ญี่ปุ่นเล็งสร้างไฮสปีดเทรนนำร่อง 384กิโลเมตร

27 มิ.ย. 2559 | 07:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ญี่ปุ่นลุ้นก่อสร้างรถไฟไฮสปีดเทรนไทย-ญี่ปุ่นช่วงแรกกทม.-พิษณุโลกกว่า 380 กม. เร่งเสนอผลศึกษาก่อนออกแบบรายละเอียดให้แล้วเสร็จในปี 60 "อาคม" ขยาดกรณีเผยตัวเลขกรอบวงเงินลงทุน แย้มเล็งส่งรฟท.ร่วมตั้งบริษัทลูกเข้าไปดำเนินการ ชี้ต้องพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รูปแบบต่างๆควบคู่กันไปด้วย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ Mr. Tsutomo Shimura รองอธิบดีกรมการรถไฟ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นว่าเป็นการประชุมต่อเนื่องโครงการพัฒนารถไฟภายใต้ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น โดยมีอยู่ 3 เส้นทางหลัก คือ 1.รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ เบื้องต้นในการหารือครั้งนี้ได้ร่วมพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กิโลเมตร ซึ่งญี่ปุ่นได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแล้วในเบื้องต้นพบว่ามีการแบ่งช่วงการดำเนินโครงการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ - พิษณุโลก ระยะทาง 384 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 พิษณุโลก - เชียงใหม่ ระยะทาง 289 กิโลเมตร โดยในช่วงที่ 1 (กรุงเทพฯ - พิษณุโลก ) จะมีผลตอบแทนด้านความคุ้มค่าด้านการลงทุนโครงการดีกว่า แต่ทั้งนี้ต้องมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ควบคู่ไปด้วย ส่วนช่วงที่ 2 เมื่อมีการเจริญเติบโตของเมืองตามการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในช่วงที่ 1 แล้วผลตอบแทนโครงการจะดีขึ้น

"ไม่ว่าจะเป็นการเกิดนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาเชิงพาณิชย์ในสถานี การพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทาง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพก็จะทำให้ผลตอบแทนโครงการมีความคุ้มค่าด้านการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เปลี่ยนแนวคิดว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้นไม่ใช่เฉพาะเวนคืนมาทำเฉพาะเส้นทางรถไฟอย่างเดียว จะต้องพิจารณาว่าช่วงไหนที่สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดมูลค่าและเกิดผลตอบแทนได้อีก ครั้งนี้เป็นการนำเสนอรายงานความเป็นไปได้ขั้นกลางเท่านั้น โดยคาดว่าจะนำรายงานคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ในเดือนกรกฎาคมนี้"

นอกจากนั้นฝ่ายไทยยังได้ขอรับการสนับสนุนฝ่ายญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งฝ่ายไทยก็ยังได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ที่มองในแนวภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ดีกว่า จึงเป็นการเรียนรู้ทางด้านการพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมกันซึ่งอยู่ระหว่างการหารือและจัดหางบประมาณไปดำเนินการ ประการสำคัญการพัฒนาของญี่ปุ่นในจุดหนึ่งจะใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีจึงจะเห็นภาพชัดเจนซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะให้เอกชนพัฒนาหรือรัฐต้องการจะพัฒนาเองมากกว่า

“หากให้เอกชนพัฒนาจำเป็นจะต้องมีการวางผังพื้นที่ วางผังการใช้ประโยชน์ แล้วจึงนำไปสู่การจัดรูปที่ดินต่อเนื่องกันไป หรือจำเป็นจะต้องลงทุนซื้อที่ดินก็จะดำเนินการในทันทีซึ่งฝ่ายไทยนั้นมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พร้อมร่วมลงทุนได้ทันทีโดยอาจจะให้ร.ฟ.ท.ตั้งบริษัทลูกเข้าไปดำเนินการทำหนาที่บริหารเฉพาะเส้นทางนั้นๆ”

Photo : Youtube ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อข่าว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559