เมื่ออังกฤษออกจากสหภาพยุโรป

22 มิ.ย. 2559 | 13:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ปัจจุบันนี้สหภาพยุโรปประกอบด้วยสมาชิก 28 ประเทศ ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็น 1 ในนั้น และวันที่ 23 มิถุนายน 2559 หรือวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้จะมีการลงประชามติว่าสหราชอาณาจักรจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ดูตามข่าวสารเวลานี้ ชาวอังกฤษมีท่าทีจะลงมติให้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก แม้ว่าก่อนหน้านี้จากการสำรวจโดยการจัดทำโพลล์แบบถี่ยิบ มีผลโพลล์ที่สลับกันไปมาว่าถอนหรือไม่ถอน

เมื่อสหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว (ประชามติสนับสนุนให้เข้าเป็นสมาชิกอียู 67%) สหราชอาณาจักรก็ดำเนินการตามหลักการปกครองของสหภาพยุโรป คือ สหภาพยุโรปดำเนินการผ่านระบบองค์การอิสระเหนือชาติและการตัดสินใจที่เจรจาระหว่างรัฐบาลโดยรัฐสมาชิก โดยมีสถาบันสำคัญๆ ที่ดูแลเรื่องต่างๆ ตั้งแต่คณะกรรมาธิการยุโรป คณะมนตรีสหภาพยุโรป สภายุโรป ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป และธนาคารกลางยุโรป โดยพลเมืองสหภาพยุโรปเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปทุก 5 ปี ทั้งนี้สหภาพยุโรปได้พัฒนาตลาดเดียวผ่านระบบกฎหมายที่เป็นมาตรฐานซึ่งใช้บังคับในรัฐสมาชิกทุกรัฐ มีการยกเลิกการควบคุมหนังสือเดินทาง สหภาพยุโรปมุ่งประกันการเคลื่อนย้ายบุคลากร สินค้า บริการและทุนอย่างเสรี และคงไว้ซึ่งนโยบายการค้าเกษตรกรรม การประมงและการพัฒนาภูมิภาคร่วมกัน

โดยหลักการแล้วเมื่อรวมกันเป็นสหภาพยุโรปแล้วก็ควรใช้เงินสกุลเดียว คือ สกุลยูโร ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่ใช้สกุลยูโรหรือกลุ่มยูโรโซนมีเพียง 19 ประเทศ (ณ 1 มกราคม 2558) โดยไม่มีสหราชอาณาจักรรวมอยู่ด้วย ที่ไม่เข้ายูโรโซนเพราะโหวตเสียงในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2554 ปรากฏว่าประชาชนมากถึง 60% ไม่เห็นด้วยที่จะเข้าร่วมสกุลเงินยูโร แต่ท้ายที่สุดหากไม่ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว สหราชอาณาจักรก็ไม่พ้นต้องสลายเงินปอนด์ไปใช้สกุลยูโรเหมือนกับ 19 ประเทศที่เป็นสมาชิก

ซึ่งผมเชื่อว่าประชาชนชาวสหราชอาณาจักรคงสรุปบทเรียนที่ผ่านมาและพบเห็นจริงๆ แล้วว่า การใช้เงินสกุลยูโรแล้วมีปัญหาติดตามมาคืออะไร (ทุกวันนี้ค่าเงินปอนด์ก็แข็งกว่าเงินยูโร) เพราะต้องบริหารการเงินผ่านธนาคารกลางยุโรปเป็นสำคัญ ในขณะที่เมื่อใช้เงินปอนด์อยู่สามารถจัดการได้ลงตัวและง่ายกว่าด้วย และการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปก็เท่ากับปิดทางที่สหราชอาณาจักรจะเข้าระบบการเงินยูโรไปเลยทีเดียว เรียกว่าคืนสู่สถานะเดิม

นั่นหมายถึงว่าเมื่อถอนตัวออกแล้ว จะเป็นไทจากข้อผูกมัดต่างๆ ไม่ว่าจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากการเกาะกลุ่มเดียวกันในยุโรป ซึ่งในประวัติศาสตร์แล้วคนอังกฤษท้ายที่สุดมักจะมองคนในชาติของตนเองเป็นสำคัญ และยึดติดกับความภาคภูมิใจในเสรีภาพทางการเมือง และระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่และดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งคงจะเบื่อหน่ายกับปัญหาของอียูที่เกิดขึ้นตลอดไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการโยกย้ายเข้าเมืองของสมาชิกสหภาพยุโรป ปัญหาให้ความร่วมมือด้านผู้อพยพจากตะวันออกกลาง ปัญหาที่ต้องร่วมรับผิดชอบจ่ายค่าสมาชิกซึ่งจ่ายไปแล้วกว่า 11,000 ล้านปอนด์ในขณะที่มีผลตอบแทนกลับมาเพียงเล็กน้อย รวมถึงกฎระเบียบของอียูที่แผ่ปกคลุมอำนาจรัฐสมาชิก

ธนาคารกลางยุโรปเองก็ไม่สามารถที่ลดปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ประเทศสมาชิกได้ทั้งหมด อย่างประเทศกรีซที่ต้องอุ้มชูให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาให้ได้ เพราะเป็นพันธะร่วมกันของประเทศสมาชิก ที่จะต้องดูแลกันและกันไม่ให้จมหายตายจากกันไป ธนาคารกลางยุโรปจะลดดอกเบี้ยก็ทำได้ลำบาก ขณะที่รัฐบาลชาติต่างๆ ที่เป็นสมาชิกจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ก็ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพราะธนาคารกลางยุโรปควบคุมงบประมาณอยู่ ไม่ให้มีการใช้จ่ายขาดดุลตามหลักเกณฑ์อันเข้มงวดของการรวมเงินสกุลเดียวกัน

ผมประเมินว่า ณ นาทีนี้ สหราชอาณาจักรคงลงประชามติถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมากกว่าจะอยู่เป็นสมาชิกต่อไป ผิดถูกเป็นเรื่องของคนอังกฤษครับที่จะออกเสียง

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,168 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559