กำหนดนัดพิจารณาคดีที่น่าสนใจของศาลปกครอง( 30 พ.ค.3 มิ.ย.59)

27 พ.ค. 2559 | 09:28 น.
สำนักงานศาลปกครอง แจ้งกำหนดนัดพิจารณาคดีที่น่าสนใจของศาลปกครอง ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม – ๓ มิถุนายน ๒๕๕๙ ดังนี้

๑. วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๓๐ น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๙๓๔/๒๕๕๘ คดีหมายเลขแดงที่ ๒๖๒๒/๒๕๕๘ ระหว่าง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ ๑ กับพวกรวม ๒๔ คน คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ฟ้องว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ ๑ กับพวก รวม ๒๔ คน ไม่ดำเนินการพิจารณาเรื่องสิทธิการใช้คลื่นความถี่ 900 MHZ กรณี บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่มาจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ กรมไปรษณีย์โทรเลข และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม แต่กลับจำกัดสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ 900 MHZ ให้สิ้นสุดการใช้งานพร้อมกับการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ให้บริการ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย)

สรุปคำพิพากษา/คำสั่ง : ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีได้บรรยายถึงความเดือดร้อนเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยตรงในฐานะที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และในฐานะผู้ครอบครองและใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มาแต่เดิมจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่จะดำเนินการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกประมูลในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ หาได้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดี แม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะมีฐานะเป็นสหภาพแรงงานของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็เป็นเพียงนิติสัมพันธ์ระหว่างกันตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ เท่านั้น โดยเฉพาะการเจรจาต่อรองกันในเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจทำให้ผลประโยชน์ของการเจรจาต่อรองของผู้ฟ้องคดีลดน้อยลง จากการที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไม่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ขององค์กร แต่ก็ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกประมูล ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการละเลยของนายจ้าง หรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจะทำให้องค์กรได้รับความเสียหายก็สามารถกระทำได้ โดยการร้องเรียนต่อผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ดังนั้น เมื่อการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา ๔๒วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒)

ณ ห้องพิจารณาคดี ๕  ชั้น ๓ อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

๒. วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๓๐ น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๖๓/๒๕๕๘ ระหว่าง บริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ ๑ กับพวกรวม ๓ คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง

(บริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน ฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งตามหนังสือ ลว. ๓๐ เม.ย. ๒๕๕๘ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการให้บริการโทรทัศน์ของช่องพีซ ทีวี (PEACE TV) และคำสั่งตามหนังสือ ลว. ๓๐ เม.ย. ๒๕๕๘ ระงับให้ บริษัท วีซายท์ เทเลคอม จำกัด ออกอากาศช่องรายการ (PEACE TV) ในฐานะเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย)

ณ ห้องพิจารณาคดี ๕  ชั้น ๓ อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

๓. วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลา ๐๙.๐๐ น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ส.๓๙/๒๕๕๗ ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ ๑ กับพวกรวม ๗๑ คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ ๑ กับพวกรวม ๔ คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ (ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานและให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตามกฎหมาย)

(สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ ๑ กับพวกรวม ๗๑ คน ฟ้องว่า อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ ๑ กับพวกรวม ๔ คน ได้ออกใบอนุญาต ให้โรงงานผลิตถ่านโค้กของบริษัท ไทยเจนเนอรัลไนซิโคล แอน โค้ก จำกัด ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนหรือชุมชนอย่างรุนแรงบริเวณจังหวัดระยอง โดยผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านโครงการดังกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีและหน่วยงานต่างๆ แล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติฯ ประกอบกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ กรณีจึงเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีเดือดร้อนเสียหาย)

ณ ห้องพิจารณาคดี ๒  ชั้น ๓ อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร