ไทย-เมียนมา MOU เน้นความร่วมมือแก้ปัญหาด้านแรงงานตามหลักสากล

24 มิ.ย. 2559 | 06:50 น.
วันนี้ (24 มิ.ย. 59) ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นาง ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามความตกลงด้านแรงงาน 2 ฉบับ ระหว่าง พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นาย เต็ง ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากร เมียนมา โดยฉบับแรกเป็นบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะยอมรับในหลักการของความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มพูนความสัมพันธ์ ประโยชน์ระหว่างกันในการสร้างความเข้มแข็งและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงสนับสนุน พัฒนาความร่วมมือในด้านแรงงาน พร้อมมุ่งมั่นร่วมกันในการส่งเสริมนโยบายการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี เพื่อปรับปรุงศักยภาพและความสามารถของทั้งสองประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการจัดส่งและรับแรงงานระหว่างกัน ให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลเพื่อป้องกันการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์เพื่อการจ้างงาน พร้อมร่วมมือกันเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับทักษะฝีมือของกำลังคน และเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วย

นอกจากนี้ จะทำงานเพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ อาทิ การเจรจาต่อรองร่วม การร้องทุกข์และการบังคับใช้กฎหมาย การระงับข้อพิพาทแรงงาน การประกันสังคม และการคุ้มครองแรงงาน การฟื้นฟูสมรรถภาพ ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การทำงานในเรือเดินทะเล การประกันการว่างงาน การบริหารจัดการแรงงานต่างชาติ และการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน รวมทั้งการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับฉบับที่สองเป็นบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน วัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาและขยายความร่วมมือระหว่างกันในการจัดทำกรอบการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินการตามกระบวนการที่เหมาะสมสำหรับการจ้างงาน มีกระบวนการส่งกลับแรงงานที่ครบกำหนดระยะเวลาการจ้างงานตามเงื่อนไขให้กลับประเทศต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศภาคี โดยบันทึกฯ นี้ จะครอบคลุมทั้งกระบวนการส่งและรับ การคุ้มครอง สัญญาจ้าง การรับรองเอกสาร การอบรมและการให้ความรู้แรงงานก่อนการเดินทาง การตรวจลงตรา อนุญาตทำงาน บริการสุขภาพ การส่งกลับประเทศต้นทาง การระงับข้อพิพาท หน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการข้ามแดนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์เพื่อการจ้างงาน และการจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในกระบวนการส่งและรับจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ มีระบบการลงทะเบียนคนงานเพื่อไปทำงานต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ ผ่านกระบวนการสรรหาและการตรวจร่างกาย และจะได้รับการเสนอสัญญาจ้างก่อนการเดินทาง มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงทั้งเรื่อง ค่าใช้จ่าย ขั้นตอน และระยะเวลา ในการคุ้มครองแรงงานคนงานเมียนมาจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันกับแรงงานไทย บนหลักพื้นฐานของการไม่เลือกปฏิบัติ ได้รับสิทธิและประโยชน์ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง กฎหมายแรงงานและระเบียบอื่นๆ ที่บังคับใช้ในประเทศไทย ประการสำคัญ เมียนมาจะต้องจัดให้มีการอบรมก่อนการเดินทางให้กับคนงาน โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อให้มั่นใจว่าคนงานมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของการจ้างงานและมีการประกันสุขภาพตามที่กำหนด และหากมีข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง อันเนื่องมาจากการจ้างงานจะได้รับการระงับตามกฎหมายและระเบียบของประเทศไทย สำหรับสัญญาจ้างและเอกสารอื่น ๆ จะต้องจัดทำเป็นภาษาไทย ภาษาเมียนมา และภาษาอังกฤษ และรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้มีระยะเวลา 5 ปี ในส่วนของบันทึกข้อตกลงการจ้างงานฯ จะมีระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจากการลงนามในครั้งนี้ นอกจากแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกันแล้ว  ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากล และมีความรับผิดชอบร่วมกัน พร้อมๆ กับการเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง เพื่อความผาสุกและความมั่งคั่งของประชาชนทั้งสองประเทศ