บิ๊กรับเหมาเฮแบ่งเค้กลงตัว สร้างมอเตอร์เวย์เส้นพัทยา-มาบตาพุด 13 สัญญา

24 พ.ค. 2559 | 00:00 น.
บิ๊กรับเหมาพาเหรดแบ่งเค้ก 13 สัญญามอเตอร์เวย์เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด ช.การช่าง-สี่แสงการโยธา-เนาวรัตน์-แพร่วิศวกรรม-วิจิตรภัณฑ์-ประยูรวิศว์มากันเพียบ ส่วนเส้นทางบางปะอิน - นครราชสีมา ทล.เร่งนำเสนอครม.ไฟเขียวเซ็นสัญญาอิตาเลียนไทย จากทั้งสิ้น 20 ตอน/สัญญา ล่าสุดประกาศประกวดราคาแล้ว 11 สัญญา ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี ประกาศประกวดราคาแล้ว 6 ตอน/สัญญาจากทั้งสิ้น 9 ตอน/สัญญา

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากที่ได้ประกาศประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด ครบทั้ง 13 สัญญาไปแล้วนั้นขณะนี้ได้ตัวผู้รับจ้างครบทั้ง 13 สัญญา/ตอนเรียบร้อยแล้ว ประกอบไปด้วย ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร ราคา 738 ล้านบาทโดยบริษัท ชัยนันท์ วัสดุก่อสร้าง(2524) จำกัด ตอนที่ 2 ระยะทาง 1.4 กิโลเมตร ราคา 782 ล้านบาท โดย บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน) ตอนที่ 3 ระยะทาง 3.9 กิโลเมตร ราคา 671 ล้านบาท โดยบริษัท ทิพากร จำกัด ตอนที่ 4 ระยะทาง 3 กิโลเมตร ราคา 615 ล้านบาท โดยหจก.แพร่วิศวกรรม

ตอนที่ 5 ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ราคา 778 ล้านบาท โดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) ตอนที่ 6 ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ราคา 883 ล้านบาท โดยบริษัท เอส.เค.วาย คอนสตรัคชั่น วิศวกรรมฯ ตอนที่ 7 ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร ราคา 686 ล้านบาท โดยบริษัท สี่แสงการโยธาฯ ตอนที่ 8 ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร ราคา 701 ล้านบาท โดยบริษัท วนิชชัยก่อสร้าง (1979) จำกัด ตอนที่ 9 ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ราคา 793 ล้านบาท โดยบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ตอนที่ 10 ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ราคา 886 ล้านบาท โดยบริษัท กรุงธน เอนยิเนียร์ จำกัด ตอนที่ 11 ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ราคา 899 ล้านบาท โดยบริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด ตอนที่ 12 ระยะทาง 3.1 กิโลเมตร ราคา 701 ล้านบาท โดยหจก. นภาก่อสร้าง และตอนที่ 13 ระยะทาง 3.7 กิโลเมตร ราคา 635 ล้านบาท โดยหจก.นภาก่อสร้าง

"โครงการนี้มูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้เหลือเพียงอีก 2 สัญญาคือสัญญาที่ 10 และสัญญาที่ 11 ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เห็นชอบรับราคาเรียบร้อยแล้ว โดยทล.อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารสัญญา คาดว่าจะสามารถลงนามเซ็นสัญญาได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้"

ด้านนายกมล หมั่นทำ รองอธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) กล่าวถึงความคืบหน้าเส้นทางบางปะอิน - นครราชสีมาว่า ได้รับการยืนยันตอบรับราคามาแล้ว 1 ตอนจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้มีการเซ็นสัญญาต่อไป จากเดิมที่กำหนดไว้จำนวน 20 ตอน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 8.4 หมื่นล้านบาท

"ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการเร่งประกาศประกวดราคา บางตอนอยู่ระหว่างการคิดราคากลางเช่นเดียวกับบางตอนออกประกาศไปแล้ว โดยคิดราคากลางและออกประกาศประกวดราคาไปแล้วจำนวน 11 สัญญา คงเหลืออีก 9 ตอน เช่นเดียวกับช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี จำนวน 9 ตอน มูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้านบาทนั้นขณะนี้ออกประกาศประกวดราคาไปได้แล้ว 6 ตอน ส่วนอีก 3 ตอนที่เหลืออยู่ระหว่างการคิดราคากลางและเร่งออกประกวดราคาต่อไป"

นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภาครัฐต้องจับตาว่าเมื่อเร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่ออกมาจำนวนมากแล้วต้องอย่ามองข้ามปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย อาทิ วัสดุขาดแคลนหรือปรับราคาเพิ่ม แรงงานในท้องถิ่นขาดแคลน ไม่เพียงพอ เครื่องมือต่างๆที่จะนำไปใช้ในการทำงานปรับราคาเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นราคารถบรรทุกต่างๆที่จะนำไปขนอิฐ หิน ดิน ทราย รัฐต้องสามารถควบคุมในบางสิ่งบางอย่างเหล่านี้ได้เพื่อไม่ให้ต้นทุนโครงการเพิ่มขึ้น และจะนำไปสู่การปรับค่าเค(K)หรือต้นทุนของโครงการที่จะนำไปสู่ความล่าช้าของงานได้อีกด้วย

ประการสำคัญกลุ่มผู้รับเหมาเหล่านี้ยังสามารถจะเข้าไปรับงานในอีก 2 เส้นทางที่เร่งประกาศประกวดราคาจำเป็นต้องหาแรงงานและวัสดุอุปกรณ์เข้ามาเสริมการทำงานอีกมาก ซึ่งสมาคมอยู่ระหว่างการติดตามความเคลื่อนไหวในปัญหาต่างๆเพื่อนำเสนอรัฐบาลให้ความช่วยเหลือต่อไป เนื่องจากขณะนี้มีสัญญาณออกมาแล้วว่าเหล็กขาดแคลนและเริ่มที่จะมีการปรับราคาเพิ่มบ้างแล้วในบางกลุ่มนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559