27 พ.ค.ปิดฉากคลื่น 900 ‘เอไอเอส’ไม่ต้องลุ้น

26 พ.ค. 2559 | 10:00 น.
27 พ.ค.นี้ เอดับบลิวเอ็น หรือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสเน็ตเวิรค์ จำกัดในเครือ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) ไม่ต้องรอลุ้นประมูลคลื่นความถี่ 900 ชุดที่ 1 ในย่านความถี่ ช่วงความถี่วิทยุ 895-905 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 940-950 เมกะเฮิรตซ์ ให้เสียเวลา
เป็นเพราะ 2 ค่ายมือถือ คือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด ประกาศถอนตัวไม่ร่วมประมูลคลื่นเจ้าปัญหา

แจส"ถอนตัววงการมือถือป่วน

หลัง บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ทิ้งใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 ชุดที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา โดย กสทช. ริบเงินประกันค่าประมูลคลื่นความถี่ เป็นจำนวนเงิน 644 ล้านบาท
ช่วงเวลานั้นเรียกได้ว่าวงการอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ปั่นป่วนกันเลยทีเดียว ทั้ง บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแขวนเครื่องหมาย SP หุ้น แจส

“ทรู” ให้ใช้คลื่นฟรี 3 เดือน แต่ “เอไอเอส” ปฏิเสธ

หากจำกันได้ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้มาชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรกร่วม งวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นจำนวน 8,602.8 ล้านบาท) พร้อมด้วยการนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน หรือ แบงก์การันตี วงเงินจำนวน 73,036.1 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) มาชำระตามเงื่อนไขการประมูล

ไม่เพียงเท่านี้ "ศุภชัย" ได้ยื่นข้อเสนอให้ เอไอเอส ใช้คลื่นความถี่ 900 ได้ฟรีเป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่สุดท้าย "เอไอเอส" ไม่ยอมรับเงื่อนไข

"เอไอเอส" ขอสวมสิทธิ์คลื่น "แจส"

วันที่ 4 เมษายน เอดับบลิวเอ็น บริษัทลูกของ เอไอเอส ได้ยื่นหนังสือต่อ กสทช. เพื่อขอสวมสิทธิ์คลื่นความถี่ 900 ที่ แจสชนะประมูลโดยเสนอราคาที่ 75,654 ล้านบาท พร้อมชำระค่างวดจำนวน 4 งวดซึ่งในระหว่างนี้ เอไอเอส ขอให้ กสทช.พิจารณาให้ความคุ้มครอง หรือ กำหนดมาตรการใดๆ ที่ให้ลูกค้า 2 จี บนคลื่น 900 เดิม ซึ่งเป็นลูกค้าของ เอไอเอส ที่มีอยู่ในตอนนั้นจำนวน 400,000 เลขหมาย และที่ใช้บริการโรมมิ่ง (ใช้เครือข่ายร่วม) อีกราว 7.8 ล้านเลขหมาย สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดย กสทช.ต้องมีมาตรการก่อนวันที่ 5 เม.ย. เพื่อ เอไอเอส จะได้ไม่ต้องเริ่มโรมมิ่ง (ใช้เครือข่ายร่วม) กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค อันเป็น 1 ในแนวทางแก้ปัญหาไม่ให้ลูกค้าซิมดับ

ช่วงระหว่างที่ "เอไอเอส" ยื่นข้อเสนอให้กับ กสทช.เพื่อขอสวมสิทธิ์คลื่น แจส นั้นเป็นช่วงไล่เลี่ยที่ เอไอเอส ได้ยื่นศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองถึงเที่ยงคืนของวันที่ 14 เมษายน

สกัด "ทรู" ไม่ให้ร่วมประมูล

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อพิจารณาเงื่อนไขการจัดประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ใหม่ของ กทค. โดยบอร์ด กสทช.มีมติ 5: 3 เสียงไม่ให้ทรูมูฟ เอช เข้าร่วมประมูล หวั่น ทรูมูฟ เอช จะผูกขาดตลาดมากจนเกินไป

เปิดทางทุกรายร่วมประมูล

แต่ปรากฏว่าหลัง กสทช.นำเรื่องเงื่อนไขต่าง ๆ เสนอให้กับ คสช.พิจารณาพร้อมกับให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตีด้านกฎหมายเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ สุดท้ายแล้ววันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.,พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. และ รองประธาน กสทช. และ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เข้าพบรองนายกฯวิษณุ เครืองาม พร้อมกับชี้แจงว่า กสทช. ได้เสนอทางออก 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ให้เปิดประมูลใหม่อีกครั้งตามกรอบและขั้นตอนระยะเวลาตามเดิม 2. ให้ เอไอเอส รับซื้อใบอนุญาตคลื่น 900 จาก แจส ตามที่ได้ยื่นข้อเสนอมาในราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 75,654 ล้านบาท และ ทางเลือกสุดท้ายคือ เปิดประมูลแต่ขั้นตอนให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยเปิดให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้าร่วมประมูลได้ แต่ยกเว้น บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ฯ ในเครือ แจส และ ที่ประชุมเปิดประมูลใหม่แต่ลดขั้นตอนให้มีความรวดเร็วขึ้น

คสช.ออกม.44 สั่งประมูลใหม่

ในที่สุดช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหหน้า คสช. ออกมาใช้มาตรา 44 ขยายเวลาซิมดับลูกค้าเอไอเอส 2จี ถึงวันที่ 30 มิถุนายนพร้อมประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่วันที่ 27 พฤษภาคม และ ไม่ให้ แจส โมบาย เข้าร่วมประมูล พร้อมกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลที่ 75,654 ล้านบาท

หากแต่ช่วงที่ กสทช.ออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจประมูลคลื่น 900 ครั้งใหม่มีผู้สนใจเพียง 2 ราย คือ เอดับบลิวเอ็น และ ทรูมูฟ เอช ส่วน ดีแทค ไตรเน็ต ประกาศถอนตัวก่อนรายแรกเพราะสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่หมดอายุในปี 2561

จนถึงวินาทีสุดท้าย ทรูมูฟ เอช ก็ออกมาขอถอนตัวไม่รวมประมูลอีกรายดังนั้นวันที่ 27 พฤษภาคมนี้เป็นการปิดฉากคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ โดย เอไอเอส ไร้ซึ่งคู่แข่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559