ลือสะพัดเชฟรอนถอนลงทุน จ่อทิ้งหุ้นแหล่งอาทิตย์16%

26 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
เชฟรอนส่งสัญญาณทยอยถอนลงทุนในไทย ลือสะพัดประกาศขายหุ้นในแหล่งอาทิตย์ 16 % ทิ้งให้กับพันธมิตร หลังประกาศขายหุ้น 28.3 % ในแหล่งยาดานา ที่เมียนมาแล้ว เหตุราคาน้ำมันตกต่ำ ตัดแหล่งที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลักทิ้ง เพื่อรักษาเงินสดในมือ พร้อมลดการสั่งแท่นขุดเจาะในอ่าวไทยลง 20 % ไม่มั่นใจแหล่งเอราวัณที่จะหมดอายุได้ต่อสัญญา

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากปัญหาราคาน้ำมันที่ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัท เชฟรอนฯ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการขาดทุนในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูงกว่าราคาผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายออกไป ทำให้บริษัท เชฟรอนฯทั่วโลก ดำเนินการรัดเข็มขัดโดยการปลดพนักงาน และทยอยขายหุ้นในแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมในภูมิภาคต่างๆ เพื่อลดต้นทุน

โดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งได้รับนโยบายมาจากบริษัทแม่ จึงได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยการปลดพนักงาน 20 %หรือประมาณ 800 คน ออกจากงานจากพนักงานที่มีอยู่มี 2.2 พันคน และพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมาคนไทยที่มีอยู่ประมาณ 1.7 พันคน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ทางบริษัท เชฟรอนฯ กำลังทยอยลดการลงทุนในประเทศแถบภูมิภาคนี้ลง ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมาบริษัทแม่ เชฟรอนได้ประกาศขายหุ้นจำนวน 28.3 % ที่ถืออยู่ในแหล่งก๊าซยาดานา ของเมียนมา รองจากบริษัท โททาลฯ ที่ถือหุ้นอยู่ 31.2 % ซึ่งป้อนก๊าซให้กับไทยประมาณ 117 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในราคา 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นการถอนตัวออกจากแหล่งที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลักของบริษัท และต้องการรักษาเงินสดอยู่ในมือไว้ หลังจากที่ประสบปัญหาขาดทุนจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ

อีกทั้งทราบว่า ขณะนี้ทางบริษัท เชฟรอนฯ กำลังที่จะประกาศขายหุ้นในแหล่งอาทิตย์ ที่ถืออยู่ราว 16 % ให้กับพันธมิตรที่สนใจ มีบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ราว 80 %ซึ่งอยู่ในอ่าวไทย ผลิตก๊าซในปริมาณ 253 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งน่าจะมีเหตุผลเดียวกับการประกาศขายหุ้นในแหล่งก๊าซยาดานา ประกอบกับอายุสัญญาซื้อขายก๊าซก็เหลือเพียง 9 ปี และการประกาศขายแหล่งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการจัดอับดับ(Ranking) ของบริษัทน้ำมันทั่วโลกด้วย ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมของไทยอาจเหลือไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตรายอื่น

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัท เชฟรอนฯดำเนินธุรกิจในไทย มีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม 35 แหล่ง ได้แก่ เอราวัณ ,บรรพต ,บรรพตใต้ ,สตูล ,ปลาทอง ,ปลาทองตะวันตกเฉียงใต้ ,ปลาทองใต้ ,กะพง ,ปลาแดง ,ฟูนาน ,โกมินทร์ ,โกมินทร์ใต้ ,จามจุรีเหนือ ,จักรวาล ,สุราษฎร์ ,ปลาหมึก ,ตราด ,ตราดใต้ ,สุรินทร์ ,ยะลา ,ไพลิน ,ไพลินเหนือ ,ทานตะวัน ,เบญจมาศ ,เบญจมาศเหนือ ,มะลิวัลย์ ,ราชพฤกษ์ ,ลันตา ,ชบา ,ดารา ,กุ้งเหนือ ,ยูงทอง ,ปะการัง ,ปะการังใต้ และมรกต นอกจากนี้ยังถือหุ้นในแปลงอาทิตย์ 16% แปลงหมายเลข 14A ,15A ,16A รวมกำลังการผลิตปัจจุบัน แบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติ 1.84 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 6.2 หมื่นบาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ 7.2 หมื่นบาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้เชฟรอน ยังมีแท่นโครงสร้าง 308 แท่น แบ่งเป็น แท่นหลุมผลิต 275 แท่น ,แท่นผลิตคู่ 4 แท่น , แท่นผลิตกลางก๊าซ 6 แท่น ,แท่นผลิตกลางน้ำมัน 3 แท่น ,แท่นที่อยู่อาศัย 8 แท่น ,แท่นเผาก๊าซ 9 แท่น ,แท่นกำจัดสารปรอท 1 แท่น , แท่นผลิตกลางก๊าซและแท่นที่อยู่อาศัย 1 แท่น และแท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดันก๊าซ 1 แท่น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนปีนี้ ทางบริษัท เชฟรอนฯ จะต้องทำการส่งแผนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2560-2564) ให้กับทางกรมพิจารณา ซึ่งจะทำให้ทราบถึงแผนการลงทุนว่าจะมีการปรับตัวลดลงอย่างไร หลังจากปีที่ผ่านเชฟรอนได้สั่งลดแท่นในอ่าวไทย ที่จะต้องผลิตในปีนี้ลงราว 20 %หรือเหลือเพียง 3 แท่น จากปกติจะใช้ประมาณ 15 แท่น ขณะที่ปีนี้เองยังไม่มีการสั่งผลิตแท่นแต่อย่างใด

