตามมาจากการถอนตัวออกไปดังกล่าว

ชาติที่ได้ประโยชน์จากการถอนตัวออกไปของสหราชอาณาจักรคงเป็นใครไม่ได้นั่นก็คือ รัสเซีย ซึ่งรัสเซียถูกสหภาพยุโรปเล่นงานหนักโดยการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา ด้วยข้อหาที่รัสเซียสนับสนุนให้เขตปกครองตนเองไครเมียแยกตัวออกไปจากประเทศยูเครนผ่านการออกเสียงประชามติเมื่อ 16 มีนาคม 2557 และนี่เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้ปัญหาเศรษฐกิจโลกต้องถึงขั้นต้องซบเซาลง และรุกลามใหญ่โตจนกระทบต่อราคาน้ำมันดิบทั่วโลกที่ลดตัวต่ำลงมาเป็นเวลากว่าปีเศษมาแล้ว

จากปัญหาไครเมียคาบสมุทรบอลข่าน รัสเซียเบนเข็มมาสู่คาบสมุทรเมดิเตอร์เรเนียนั่นก็คือ เข้าสนับสนุนรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด เป็นการยื่นมือเข้ามาหลังจากรัฐบาลสหรัฐและยุโรปได้หนุนให้ฝ่ายกบฏต่อสู้กับรัฐบาลซีเรียมาก่อน ซึ่งหลายคนเรียกว่าเป็นสงครามตัวแทน ซึ่งความจริงแล้วสำหรับรัสเซียแล้วไม่ใช่สงครามตัวแทน หากแต่เป็นปฏิบัติการที่ลงมือทำจริงด้วยการส่งเครื่องบินรบที่ทันสมัยเข้าไปทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่าปีมาแล้ว

การที่รัสเซียรุกเข้าสู่พื้นที่แห่งนี้ก็เพราะรัสเซียรู้ดีว่า เมื่อการโจมตีต่อกลุ่มไอเอสอย่างหนัก จะทำให้พลเรือนต้องอพยพบ่ายหน้าไปพึ่งพิงยุโรปแน่นอน และคลื่นอพยพจะก่อปัญหาให้แก่ชาวยุโรปในท้ายที่สุด เพราะอพยพกันมามากถึงหลายล้านคนแล้วในเวลานี้ ไม่ว่าผู้อพยพที่ลี้ภัยมาจากตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ(ลิเบีย) และเขตตะวันตกบอลข่าน และการมาของคนเหล่านี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและปัญหาทางสังคมด้วย

ขณะเดียวกันกลุ่มไอเอสที่มีเครือข่ายในยุโรปก็เปิดฉากโจมตีโดยตรงเพื่อประกาศสงครามกับชาวยุโรป ทั้งเหตุเกิดที่กลางกรุงปารีสเมื่อต้นปีนี้ และเหตุเกิดที่ประเทศเบลเยี่ยมซึ่งเป็นเสมือนนครหลวงของสหภาพยุโรปนั่นเอง กลุ่มไอเอสคงจะดีใจที่เห็นร้อยร้าวชัดเจนหลังจากสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป และเห็นว่ายังมีอีกหลายประเทศที่ต่อแถวจะลงประชามติเพื่อถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเช่นกัน

รัสเซียได้ประโยชน์จากสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป เนื่องจากการถอนตัวออกเป็นการแสดงถึงความอ่อนแออย่างหนักของสหภาพยุโรปเอง ซึ่งถือเป็นศัตรูที่สำคัญของรัสเซียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และขณะที่รัสเซียเปิดยุทธการบินถล่มปราบกบฏและกลุ่มไอเอสในซีเรีย ได้ขยับกองเรือรบเข้าประจำการในอ่าวทะเลดำ และฝ่ายยุโรปโดยกองกำลังนาโตก็ไม่ได้อยู่นิ่ง โดยเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรนาโตทั้ง 28 ชาติส่งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปในชาติสมาชิกแถบทะเลบอลติก อันได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย เป็นการถาวร พร้อมทั้งกระตุ้นให้จัดตั้งกองบัญชาการใหญ่นาโตในประเทศเหล่านี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 กลุ่มนาโตได้เปิดฉากการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันออกนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง โดยทำการซ้อมรบเป็นเวลา 10 วัน ระดมทหารกว่า 30,000 นายจาก 24 ชาติที่ประเทศโปแลนด์ ในจำนวนนี้มีทหารอเมริกันร่วมด้วย 14,000 นาย โปแลนด์ 12,000 นาย และอังกฤษ 1,000 นาย

ท่าทีของนายวราดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียต่อเรื่องนี้ ได้กล่าวเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของการโจมตีสหภาพโซเวียตของทหารนาซีเยอรมันเมื่อปี ค.ศ. 1941 ว่า ในวันนั้นมหาอำนาจตะวันตกมีความพยายามที่จะทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย โดยที่ประชาคมระหว่างประเทศ ไม่สนใจข้อเท็จจริงอันนี้ ว่า นาซีเป็นระบอบที่อันตรายที่เกิดขึ้นยุโรป และต่อเรื่องนาโตประชิดรัสเซียโดยกล่าวว่า นาโตใช้คำพูดที่ดุดัน รวมถึงการกระทำที่ก้าวร้าวใกล้กับชายแดนของเรา ในสถานการณ์แบบนี้ เรามีหน้าที่จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษในเรื่องการเพิ่มความพร้อมด้านการสู้รบของประเทศเรา และกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้มนุษยชาติกำลังเผชิญอันตรายจากการไม่สามารถต้านทานภัยก่อการร้ายที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว ดังเช่นกับที่เคยล้มเหลวในการร่วมมือกันต่อต้านนาซีเยอรมันที่กำลังขยายอำนาจ

ประธานาธิบดีปูตินกล่าวอีกว่า ชาติตะวันตกที่ไม่ต้องการจะร่วมมือกับรัสเซียเพื่อสร้างระบบความมั่นคงส่วนกลางรูปแบบใหม่ ที่ไม่ขึ้นกับกลุ่มใด รัสเซียนั้นเปิดกว้างสำหรับการหารือเรื่องประเด็นที่มีความสำคัญนี้ ยิ่งไปกว่านั้นยังเคยแสดงให้เห็นไปแล้วมากกว่าหนึ่งครั้ง ถึงความพร้อมที่จะพูดคุย แต่มันก็เหมือนกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เราไม่เห็นถึงการตอบสนองใดๆ

การถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในช่วงเวลาน่าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ ดูจะ “เข้าล็อค” รัสเซีย เพราะพันธมิตรที่เคยเหนียวแน่นในสหภาพยุโรป รวมไปจนถึงองค์การสนธิสัญญานาโต ได้ละทิ้งความสัมพันธ์อันแนบแน่นไป และเกมส์การต่อสู้ระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรปก็ยังไม่จบ กลับอยู่ในระหว่างความตึกเครียดกันด้วยซ้ำ แต่ “อังกฤษ” กลับถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเช่นนี้แล้ว จึงคิดว่า “อังกฤษ” ได้“หนีทหาร” ด้วยประการฉะนี้