ค่าจ้างขั้นตํ่าใหม่แรงงานไทย ถึงเวลายกเครื่องใหญ่!

13 มิ.ย. 2559 | 09:00 น.
ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เริ่มทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2546ครบระยะตามข้อตกลงว่าจะใช้ไปยาว 3 ปีเมื่อปลายปี 2548ที่ผ่านมา ขณะเศรษฐกิจไทยผันผวนตามภาวะตลาดโลก ด้านผู้นำแรงงานก็ยื่นข้อเรียกร้องให้พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าจากเดิม โดยที่คณะกรรมการค่าจ้างขั้นตํ่าหรือบอร์ดไตรภาคี ได้วางแนวทางพิจารณาใหม่พิจารณาเป็นรายจังหวัด ซึ่งถึงปลายปี 2558 ที่ผ่านมามีเสนอขอปรับขึ้นเพียง 6 จังหวัด และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของบอร์ดค่าจ้างฯ จนล่วงเลยมาเกือบถึงกลางปี นั้น

กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ จัดเวทีเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "อนาคตอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแรงงานไทย" ขึ้น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอแนะของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีวิทยากรประกอบด้วย นางเพชรรัตน์ สินอวย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงาน นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานงานแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ และประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ โดยยังคงมีมุมมองที่แตกต่าง แต่เห็นพ้องว่าถึงเวลาต้องทบทวนโครงสร้างการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้มานานและสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไปมากแล้ว จึงควรจะได้ศึกษาวิจัยหาแนวทางใหม่ต่อไป

ย้ำไตรภาคีพิจารณารอบด้าน

นางเพชรรัตน์ ชี้ว่า ข้อดีของการกำหนดค่าจ้างขั้นตํ่าขึ้นมาเพื่อดึงค่าจ้างท้องตลาดเข้าสู่มาตรฐานกลางและสร้างความเป็นธรรมให้กับสถานประกอบการที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ

หลักการสำคัญอีกประการ คือ ค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่กระทบกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ต้องเป็นกลไกสร้างความเป็นธรรมและกระจายรายได้ให้กับประชาชน และยกระดับรายได้ของประเทศขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนากลไกต่างๆ ขึ้นมา จากวิธีการที่แรงงานมาปิดล้อมกระทรวง ปรับกลยุทธ์ใหม่มาเป็นการหารือพูดคุยร่วมกันด้วยความเข้าใจ โดยใช้ข้อมูลที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมาช่วยในการตัดสินใจ

"ยืนยันว่า เป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง หรือ ประมาณ 20% เท่านั้นที่นำใช้ในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการพิจารณาต้องย้อนกลับมาที่วัตถุประสงค์ของคำว่า"อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ" ใช้เพื่อให้ลูกจ้างอยู่ได้ ดำรงชีวิตอยู่ได้ในจังหวัด ในท้องถิ่นที่อยู่ อัตรานั้นจะเหมาะสมกับการดำรงชีวิตอยู่ได้พื้นที่นั้น ตามความสามารถของธุรกิจในจังหวัดนั้น ๆ หรือท้องที่นั้น ซึ่งเป็น wording ที่เพิ่มเข้ามาเมื่อปี 2553-2554 ถูกนำบรรจุเป็นคำจำกัดความที่ชัดเจน ว่าค่าจ้างขั้นต่ำหมายถึง ค่าจ้างสำหรับแรงงานไร้ฝีมือแรกเข้าทำงานที่มีอายุการทำงานไม่เกิน 1 ปีให้สามารถมีชีวิตอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้นๆ

พร้อมยืนยันว่ามีตัวแทนแรงงานเข้ามาร่วมพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัด กรณีจังหวัดที่ไม่สหภาพแรงงานที่ชัดเจน ในระดับอนุฯจังหวัด จะคัดเลือกมาจากผู้แทนแรงงานในจังหวัดอย่างน้อย 3 กลุ่ม จากลูกจ้างสถานประกอบการที่หลากหลาย หากเป็นจังหวัดท่องเที่ยวก็ต้องมีตัวแทนแรงงานจากภาคท่องเที่ยวซึ่งไม่ใช่ลูกจ้างระดับบังคับบัญชา เพื่อสะท้อนข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริง รวมทั้งพิจารณาข้อมูลพื้นที่อย่างละเอียดและโปร่งใสเป็นธรรม

