‘กันกุล’ตั้งงบลงทุน1.7หมื่นล้าน สานฝันโรงไฟฟ้าพลังงานลม-แดด 200 เมกะวัตต์

17 มิ.ย. 2559 | 14:00 น.
กัลกุล ตั้งงบลงทุนปีนี้ 1.75 หมื่นล้าน รุกธุรกิจพลังงานลม-แดด ทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 200 เมกะวัตต์ภายในปี 2560 เผยอยู่ระหว่างเจรจาซื้อโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น เปิดหน้าตักเงินพร้อม ปี 59 เป้ารายได้ 5.8 พันล้าน โต 30%

นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)(GUNKUL)เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนปีนี้ไว้ที่ 1.75 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นโครงการพลังงานลม 2 โครงการ มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดดหรือโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่นอีก 75 เมกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 7.5 พันล้านบาท

[caption id="attachment_62769" align="aligncenter" width="700"] ข้อมูลการเงินบมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง ข้อมูลการเงินบมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง[/caption]

สำหรับแหล่งเงินทุนมาจากกระแสเงินสดในมือจากการขายหุ้นบางส่วนให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ในช่วงที่ผ่านมา และมาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และมีแผนที่จะออกหุ้นกู้อีก 4.5 พัน ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจาซื้อโครงการโซล่าร์ฟาร์มในญี่ปุ่นในไตรมาส 3-4 เพื่อให้เป้าหมายขนาดกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 125 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 75 เมกะวัตต์ โดยโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2560 ขณะที่มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560

นายสมบูรณ์ กล่าวว่าในเดือนสิงหาคมนี้บริษัทฯ เตรียมปรับเป้ารายได้ปี 2559 คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 5.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 30% เนื่องจากทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท การเพิ่มเป้าผลประกอบการมีปัจจัยหนุนจากการได้รับงานก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ ที่คาดว่าจะรู้ผลในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ด้านอัตรากำไรขั้นต้นจะรักษาให้อยู่ระดับเดียวกับปีก่อนที่ 23% ส่วนอัตรากำไรสุทธิ คาดว่ารักษาให้เท่ากับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 14.07%

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2559 จะใกล้เคียงกับไตรมาสแรก เนื่องจากงานใหม่ที่จะเข้ามาจะกระจุกตัวในครึ่งปีหลัง สำหรับปีถัดไปคาดว่ารายได้จากธุรกิจพลังงานลมและ พลังงานทดแทนจะเข้ามามาก และ ทำให้ปี 2561 สัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนไปเป็นธุรกิจพลังงานทางเลือก 50% งานรับเหมา 50% จากปัจจุบันงานรับเหมาอยู่ที่ 60-65% ส่วนธุรกิจพลังงานทางเลือกอยู่ที่ 35-40%

นอกจากนี้กรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กพพ.) จะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ระยะที่ 1 ประเภทชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อยและ อำเภอนาทวี โดยจะเปิดให้ยื่นแบบเสนอขายไฟฟ้าวันที่ 15-30 มิถุนายน 2559 นั้น บริษัทก็จะยื่นเข้าร่วมโครงการประมูลดังกล่าว คาดจะทราบผลได้ภายในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้เจรจากับโรงไม้เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าแล้ว

GUNKULประกอบธุรกิจผลิต จัดหาและจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศ-ธุรกิจผลิตจัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน-ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ-ธุรกิจก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน-ธุรกิจการให้บริการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559