วิษณุเปิดปูมร่างรัฐธรรมนูญ'มีชัย’ ตอกย้ำ‘หน้าที่’มาก่อนอำนาจ

23 พ.ค. 2559 | 06:00 น.
เชื่อว่า หลายคนที่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับล่าสุด ซึ่งกำลังจะทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะสังเกตเห็นถึง "ความต่าง" หลายประการ เมื่อเปรียบเทียบกับ รธน.ที่ผ่านมาหลายฉบับ มีหลายประการที่ต้องทำความเข้าใจ รวมถึงคำว่า "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งกระจายอยู่ในมาตราต่างๆ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจไม่น้อย

ช่วงหนึ่งของการบรรยายหัวข้อ "ผู้ตรวจการแผ่นดินและองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ: การเปลี่ยนผ่านภารกิจตามรธน.ฉบับใหม่ โดย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ได้เล่าเบื้องหลังของการร่าง รธน. ฉบับนายมีชัย (ฤชุพันธุ์) ให้ฟังว่า...

ร่างรธน.ฉบับนี้ไม่ได้ใช้คำว่า "อำนาจหน้าที่" แต่ใช้คำว่า "หน้าที่และอำนาจ" ทุกคำ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย !!!!

ผมเคยประชุมกับอาจารย์มีชัย หลายครั้ง ในการร่างกฎหมายต่างๆ ในเรื่องของการกำหนดอำนาจหน้าที่ อาทิ คณะกรรมการชุดนั้น มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1, 2, 3, 4... เขียนเป็นข้อๆไล่เรียงกันไป ถือเป็นแบบฟอร์มในการร่างกฎหมายที่ผ่านมา

"เคยคุยกันถึงเรื่องนี้ว่า "อำนาจ" อย่างเดียวไม่พอ ต้องมี "หน้าที่" ด้วย อำนาจ เหมือน สิทธิ อย่างไรก็ดี สิ่งที่เรียกว่า สิทธิ นั้น ถ้ามีอยู่ก็ทำได้ แต่ถ้ามีอำนาจ กำหนดให้ "ต้องทำ" ลักษณะหน้าที่จะเป็นการบังคับ ให้มีอำนาจ เพราะฉะนั้น กฎหมายจึงเขียนลักษณะนี้มาตลอด คือ อำนาจหน้าที่"

ภายหลังเริ่มสังเกตเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ กรรมการ หรือส่วนราชการ มักจะให้ความสำคัญกับคำว่า "อำนาจ" จนบางครั้งได้ละเลย "หน้าที่ที่จะต้องทำ" ใช้แอบอ้าง ดังนั้น เมื่อต้องการจะให้เขาตระหนัก สังวรณ์ อยากให้เขารู้สึกว่า มีหน้าที่ก่อนจึงจะมีอำนาจ

"เวลาเขียนกฎหมายก็พยายามที่จะเขียนว่า ให้คณะกรรมการชุดนี้ ให้องค์กรนั้น มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ ทั้งผม และอาจารย์มีชัย ซึ่งนั่งในคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อมีกฎหมายฉบับใดเข้ามา จึงพยายามแก้ให้เป็นเช่นนี้ แต่โหวตครั้งใดก็แพ้ทุกที เพราะคณะกรรมการเคยชินแบบเดิม"

อาจารย์มีชัย เลยอาฆาตไว้ว่า ..วันไหนมีโอกาสจะเอาสักที แล้ววันนี้โอกาสก็มาถึง เมื่อเข้ามาเป็น "ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" (กรธ.) จึงได้เริ่ม ทุกมาตราใช้คำว่า "หน้าที่ของรัฐ" ไม่มีตรงไหนพูดว่า "อำนาจ" ก่อน แต่เริ่มด้วยคำว่า "หน้าที่"

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ และเรื่องใหญ่ที่ต้องทำความเข้าใจกัน ให้รู้ว่า ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ ตำรวจมีหน้าที่ ข้าราชการมีหน้าที่ องค์กรอิสระมีหน้าที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีหน้าที่ เพียงแต่เมื่อมีหน้าที่แล้ว ถ้าไม่มีเครื่องมือ ไม่มีอำนาจ การบังคับใช้กฎหมายก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์

ต่อไปนี้ให้รู้ว่า เพราะคุณทำหน้าที่ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ ไม่ใช่เพราะคุณมีอำนาจ นี่คือ นัยสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกับพนักงานและกับประชาชนทุกคน ดร.วิษณุ กล่าว

เมื่อมาดูความหมายจาก พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามความหมายของ 2 คำนี้อย่างน่าสนใจ "หน้าที่" คือ กิจที่ต้องทำด้วยความรับผิดชอบ และให้ความหมายของ "อำนาจ" คือ สิทธิ เช่น มอบอำนาจ อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตามไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่ หรือความที่สามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อำนาจบังคับใช้กฎหมาย อำนาจบังคับบัญชา ความสามารถหรือสิ่งที่สามารถทำ หรือ บันดาลให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เช่น อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์

นี่คือ ต้นตอของคำว่า "หน้าที่ของรัฐ" ที่ อาจารย์มีชัย ได้สะท้อนออกมาในร่างรธน.ฉบับใหม่นี้ซึ่งน่าขบคิดอยู่ไม่น้อย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559