BTS ลุ้นร.ฟ.ท.ทุ่มกว่า 5 หมื่นล. รถไฟฟ้าขนสินค้าขอนแก่น-แหลมฉบัง

23 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
บอร์ดร.ฟ.ท.ตีกลับผลศึกษาให้เอกชนร่วมลงทุนรถไฟขนส่งสินค้า ขอนแก่น-แหลมฉบัง กว่า 500 กม. คาดใช้งบไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้าน ใช้รถ 4 ขบวนต่อวัน ตั้งเป้าขนได้กว่า 3.8 ล้านตัน/ปี หลังกลุ่มทีพีไอ โพลีน นำร่องเจ้าแรกเสนอแผนจัดซื้อหัวรถจักร จำนวน 12 คันใช้ขนปูนซีเมนต์กระจายไปคลังไซโลและศูนย์จ่ายปูนซีเมนต์ทั่วประเทศ ล่าสุดเตรียมลงนามเอ็มโอยูกับกทท.เร่งขับเคลื่อนโครงการ ด้านบิ๊กบีทีเอสยังตามลุ้นจ้องลงทุนเดินรถเส้นทางนี้

นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาได้ส่งเรื่องการศึกษาวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ในการขนส่งสินค้าทางรถไฟทางคู่เส้นทาง ขอนแก่น-แหลมฉบัง ระยะทาง 516 กิโลเมตร โดยใช้รถระบบรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการในเส้นทางนี้คืนให้กับร.ฟ.ท.เพื่อให้กลับไปทบทวนข้อมูลต่างๆให้สอดคล้องกับปัจจุบัน อาทิ ปริมาณสินค้า และจำนวนขบวนรถที่จะนำไปใช้บริการ ตลอดจนกรอบวงเงินลงทุนและต้นทุนดำเนินโครงการให้ชัดเจน

"วัตถุประสงค์เพื่อประหยัดการลงทุนของภาครัฐจึงต้องนำเสนอเข้าสู่พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 โดยได้มีการศึกษารองรับไว้หลายรูปแบบแต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP)จะพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป โครงการดังกล่าวนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นอีกโครงการที่เปิดให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางภาคอีสาน โดยได้ส่งเรื่องคืนให้ร.ฟ.ท.ปรับปรุงข้อมูลให้ชัดเจน อาทิ ข้อมูลในการลงทุน ผลประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้รับรวมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ ความคุ้มค่าการลงทุน ฯลฯ เพื่อจะได้นำเสนอให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 ต่อไป"

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวนี้ไม่ได้ถือเป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนมาลงทุนแข่งขันขนส่งสินค้ากับร.ฟ.ท. แต่ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ประการสำคัญหากรัฐต้องลงทุนมหาศาลปัจจุบันนี้ภาครัฐยังไม่มีความพร้อมโดยเฉพาะหลายโครงการที่เกิดขึ้นพร้อมกันก็จะเกิดไม่ได้เนื่องจากปัจจัยการลงทุนจำนวนมหาศาลนั่นเอง

ดังนั้นจึงต้องเข้าสู่กระบวนการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนพีพีพี โดยอาจจะใช้เส้นทางร่วมกัน ส่วนการบริหารจัดการและควบคุมการเดินรถร.ฟ.ท.จะเป็นผู้ดำเนินการเอง เช่นเดียวกับกรณีที่ปตท.และปูนทีพีไอใช้บริการของร.ฟ.ท.ในปัจจุบัน

"ล่าสุดนั้นยังได้หารือร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)เพื่อร่วมกันขนส่งสินค้าป้อนให้กับท่าเรือแหลมฉบัง(ทฉบ.)ด้วยรถไฟเนื่องจากปัจจุบัน ทฉบ.สามารถรองรับสินค้าได้จำนวนมากจากกรณีการพัฒนาพื้นที่เฟสต่างๆ โดยจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู)ร่วมกันอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งร.ฟ.ท.เร่งเตรียมหัวรถจักรและแคร่ให้พร้อมใช้ขนส่งสินค้าป้อนให้กับท่าเรือแหลมฉบัง และจะส่งเสริมให้มีการขนส่งสินค้าผ่านทางระบบรถไฟให้มากขึ้นเพื่อลดความแออัดในเขตพื้นที่แหลมฉบังนั่นเอง"

