กสอ.ดัน 8 ย่านแฟชั่นไทยสุดชิค! l สมชาย สกุลอือ

07 มิ.ย. 2559 | 11:16 น.
จากเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการเพิ่มมูลค่าสินค้าในอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ขยายตัวมากกว่า 1 ล้านล้านบาทภายในปี 2560 จึงมีนโยบายสนับสนุนผ่านการดำเนินงานพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวโดยเน้นไปที่ 4 สาขาเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับวัตถุดิบและ accessory แฟชั่น เพื่อให้เกิดการสร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายของย่านแฟชั่นที่มีอัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์เฉพาะ และรวบรวมข้อมูลด้านสินค้าและบริการ เพื่อนำไปเผยแพร่เครือข่ายธุรกิจย่านแฟชั่นให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของตลาด

จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย Thailand Fashion Cluster ซึ่งปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว ภายใต้แนวคิดการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายธุรกิจแฟชั่น ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีย่านแฟชั่นที่มีความสมบูรณ์แบบจำนวน 8 ย่าน ได้แก่ ย่านการค้าผ้าไหม ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ย่านการค้ามีนบุรี ย่านศูนย์การค้าเทอมินัล 21 ย่านตลาดนัดสวนจตุจักร  ย่านการค้าสำเพ็ง ย่านสยามสแควร์ ย่านคริสตัล วิรันด้า ย่านการค้าจังหวัดสกลนคร

โดยในแต่ละย่านมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน และมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ อาทิ ย่านคริสตัล วิรันด้า (ศูนย์การค้า เดอะคริสตัล ช้อปปิ้งมอลล์ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม) เป็นย่านที่มีความโดดเด่นด้วยแบรนด์แฟชั่นจากกลุ่มดีไซน์เนอร์ไทยที่สร้างผลงาน ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นลักซ์ชัวรี่แบรนด์ และย่านการค้าจังหวัดสกลนคร ที่เป็นย่านแฟชั่นผ้าคราม ซึ่งเป็นผ้าแห่งภูมิปัญญาไทยที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่ชัดเจนทั้งสีสันและรูปแบบ เป็นต้น

ต่อเรื่องนี้นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินงานของเครือข่ายย่านแฟชั่น มุ่งเน้นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เกิดเป็นเครือข่ายที่จะเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ โดยดึงเอาความโดดเด่นของแต่ละเครือข่ายที่มีความแตกต่างกันเชิงพื้นที่หรือย่านการค้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ รวมถึงการแสวงหาโอกาสร่วมกันโดยการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายในอุตสาหกรรมแฟชั่นในลักษณะผสมผสานสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ของสมาชิกในเครือข่ายและต่างเครือข่ายให้เกิดการผลิตในรูปแบบนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ด้วยการพัฒนาแบรนด์และอัตลักษณ์ของแบรนด์ และบูรณาการสร้างการรับรู้ในอัตลักษณ์แบรนด์ที่สังเคราะห์จากอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละเครือข่าย ตลอดจนสร้างความหลากหลาย (Variety) ทักษะทางด้านการออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมแฟชั่น สร้างสรรค์เป็นมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์แฟชั่นของตราสินค้าที่ประสบความสำเร็จและสร้างให้เครือข่ายของย่านการค้าเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของอุตสาหกรรมแฟชั่นเพื่อนำไปใช้ในการกำหนดการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นให้มีการสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนต่อไป