เอสพีพีถอนลงทุนโรงไฟฟ้าเข้าข่าย 10 โครงการทิ้งลูกค้าในนิคมฯให้ไปใช้ไฟการไฟฟ้าภูมิภาคแทน

13 มิ.ย. 2559 | 08:00 น.
มติกพช.ทำเอาโรงไฟฟ้าเอสพีพีระส่ำ คาด 10 โครงการ กำลังผลิตเกือบ 900 เมกะวัตต์ ส่งสัญญาณขอถอนตัวไม่ต่อสัญญา เล็งจับตากลุ่มบริษัท โกลว์ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาการลงทุน ขณะที่อมตะบี.กริม เดินหน้าลงทุน 2 โครงการ แต่ลดกำลังผลิตลง ส่งผลกระทบต้องบอกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้าในนิคมฯ 30 ราย ให้ไปใช้ใช้ไฟฟ้าจากกฟภ.แทน เหตุปริมาณรับซื้อไฟจากภาครัฐต่ำ ราคาไม่จูงใจ

นายไพทูร ไพศาลสุขวิทยา อุปนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ปรับลดปริมาณและราคารับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายเล็ก(เอสพีพี) ระบบ Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2560–2561 ให้ต่อระยะเวลาสัญญาได้อีก 3 ปี แต่ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ และราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 2.375 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าเอสพีพีที่หมดอายุสัญญาปี 2562–2568 จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพ้นที่เดิมหรือใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม มีสัญญา 25 ปี แต่ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 2.81 บาทต่อหน่วยนั้น

ทั้งนี้ จากมติดังกล่าว จะส่งผลให้มีผู้ประกอบการเอสพีพีประมาณ 10 โครงการ คิดเป็นปริมาณขายไฟฟ้าเกือบ 900 เมกะวัตต์ จากทั้งหมดที่มีอยู่ 21 โครงการ ปริมาณขายไฟฟ้า 1.565 พันเมกะวัตต์ อาจจะถอดใจไม่ต่อสัญญาหรือไม่ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากปริมาณรับซื้อไฟฟ้าต่ำและราคาค่าไฟฟ้าที่รับซื้อไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน

โดยเห็นได้จากโรงไฟฟ้าเอสพีพี ของบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ จังหวัดชลบุรี ทั้ง 2 โครงการ โรงแรกมีกำลังการผลิต 168 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ประมาณ 90 เมกะวัตต์ จะหมดสัญญาปี 2562 และอีกโรงมีกำลังการผลิต 105 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าปริมาณ 90 เมกะวัตต์ จะหมดอายุสัญญาในปี 2565 แม้บริษัทจะเดินหน้าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าออกไปอีก 25 ปี แต่ก็ต้องปรับลดการลงทุนหรือลดกำลังการผลิตลงมาในระดับ 100-110 เมกะวัตต์ เท่านั้น หรือใช้เงินลงทุนราว 3-4 พันล้านบาทต่อแห่ง

ทั้งนี้ ผลกระทบที่ตามมา ทำให้บริษัท ต้องบอกเลิกสัญญาขายไฟฟ้ากับลูกค้าบางรายในนิคมอุตสาหกรรม ที่เป็นลูกค้าที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยให้ลูกค้าหันไปซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)แทน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มส่งทีมงานด้านการตลาดเข้าไปเจรจากับลูกค้าบางแล้ว ซึ่งกำลังการผลิตที่หายไป 20 เมกะวัตต์ เท่ากับต้องบอกเลิกสัญญาลูกค้าประมาณ 10 ราย หรือกำลังการผลิตที่หายไปกว่า 60 กระทบลูกค้าไม่ต่ำกว่า 30 ราย

"มติกพช.ทำให้เอสพีพีต้องปรับตัว บางรายก็ถอดใจ น่าจะหายไป 10 โครงการ เหลือเพียง 11 โครงการเท่านั้น คาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้ เอสพีพีแต่ละรายคงหารือภายในบอร์ดว่าจะตัดสินใจเดินต่อหรือไม่ เพราะหากต่อสัญญาก็ต้องปรับตัว ซึ่งเอสพีพีบางรายที่ตัดสินใจต่อสัญญา เพราะอยู่ในมาบตาพุดจึงมีความต้องการใช้ไอน้ำในกระบวนการผลิต ทำให้โรงไฟฟ้าพออยู่ได้ ส่วนลูกค้าที่ต้องหันไปใช้ไฟฟ้าของกฟภ.ก็จะมีภาระเพิ่มจากจะการลงทุนค่าสายส่งเอง"

นายไพทูร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มเอสพีพียังคงคาดหวังว่านโยบายของรัฐบาล จะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม จะทำให้รัฐให้ความสำคัญกับเอสพีพีเพิ่มขึ้น แต่ภายหลังจาก กพช. มีมติต่อสัญญาดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการเอสพีพีที่จะต่อสัญญาและก่อสร้างใหม่ ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ตามกำลังการผลิต ซึ่งหากในอนาคตรัฐต้องการให้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจะต้องทำไอไอเอใหม่ จะทำให้โครงการล่าช้าไม่ทันกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมไฟฟ้า เปิดเผยว่า สำหรับโรงไฟฟ้าเอสพีทีทีที่เข้าข่าย มีบ้างโครงการอาจจะไม่ดำเนินการต่อสัญญาใหม่ เช่น กลุ่มบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีโครงการที่จะหมดอายุตั้งแต่ปี 2564-2568 มีอยู่จำนวน 7 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 700 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจจะลงทุนต่อหรือไม่ เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,165 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559