ภาษีที่ดินอัตราใหม่จี้แบงก์ตื่น!ดิสเคาต์เอ็นพีเอหนีภาระ

23 มิ.ย. 2559 | 01:00 น.
ธนาคารเล็งลดราคาระบาย-หาวิธีโปรโมชันพิเศษทรัพย์แหยงต้นทุนเพิ่มหลังถือครองเกิน 5 ปี /ค่ายกรุงไทยคาดเวอสท์เคสถ้าขายไม่ได้ในปีที่ 6 ต้องจ่ายสูงถึง 400 ล้าน ด้าน "กสิกรไทย-บัวหลวง"โอดแปลงใหญ่ไม่ง่ายบางชิ้นใช้เวลา 2-3 ปี

ระหว่างรอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ....ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของ สนช. หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบในหลักการ ( เมื่อ 7 มิ.ย.59) โดยอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเป็นอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้นตามมูลค่าของฐานภาษี 4 ประเภท คือ 1.เกษตรกรรม อัตราตั้งแต่ 0-0.1% ของฐานภาษี 2.ที่พักอาศัยหลัก ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไปตั้งแต่ 0.05-0.1% และที่พักอาศัยหลังอื่น ตั้งแต่ 0.03-0.3% ของฐานภาษี 3.ประเภทอื่นๆ ตั้งแต่ 0.3-1.5% ของฐานภาษี 4.ที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดินจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุก 3 ปีโดยในปีที่ 1-3 เก็บในอัตรา1%ของฐานภาษี ปีที่ 4-6 เก็บในอัตรา 2% ของฐานภาษี ปีที่ 7 เป็นต้นไปเก็บในอัตรา 3% ขณะที่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการบรรเทาภาระให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% ของฐานภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ของสถาบันการเงินเป็นระยะเวลา 5 ปีซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 นั้น

ต่อประเด็นดังกล่าว นายชัยชาญ พลานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มบริหารทรัพย์สินพร้อมขาย ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)(บมจ.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯฉบับนี้ผ่อนผันให้ธนาคารที่มีสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ) เสียภาษีในอัตรา 0.05% เป็นระยะเวลา 5 ปี หลังจากนั้นตั้งแต่ปีที่ 6 จะเก็บภาษีในอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อธนาคารในระยะ 5 ปีเป็นที่แน่นอนว่าภาระในการจ่ายภาษีที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากกฎหมายภาษีที่ดินฯ แบ่งประเภททรัพย์ออกเป็น 4 กลุ่มซึ่งเอ็นพีเอของธนาคารจะอยู่ในกลุ่ม 3 และ 4คือ ประเภทอื่นๆ (พาณิชยกรรม)และที่ดินว่างเปล่าโดยเฉพาะที่ดินว่างเปล่านั้นกฎหมายกำหนดอัตราจัดเก็บภาษีเป็นขั้นบันได

ทั้งนี้ ผลกระทบจากร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯนั้น เบื้องต้นธนาคารต้องใช้อัตราภาษีใหม่ภายใต้กรอบกฎหมายที่จะมีการบรรเทาในอัตรา 0.05%เป็นเวลา 5 ปีโดยประมาณการระหว่างปี 2560-2564 เอ็นพีเอที่มีอยู่ จำนวน 4,214 รายการซึ่งราคาประเมินของบมจ.ธนาคารกรุงไทยเองเท่ากับ 4.93 หมื่นล้านบาท คาดว่าธนาคารจะจ่ายภาษี 24 ล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จะจัดเก็บน้อยกว่าที่ธนาคารประเมินอยู่แล้ว

สำหรับปี2559 (ณ เดือนเมษายน) ทางอปท.4 แห่งคือ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เทศบาล กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา กำหนดอัตราจัดเก็บตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ โดยบมจ.ธนาคารกรุงไทยได้ชำระภาษีไปแล้วจำนวน 22.5 ล้านบาท

