โอเคช็อปปิ้งลุยตลาดอาเซียน ผุดสาขา/300แบรนด์ไทยลุย

26 พ.ค. 2559 | 14:00 น.
“โอเค ช็อปปิ้ง” กางแผน 3 ปี ปูพรมขยายสาขา 10 ประเทศในอาเซียนอย่างน้อย 30 แห่ง ฉวยจังหวะเปิดเออีซีและมีลูกค้ากว่า 620 ล้านคน หวังนำแบรนด์ไทยกว่า 300 แบรนด์ร่วมลุย พร้อมหาโมเดลขายแฟรนไชส์ควบคู่ลงทุนเอง มั่นใจเติบโตต่อเนื่อง คาดสิ้นปีโต 300%

นางสาววัชรียา รงค์เดชประทีป กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเค ช็อปปิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้บริหารร้านจำหน่ายสินค้าสุขภาพและความงาม แบรนด์โอเค ช็อปปิ้ง (OK Shopping) เปิดเผยถึงแผนธุรกิจภายในระยะ 3 ปีว่าจะทำการขยายตลาดเข้าสู่ทุกประเทศของภูมิภาคอาเซียน เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าสุขภาพและความงาม ซึ่งตั้งเป้าหมายเบื้องต้นจะมีจำนวนสาขารวมไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง ทั้งในรูปแบบการลงทุนโดยบริษัทและการขายแฟรนไชส์ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และรายละเอียดในการเข้าไปทำธุรกิจ

“ขณะนี้บริษัท บารามีซี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากำลังศึกษารายละเอียดต่างๆ เพื่อวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงวางแนวทางการขายแฟรนไชส์ ที่จะต้องศึกษาข้อกฎหมาย การวางระบบ และความพร้อมด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีสาขาแล้ว 9 แห่ง ในไทย 4 แห่ง สปป.ลาว 3 แห่ง และเมียนมา 2 แห่ง ปีนี้จะขยายเพิ่มอีก 3-6 แห่ง ในประเทศเวียดนาม กัมพูชา และอาจจะเป็นประเทศเดิมที่มีสาขาแล้ว รวมถึงอาจจะขยายต่อไปในประเทศอินโดนีเซียด้วย”

สำหรับปีนี้บริษัทเตรียมงบประมาณการลงทุนไว้ 15 ล้านบาท เป็นงบการลงทุนขยายสาขา 10 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณการลงทุนในประเทศไทยจะใช้ประมาณ 3-5 ล้านบาทต่อสาขา หากเป็นการลงทุนในต่างประเทศจะใช้ประมาณ 1.5-2 ล้านบาทต่อสาขา โดยวางเป้าหมายจำนวนสาขาประเทศต่างๆ ในอาเซียนสัดส่วน 80% และตลาดในประเทศไทย 20% สาเหตุที่เน้นตลาดอาเซียน เนื่องจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะมีส่วนผลักดันให้การทำธุรกิจระหว่างกันสะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงมีจำนวนประชากรรวมกันแล้วมากกว่า 620 ล้านคนด้วย

สำหรับตลาดสุขภาพและความงามในอาเซียนมีมูลค่ามากถึง 5 แสนล้านบาท ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจหรือจีดีพีมีมูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 54 ล้านล้านบาท ประกอบกับกลุ่มผู้บริโภคในอาเซียนชื่นชอบสินค้าแบรนด์ไทย ถือเป็นโอกาสทางการตลาดที่จะสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากปีที่ผ่านมายอดขายเติบโตถึง 200% และปีนี้ตั้งเป้าการเติบโต 300% จากจำนวนแบรนด์สินค้าของคนไทยที่ขายอยู่ปัจจุบันกว่า 200 แบรนด์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 100 แบรนด์เป็น 300 แบรนด์ภายในสิ้นปีนี้

“ตลาดในอาเซียนโดยเฉพาะสปป.ลาวและเมียนมา ยังเหมือนกับตลาดในไทยเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้การทำตลาดของบริษัทได้รับความสนใจ รวมถึงสื่อโฆษณาไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์และออฟไลน์ ยังมีราคาที่ต่ำกว่าสื่อโฆษณาในประเทศไทย ทำให้แบรนด์สินค้าของไทยสนใจไปทำตลาดในอาเซียนจำนวนมาก ประกอบกับบริษัทให้บริการแบบครบวงจร ทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีทั้งออนไลน์ ร้านค้า ดีลิเวอรี และอยู่ระหว่างขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ของแต่ละประเทศเพื่อขายผ่านรายการโทรทัศน์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีบริการให้คำปรึกษาตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาสินค้า ออกแบบผลิตภัณฑ์ การวางแผนสื่อ และการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้วย” นางสาววัชรียา กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559