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 ก่อนที่จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณาที่คาดว่าจะต้องมีการหารือในรายละเอียดต่างๆอีกมากซึ่งบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ถือเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของประเทศที่สามารถจัดซื้อหัวรถจักรมาใช้ในกิจการของบริษัทฯ จำนวนทั้งสิ้น 12 หัว และจัดทีมงานทำหน้าที่ซ่อมบำรุงรักษาหัวรถจักร เป็นลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้าปูนซีเมนต์ทางรถไฟมายาวนานกว่า 20 ปี และได้ลงทุนจัดหารถแคร่บรรทุกปูนซีเมนต์จำนวน 490 คัน พร้อมการซ่อมบำรุงรักษาเองมาใช้ในการขนส่งสินค้าจากโรงงานปูนซีเมนต์ที่สถานีหินลับ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ไปยังคลัง/ไซโล และศูนย์จ่ายต่าง ๆ ในเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ คาดว่าจะขนส่งได้ประมาณปีละ 3 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ปีละกว่า 220 ล้านบาท และยังมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการขนส่งทางรถไฟจากปัจจุบัน 7% เป็น 20% ของกำลังการผลิตของบริษัทฯ ในอนาคต นอกจากนี้ยังได้เช่าที่ดินของร.ฟ.ท.ก่อสร้างคลัง/ไซโลและศูนย์จ่ายของบริษัทฯ รองรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟ สร้างรายได้ให้กับร.ฟ.ท.ปีละกว่า 150 ล้านบาท

"โดยตามแผนจะนำรถจักรมาใช้ในการขนส่งสินค้าเองบนเส้นทางของร.ฟ.ท.ก็จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือ ร.ฟ.ท.ได้ผลกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันทีพีไอก็จะได้เพิ่มบริการขนส่งสินค้าประเภทต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และถือเป็นการเริ่มต้นนำร่องโครงการฯ อันจะนำไปสู่การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ดี"

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าบีทีเอสจุดประกายเรื่องการลงทุนของภาคเอกชนด้านการขนส่งสินค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือเส้นทางนี้มีความเป็นไปได้มากในการลงทุน อีกทั้งร.ฟ.ท.ก่อสร้างมาแล้วหลายช่วง ประการสำคัญจากที่ได้สอบถามผู้ประกอบการผลิตสินค้าหลายรายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือล้วนแสดงความสนใจ ซึ่งเส้นทางนี้ภาครัฐควรลงทุนงานด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเอกชนสามารถลงทุนให้ก่อนแล้วภาครัฐชดเชยให้ในภายหลัง แต่อย่างไรก็ตามขอรอดูรายละเอียดที่ชัดเจนจากภาครัฐก่อนตัดสินใจอีกครั้ง

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางขอนแก่น-ท่าเรือแหลมฉบัง พบว่ามีกรอบวงเงินลงทุนทั้งโครงการคาดว่าไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท ระยะทางรวมประมาณ 516 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถก่อสร้างและเปิดให้บริการในปี 2565 ออกแบบให้ใช้งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลระบบจ่ายไฟฟ้าผ่านบนหลังคารถแบบเดียวกับรถไฟฟ้าของมาเลเซีย เบื้องต้นจะใช้ 4 ขบวนรถให้บริการโดยขนสินค้าได้กว่า 3.8 ล้านตัน/ในปี 2565 มีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ 15.62%

โดยเตรียมเสนอแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุน 5 แนวทางวิเคราะห์ดังนี้คือ 1.เอกชนลงทุนในอู่จอดและซ่อมบำรุง ส่วนภาครัฐลงทุนงานทาง ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2.รูปแบบ Net Cost Concession จะก่อให้เกิดต้นทุนดำเนินการของภาครัฐน้อยที่สุด 3.ระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุน 60 ปี จะให้ประโยชน์ต่อร.ฟ.ท.ในระยะยาวและสามารถดึงดูดภาคเอกชนให้มาลงทุนได้ 4.ร.ฟ.ท.ไม่มีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับการลงทุน การลงทุนต้องใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้หรืองบประมาณรัฐบาลเท่านั้น และ 5.กระแสเงินสดจากส่วนแบ่งรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ของร.ฟ.ท. โดยร.ฟ.ท.สามารถรับภาระลงทุนไม่เกิน 70% ของเงินลงทุนระบบไฟฟ้าและเครื่องกล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559