" การปรับตัวของธนาคารจะเร่งขายทรัพย์ออกไปเพื่อลดภาระภาษี รวมทั้งทรัพย์ที่จะเข้ามาใหม่ก็ต้องเร่งระบายออกตามที่แบงก์ชาติกำหนดให้ถือครอง 5 ปี เพราะถ้าขายไม่ได้ก็ต้องไปเสียภาษีในปีที่ 6 เยอะมากเท่ากับ 400 ล้านบาท เวอสท์เคสนะ แต่จริงๆ ต่อปีจะต้องเพิ่มเป้าขายออกมากขึ้น ซึ่งทั้งปีนี้วางไว้ที่ 8 พันล้านบาทครึ่งปีทำได้แล้ว 3,200 ล้านบาทส่วนช่วงที่เหลือราวไตรมาสที่3น่าจะเห็นความคืบหน้าเจรจาขายทรัพย์ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.)ประมาณ 900 ล้านบาท"

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันธนาคารมีเอ็นพีเออยู่มูลค่าประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยเป็นทรัพย์ที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท จะเป็นที่อยู่อาศัยบ้านเดี่ยวประมาณ 1% ของทรัพย์ทั้งหมด และทรัพย์ที่เหลือส่วนใหญ่ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท จะเป็นทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรม เช่น ตึกแถว อาคารพาณิชย์ ส่วนที่เป็นที่ดินเปล่าแปลงใหญ่ๆ มีไม่เยอะ แต่โดยปกติธนาคารจะเสียภาษีโรงเรือนเฉลี่ยปีละ 2 ล้านบาท ถือว่าไม่มากนัก

ดังนั้น แม้ผลกระทบต่อธนาคารไม่มากนัก แต่การถูกจัดเก็บภาษีถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างหนึ่ง ทำให้ธนาคารต้องเร่งระบายทรัพย์ออกก่อนภายใต้เงื่อนไขที่จะถูกจัดเก็บหลังถือครอง 5 ปี ซึ่งวิธีการระบายทรัพย์อาจจะเป็นการทำโปรโมชันพิเศษ หรือลดราคา (Discount) ทรัพย์ลงโดยพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งโดยปกติเศรษฐกิจดีจะขายทรัพย์ได้ประมาณ 4-5 พันล้านบาท แต่ปีนี้คาดว่าจะสามารถขายได้ประมาณ 3-4 พันล้านบาท เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ และต้องยอมรับว่าจะต้องมีทรัพย์ใหม่ที่เข้ามาด้วย

"แบงก์จะไม่เก็บเอ็นพีเอไว้นาน เนื่องจากธปท.ได้มีเกณฑ์ถือครองไว้ไม่เกิน 5 ปี เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือป้องกันการเก็งกำไร ที่ผ่านมากสิกรไทยก็ยึดหลักเกณฑ์นี้ตลอด แต่การขายเอ็นพีเอไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสินทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้ระยะเวลา เช่น บางชิ้นต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะระบายออกได้ แต่ก็เชื่อว่า ภาษีตัวนี้น่าจะทำให้แบงก์ตื่นตัว"

นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การบริหารจัดการทรัพย์เอ็นเอยังเป็นไปตามกฎเกณฑ์เดิม โดยมีการเร่งระบายทรัพย์เป็นปกติ และหากดูทรัพย์ที่เกิน 50 ล้านบาทในพอร์ตรวมเอ็นพีเอของธนาคารที่ปัจจุบันมีประมาณ 9 พันล้านบาท จะเห็นว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก อย่างไรก็ดี ธนาคารเชื่อว่าอาจมีส่วนกระทบอยู่บ้าง แต่กระบวนการขายเอ็นพีเอคงต้องขายตามขบวนการปกติ เพราะต้องมีการคำนวณต้นทุนต่างๆ และการขายทรัพย์จะใช้เวลาพอสมควร

"การจัดการเรื่องขายทรัพย์เอ็นพีเอ เราก็คงขายตามปกติที่ขายอยู่ แต่คงไม่ต้องลดราคาเพื่อเร่งออก เพราะทรัพย์แต่ละชิ้นมีต้นทุนแตกต่างกัน แต่ธนาคารก็พยายามไม่เกินเวลาที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 5 ปี"

Photo : Pixabay ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559