แหล่งข่าววงการอุตสาหกรรมน้ำมันให้ความเห็นว่า สำหรับการลดค่าใช้จ่ายของเชฟรอนในไทย ปีนี้น่าจะอยู่ราว340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะใช้สำหรับลดค่าใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ ได้แก่ 1.การปรับลดสัญญาในด้านสเปกทางเทคนิคลงมา 2.การลดการสั่งผลิตแท่นผลิต จะใช้เท่าที่จำเป็น 3.การปรับปรุงหรือลดการส่งกำลังบำรุง ใช้เรือให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และใช้ในระดับเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสม 4.การปรับปรุงด้านการซ่อมบำรุงให้มีความรัดกุมและเหมาะสมกับความต้องการ 5.การลดสินค้าหรือวัสดุคงคลังให้เหลือต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ 6.การใช้หลุมผลิตปิโตรเลียมให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

โดยเฉพาะในส่วนของการลดสั่งผลิตแท่นขุดเจาะและแท่นผลิต ถือเป็นสัญญาณที่สำคัญให้เห็นว่าเชฟรอนเริ่มที่จะหยุดการลงทุนในไทย เนื่องจากแหล่งก๊าซเอราวัณ ผลิตก๊าซราว 206 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2565 ยังไม่เห็นความชัดเจนจากรัฐบาล ว่าเชฟรอนจะได้รับการต่อสัญญาหรือไม่ เมื่อมาประเมินกับปริมาณปิโตรเลียมที่มีอยู่ ประกอบกับระยะเวลาที่เหลือเพียง 5-6 ปี และราคาน้ำมันที่ยังมีราคาต่ำอยู่ หากจะลงทุนต่อ ผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนที่เกิดขึ้น

ในขณะที่การจะประกาศขายหุ้นในแหล่งอาทิตย์หรือไม่นั้น จะต้องรอดูความชัดเจนในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่จะต้องมีการสั่งผลิตแท่นขุดเจาะในแต่ละปีว่า ทางปตท.สผ.จะมีการสั่งผลิตแท่นขุดเจาะเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากไม่มีการสั่งผลิตก็แสดงว่าเป็นช่วงที่มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นในแหล่งอาทิตย์ใหม่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณการทยอยถอนการลงทุนออกจากไทยไป จากกรณีที่ได้มีการยกเลิกโครงการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร เพื่อพัฒนากิจการปิโตรเลียมในประเทศไทย ในการอุปถัมภ์ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาวิศวกรรมปิโตรเลียม ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจะไม่รับเข้าทำงานอีกต่อไป และแจ้งให้นักศึกษาที่เรียนในภาควิชาวิศวกรปิโตรเลียม ให้เปลี่ยนโอนไปเรียนในสาขาอื่น เพื่อความปลอดภัยในอาชีพในอนาคต เป็นต้น

ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ติดต่อไปยังบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เพื่อยืนยันความชัดเจนในการประกาศขายหุ้นในแหล่งอาทิตย์ แต่ทางเชฟรอนยังไม่มีคำตอบให้ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนจากทางบริษัทแม่ก่อน

ส่วนความคืบหน้าในการเลิกจ้างพนักงานนั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพนักงานของเชฟรอนได้รวมตัวกัน ยื่นหนังสือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจากับนายจ้าง ถึงข้อเรียกร้อง การจ่ายค่าชดเชยมีความเป็นธรรมหรือไม่ เมื่อเทียบเคียงกับธุรกิจอื่นๆ โดยคาดว่าการหารือจะมีความคืบหน้าภายในสัปดาห์นี้

อนึ่ง ปัจจุบันมีผู้ที่ได้สัมปทานปิโตรเลียม ที่ดำเนินการขุดเจาะสำรวจและผลิตของไทย มีจำนวน 27 ราย เช่น บริษัท เชฟรอนฯ, ปตท.สผ ,บริษัท อพิโก แอลแอลซีฯ ,บริษัท เอ็กซอนโมบิลฯ, บริษัท มิตซุยออยล์ฯ, บริษัท พลังโสภณฯ ,บริษัท โททาล อี แอนด์ พีไทยแลนด์ฯ และบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ฯ เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559