ลูกจ้างย้ำต้องขึ้น-อัตราเดียวทั่วประเทศ

ด้านนางสาววิไลวรรณ ย้ำนิยามค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องเพียงพอสำหรับแรงงานแรกเข้า/เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว 3 คนได้ ซึ่งเป็นนิยามเดียวกับของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO คือ ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ 3 คน ต้องพิจารณาจากคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกคนทุกจังหวัด แต่อัตรา 300 บาทต่อวันนี้ ในปัจจุบันไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวแรงงานได้ ที่อยู่ได้เพราะมีโอที หรือทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้ อาทิ ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ตอกย้ำผลสำรวจของ คสรท. ซึ่งสอบถามลูกจ้างทั่วประเทศ (เฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็น) ระบุตรงกันว่า ค่าจ้างขั้นต่ำที่พอจะอยู่ร่วมกันได้อยู่ที่ 360 บาท ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอกับกระทรวงแรงงานแล้ว ผลออกมาว่า ปรับให้ไม่ได้ เพราะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ สะท้อนมุมกลับว่า หากจะนำเรื่องสภาพเศรษฐกิจมาโยงกับอัตราค่าจ้าง ให้นึกว่า ถ้าแรงงานมีรายได้ดี คนในประเทศก็จะมีกำลังซื้อที่ดี เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นใช่หรือไม่

ก่อนตั้งข้อสังเกตต่อข้อเสนอของ คสรท. ซึ่งมีฐานแรงงานกระจายอยู่ในหลายจังหวัด ซึ่งได้ทำข้อเสนอให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ให้มีการปรับวันละ 360 บาทนั้น ควรนำมาพิจารณาประกอบร่วมกับมติของคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานจังหวัด เพื่อความเป็นธรรมด้วย เนื่องจากใน 77 จังหวัด บางจังหวัดไม่มีสหภาพแรงงาน จึงไม่มีกฎหมายคุ้มครองที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนในเรื่องเหล่านี้ได้

"สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำ ถือเป็นหลักประกันให้กับผู้ใช้แรงงานแรกเข้า แต่ถ้ามากกว่า 1 ปีขึ้นไป เสนอให้กระทรวงแรงงานทำหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานที่จะนำไปสู่การจับต้องได้ อาทิ กรณีอายุงาน 1-2 ปีขึ้นไปต้องมีการปรับให้แบบขั้นบันได ต่อไปสิ่งที่จะมีคือ รัฐบาลแค่กำหนดว่า กี่ปีรัฐบาลจึงจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ สิ่งเหล่านี้จะช่วยการันตีให้กับคนที่ไม่มีสหภาพแรงงาน หรือ ฐานรองรับก็จะได้รับการปรับ"

นายจ้างผวา"การเมือง"อย่าแทรก

ด้านนายสุชาติ ยืนยันแข็งขันว่าตัวเลขจะไม่เป็นประเด็น ควรพิจารณาจากความอยู่รอดในปัจจัยต่างๆของประเทศของธุรกิจ และของลูกจ้าง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรียกร้องมาจึงจะพิจารณา ซึ่งจากนโยบายการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 300 บาท ถือเป็นจุดที่ทำให้ธุรกิจสะดุด เกิดปัญหา ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอีกนับจากนี้ไป ไม่ว่าจะมีผลทางบวก หรือทางลบกับผู้ที่เกี่ยวข้อง การเมืองไม่ควรแทรกแซงโดยเด็ดขาด

เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เสนอให้มีคนกลางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานมาเป็นผู้พิจารณา ฟังเสียงจากพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคและจังหวัด โดยคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่มาจาก 3 ฝ่าย รวบรวมข้อมูลทั้งหมดตามมาตรา 87 แล้วพิจารณาเพิ่มเติมว่า ค่าจ้างควรเป็นเท่าใด เน้นยํ้าว่าต้องปราศจากการแทรกแซงจากทุกฝ่ายโดยเด็ดขาด ผลการพิจารณาออกมาอย่างไรทุกคนต้องยอมรับ ยืนยันว่าแต่ละจังหวัดไม่ควรเท่ากัน

“สิ่งที่ประเทศไทยมีปัญหามากที่สุดคือ ผลิตภาพแรงงาน 300 บาทต่อวันจะไม่แพงเลยถ้าผลิตภาพแรงงานสูง
การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานเป็นหน้าที่ของนายจ้างต้องดูแล และต้องได้รับความร่วมมือจากลูกจ้างหากทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องกันว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายอยู่รอดปลอดภัย และสามารถแข่งขันได้ ต้นทุนต่ำ ลูกจ้างก็ได้เงินมากขึ้น ดังนั้น การอยู่ร่วมกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างจึงไม่ใช่ต่างคนต่างคิดผู้ประกอบการทำอย่างไรที่จะให้ต้นทุนลดลง ส่วนที่ประหยัดได้ก็ให้ลูกจ้าง สำหรับนายจ้างที่พัฒนาแล้ว ที่มีโครงสร้างที่ดีทำได้ แต่ลูกจ้างที่เป็นเอสเอ็มอีทำยาก แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้เลย

ต่อไปค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่มาเป็นประเด็น หากพนักงานมีฝีมือ นี่คือ สิ่งที่สภาอุตสาหกรรมเชื่อเรื่องของประสิทธิภาพแรงงาน และได้เสนอไปแล้วว่า ควรเอาผลิตภาพแรงงาน เป็นวาระแห่งชาติ

ชี้ถึงเวลายกเครื่องใหญ่

ด้านดร.สราวุธ ชี้ประเด็นโต้แย้งการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เกิดขึ้นว่า ตนเป็นคนนอกไม่มีส่วนได้เสียกับภาคส่วนไหน มีทั้งมุมที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับจุดยืนของแต่ละฝ่าย อาทิ เห็นด้วยกับการกำหนดอัตราค่าจ้างรายพื้นที่ สะท้อนสภาพเศรษฐกิจของแต่ละแห่ง แต่ก็เห็นว่านิยามค่าจ้างขั้นต่ำควรพอเพียงเลี้ยงดูครอบครัวด้วย ซึ่งเป็นนิยามที่ใช้กันในประเทศส่วนใหญ่ในโลก

ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอว่า โครงสร้างและหลักเกณฑ์พิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยใช้มานานมากแล้ว สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป บอร์ดค่าจ้างฯน่าจะศึกษาวิจัยโครงสร้างและหลักเกณฑ์ใหม่ โดยอาจศึกษาเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาประเทศอื่น ๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันกระบวนการกำหนดอัตราค่าจ้างมีเป็นลำดับชั้นตั้งแต่ระดับเฟเดอรัล ระดับมณฑล ลงไปถึงระดับเมือง(ซิตี) โดยที่สหภาพแรงงานมีอิทธิพลน้อยลงในการชี้นำค่าจ้างขั้นต่ำ

หลายหลักเกณฑ์ซํ้าซ้อนและเยอะเกินไป อาจตัดทอนให้น้อยลง จากเดิมพิจารณาทั้งภาวะราคาสินค้า ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index- CPI)และอัตราเงินเฟ้อ ก็อาจใช้แค่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น รวมทั้งต่อไปอาจพิจารณาโครงสร้างค่าจ้างที่หลากหลายขึ้น เช่น เป็นรายจังหวัดหรือพื้นที่ เป็นรายอาชีพ หรือเป็นรายกิจกรรม รวมถึงมีตัวชี้วัดการปรับขึ้นอัตโนมัติ เมื่อเศรษฐกิจมีความผันผวนรุนแรง โดยไม่ต้องรอมาพิจารณาเป็นรอบปี และวางกรอบการปรับค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นรอบ 2-3 ปี ว่าจะขยับไปอย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้าเป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,165 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559