ท่องเที่ยวกระฉูดกินแชร์16%จีดีพีประเทศ

23 พ.ค. 2559 | 05:48 น.

image แนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย ไตรมาส 2 ปี 2559
“นักท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่องทุกตลาด”
“การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโอกาสที่พลาดไม่ได้”


นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในการแถลงข่าว รายงานภาวะเศรษฐกิจท่องเที่ยว ฉบับที่ 3 ในส่วนของสรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาสที่ 1 และแนวโน้ม ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยว ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 680 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.0 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการนักท่องเที่ยวต่างชาติ 464 พันล้านบาท และรายได้จากการนักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวภายในประเทศ 216 และเมื่อเปรียบเทียบกับจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า ขยายตัวร้อยละ 20.1 และ 7.1 ตามลำดับ
แนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยว ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 560
พันล้านบาท เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 355 พันล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศของชาวไทย 205 พันล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
แนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 7.46 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ 355 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีสถานการณ์ที่น่าสนใจ คือ นักท่องเที่ยวจีนยังคงตลาดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดและขยายตัวในอัตราที่ชะลง ตามทิศทางการขยายตัวที่ลดลงของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกไปต่างประเทศ และคาดว่าตลอดทั้งไตรมาสที่ 2 จะมีนักท่องเที่ยวจีนจำนวน 2.18 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 9.3 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป
ที่ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวเกือบทุกตลาด และคาดว่าตลอดทั้ง
ไตรมาสที่ 2 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 1.01 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันของปี
ที่ผ่านมา สำหรับนักท่องเที่ยวอาเซียน มีจำนวน 2.18 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
แนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศ ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 การท่องเที่ยวภายในประเทศของชาวไทยมีจำนวน 36 ล้านคน-ครั้ง ขยายตัวร้อยละ 4 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และสร้างรายได้แก่ประเทศ 205 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.5จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีสถานการณ์ที่น่าสนใจ ดังนี้
o การท่องเที่ยวใน 7 เมืองหลัก (กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และสงขลา) สร้างรายได้ 133 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.1 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
o การท่องเที่ยวใน 12 เมือง ต้องห้าม...พลาด + พลัส (24 เมือง) สร้างรายได้ 33 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยรายได้จาก 12 เมือง ต้องห้าม...พลาด 18.57พันล้าน การท่องเที่ยวใน 12 เมือง ต้องห้าม...พลาด พลัส 14.37 พันล้าน
นอกจากนี้ จากที่กล่าวมาข้างต้นในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งสิ้น 1,240 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51 ของเป้าหมายรายได้ในปี 2559 (2,400 พันล้านบาท) และคาดว่าตลอดทั้งปี 2559 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 32 ล้านคน
สำหรับประเด็นด้านการท่องเที่ยวที่ควรคำนึงถึงในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 แบ่งออกเป็น ด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น กระแสการท่องเที่ยว“12 เมืองต้องห้าม...พลาด + พลัส” การเพิ่มวันหยุดพิเศษต่อเนื่อง สมดุลการพัฒนาและการอนุรักษ์ Tourism Gateway กลยุทธ์การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Cluster) Amazing Thai Taste ผลกระทบจากภัยแล้งและความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เช่น นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอการเติบโต น้ำมันโลกขาลง กระตุ้นการเดินทางระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศของโลก นักท่องเที่ยวยุโรปเติบโตต่อเนื่อง เป็นต้น

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวต่อถึงแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่ม และการเชื่อมโยงการพัฒนาสู่ระดับชุมชน โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

รูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) เป็นการเดินทางมาเพื่อการรักษาพยาบาล เป็นหลัก และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เป็นการใช้บริการเชิงสุขภาพเพื่อฟื้นฟู และบำรุงสุขภาพ
สถานการณ์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ประเทศไทยมีผู้มาใช้บริการทางการแพทย์มากที่สุดในโลก ที่ผ่านมามีผู้เดินทางเพื่อใช้บริการทางการแพทย์ในต่างประเทศประมาณปีละ
7 – 8 ล้านคน ในจำนวนนี้มาใช้ในประเทศไทย 1.2 ล้านคน ซึ่งสูงที่สุดในโลก และก่อให้เกิดเม็ดเงินต่อระบบเศรษฐกิจ 1 แสนล้านบาท ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระดับภูมิภาคเอเชีย บริการที่ได้มาตรฐาน / การเอาใจใส่ดูแล เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย บุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ ได้รับการรับรองมาตรฐานระหว่างประเทศ และค่าใช้จ่ายในการให้บริการต่ำใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย

สถานการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในตลาดโลกมีมูลค่าประมาณ 1,604 พันล้านบาท ประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 285 พันล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก
โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ถึง สูง มีการศึกษาดี มีระยะเวลาพักนักนาน มีการใช้จ่ายสูง ทั้งกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และนักท่องเที่ยวภายในประเทศ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สามารถเชื่อมโยง เป็นกิจกรรมร่วมในการส่งเสริมนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ ได้

ภาพรวมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย สามารถสรุปได้ 6 ประเด็นสำคัญ คือ สปาเป็นบริการเชิงสุขภาพหลักของไทย ปัจจุบันมีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ได้รับรองมาตรฐานแล้ว 1,609 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสปา 509 แห่ง นวดเพื่อสุขภาพ 1,070 แห่ง และนวดเพื่อเสริมสวย 30 แห่ง สปา บริการเชิงสุขภาพระดับ High-end มีชื่อเสียงและสร้างมูลค่าเพิ่มสูงประเทศไทย มีDestination Spa และ Day Spa หลายแห่งที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลกและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นวดไทยทางเลือกของการบริการเชิงสุขภาพที่โดดเด่น นวดไทยเป็นภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยที่สามารถนวดเพื่อการรักษา และนวดเพื่อผ่อนคลาย จำนวนผู้ประกอบการด้านการแพทย์แผนไทย ซึ่งมีนวดไทยเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์แผนไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 49,864 ราย ในปี 2553 เป็น 58,681 ราย ในปี 2556 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7) การแพทย์แผนไทยเป็นทางเลือกในการการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ปัจจุบันการรักษาแบบแพทย์แผนทางเลือกได้รับความสำคัญมากขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่า ในปี 2558 มีผู้ประกอบการการแพทย์แผนทางเลือกจำนวน 7,739 ราย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีไทยคาดว่าจะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะสอดคล้องกับ Trend การท่องเที่ยวปัจจุบัน ที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวชุมชน บริการเชิงสุขภาพของไทยมีขนาดทางตลาดเล็กกว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ค่อนข้างมาก ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
ในประเทศไทยโตกว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพถึง 4 เท่า ขณที่ในตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกที่พบว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโตกว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ประมาณ 7.3 เท่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบกอบการด้านการแพทย์ของไทยส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่มีกำลังเงินทุนและมาตรฐานการบริการที่สูงจึงมีศักยภาพในการสางรายได้ที่ดี ขณะที่ผู้ประกอบการเชิงสุขภาพของไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีข้อจำกัดในการดำเนินกิจการ

ผลจากการวิเคราะห์ SWOT Analysis ของท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย พบว่า จุดแข็ง นวดแผนไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ Thainess มัดใจคนทั้งโลก มีความหลากหลายจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยผ่อนคลายและรักษาโรค โอกาส ตลาดท่องเที่ยวโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กระแสความสนใจในสุขภาพ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การได้รับการส่งเสริมโดยนโยบายของรัฐบาล จุดอ่อน สถานประกอบการส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และมีข้อจำกัดด้านมาตรฐาน มีบริการแอบแฝง ขาดการสนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐาน มีการแข่งขันด้านราคาสูง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพบริการ อุปสรรค มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและพัฒนาจำนวนมาก การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติขาดเอกภาพ การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก
บทบาทภาครัฐในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับต่าง ๆ เช่น ระดับประเทศ มีการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ปี 2559 – 2568 สำหรับระดับกระทรวง ในยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย ปี 2558 – 2560 ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้มุ่งสู่การเป็นหนึ่งในการเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของภูมิภาค
สำหรับประเด็นที่ควรให้ความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างครบวงจรทั้งด้านตลาดและการให้บริการ การพัฒนามาตรฐานการให้บริการ เพื่อยกระดับมาตรฐาน การกำหนดหลักเกณฑ์ด้านราคาและมาตรฐาน เพื่อลดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการจนมีผลต่อการรักษามาตรฐานการให้บริการและราคาการบริการ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในอาชีพการนวด เพื่อจูงใจให้เข้าสู่อาชีพนี้มากขึ้น ลดการขาดแคลนบุคลากร การพัฒนาบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของชุมชน
ที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัด และการเน้นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่ม การฝึกและประเมินความต้องการแรงงาน เพื่อให้การบริการได้มาตรฐาน รองรับการขยายตัวของลูกค้าที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การพัฒนาเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health City) โดยมีการบริการและโครงสร้างพื้นฐานที่ครบวงจร อาจพัฒนาร่วมกับการท่องเที่ยวในมิติอื่น เช่น Long stay การท่องเที่ยวเชิง นิเวศน์ เป็นต้น การส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น การสร้างศูนย์สมุนไพรเพื่อการท่องเที่ยว (สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยอง)
การสร้างศูนย์บริการเชิงสุขภาพเพื่อการท่องเที่ยว สร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับจังหวัดและภูมิภาค ที่ผนวกกับกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการเชิงสุขภาพ เช่น จัดทำเว็บไซด์กลางเพื่อบริการด้านสุขภาพของประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศ และต่างประเทศ เป็นต้น