สายสีม่วง-ทางด่วนศรีรัชของขวัญคสช.ปี 2559 นี้

22 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
โครงการของคสช.ที่เป็นพระเอกในปี 2559 ประเดิมด้วยวันที่ 6 สิงหาคมนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ จะเปิดให้บริการแล้ว หลังจากนั้นเดือนเดียวกัน(รอคอนเฟิร์มวัน-เวลาที่แน่นอนอีกครั้ง)ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกก็จ่อเปิดให้บริการต่อเนื่องกันไป

ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีม่วง ระยะทาง 19.6 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระนั่งเกล้า ผ่านศูนย์ราชการนนทบุรี กระทรวงสาธารณสุขก่อนจะไปสิ้นสุดที่เตาปูน อีกทั้งยังมีแผนก่อสร้างในระยะต่อไปช่วงเตาปูน-พระประแดงให้เชื่อมโยงไปสิ้นสุดที่พระประแดงในอีกไม่กี่ปีนี้อีกด้วย
เช่นเดียวกับทางด่วนศรีรัชที่ก่อสร้างบนเขตทางรถไฟสายใต้เป็นส่วนใหญ่นั้น มีจุดเริ่มต้นจากถนนกาญจนาภิเษก บริเวณใกล้กับโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ แนวเส้นทางโครงการ จะวางตัวจากด้านทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ขนานกับทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง(บางซื่อ – ตลิ่งชัน) และปลายทางอยู่ที่ชุมทางรถไฟบางซื่อ บริเวณใกล้สถานีขนส่งหมอชิต 2 ระยะทางรวมประมาณ 16.7 กม.แม้จะเป็นช่วงต่อเชื่อมขนส่งขนาดกลางแต่ก็ได้ผลเชิงบวกมากมาย 1. ได้การตอบรับเชิงบวกของประชาชนในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลร่วม 15 ล้านคนว่าคสช.ทำได้ เร่งงานที่สำคัญได้ผลยิ่ง 2.เปิดพื้นที่ฝั่งธนบุรีด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เปิดพื้นที่พัฒนาร่วม 100-150 ตารางกิโลเมตร 3.เป็นแกนต่อเชื่อมช่วงเตาปูนไปราษฎร์บูรณะด้านใต้ของกรุงเทพฯผ่าน Grand Central Station บางซื่อ

กรุงเทพฯกำลังเป็นเมืองใหญ่มากเกิน 10 ล้านคน ยูเอ็น(UN) ประมาณว่าประชากรกทม.จะเป็น 18 ล้านคนใน 10 ปี(รวมปริมณฑล) ถ้าการเดินทางขนส่งไม่ได้ใช้ระบบ Masstransit แล้วเมืองใหญ่ เช่น กทม.ก็จะเป็นอัมพาตเช่นในอดีต รถติดมากมาย ผลเสียทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของกระทรวงคมนาคมและฝ่ายวางแผนคือสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ได้วางให้กทม.มีขนส่งมวลชน 450 กิโลเมตร มีสถานีใหญ่ 3 สถานี และสถานีต่างๆอีก 45 สถานี ขนาดกลางและขนาดย่อยในอีก 10 ปีข้างหน้า ทุกสถานีจะมีความสำคัญยิ่งในการพัฒนา

นอกจากนั้นยังมีระบบรองที่มอบให้กทม.ท้องถิ่นช่วยทำต่อจากระบบ BTS อีก 3 สาย อย่างน้อยที่ชัด ๆคือ สายสีเขียวต่อขยาย สายสีทองที่จะเชื่อมไอคอนสยามกับสถานีปิ่นเกล้าแม้เพียง 1.5 กิโลเมตรในระยะแรกก็จะเป็นฟีดเดอร์ขนาดเล็ก ระบบขนส่ง 10 สายปัจจุบันจะมีช่วงที่ต้องใช้ขนาดฟีดเดอร์สั้นๆอีกร่วม 5 จุด ที่เรียกว่าเป็นมิสซิ่งลิงค์ เช่น เตาปูนกับ Grand Central Station บางซื่อ หรือสามย่านกับสยามสแควร์เป็นต้น

หันมาดูสายสีม่วง ของขวัญประชาชนชาวกรุงเทพฯและนนทบุรีกับทางด่วนศรีรัชในเดือนสิงหาคมนี้ก็จะเริ่มเปิดให้บริการ โดยสายสีม่วงกำหนดวันที่ 6 สิงหาคมเปิดเดินรถก็จะเป็นการโด๊ปการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่จะเปิดพื้นที่ฝั่งธนบุรี มีโครงการทั้งในตลาดหุ้นและขนาดใหญ่นอกตลาด นำร่องสร้างคอนโดฯติดสถานีรถไฟฟ้าไปแล้วร่วม 20 โครงการที่เสร็จแล้วและกำลังจะเสร็จ มีคอนโดฯร่วม 2-3 พันยูนิต กำลังจะมีอีก 1 เท่าตัวใน 10 ปีข้างหน้า กทม.โดยสำนักผังเมืองก็กำลังปรับผังเมืองร่วมครั้งที่ 4 ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่รอบสถานีก็คือ "มีแนวคิดจะให้โบนัส(Bonus) เพิ่มรอบสถานีจาก 500 เมตร เป็น 1 กิโลเมตร" ทุกสถานี

ดังนั้นก็จะเกิดการพัฒนาพื้นที่ กระทรวงคมนาคม และสนข. การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)คาดหมายไว้คือ จะเป็น "Node ของ TOD(Transit Orieanted Development)" เมืองใหญ่จะกระจุกรอบสถานีทุกสถานีโดยเน้นทางสูง สถานีใหญ่ๆที่สำคัญ เช่น บางซื่อ มักกะสัน แม่น้ำ คนเมืองก็จะต้องอยู่ทางสูง และ "เปิดพื้นที่ราบปลายทาง เป็น เมืองใหม่" เช่น แถบบางใหญ่ ตลิ่งชัน พุทธมณฑล หรือพระประแดง คนฝั่งธนบุรีเดิมถูกเรียกว่าเป็น "ลูกเมียน้อย" ขนส่งมวลชนมาไม่ถึง ในอนาคตอันใกล้อย่างน้อย 20% ขนส่งมวลชนจะมาฝั่งธน คน 4-5 ล้านคน(20% ของประชากร) ในฝั่งธนบุรีก็จะเข้าถึงมาตรฐานการเดินทางในเมืองที่เป็น Modern-Universal ของกรุงเทพฯได้เอาใจช่วยก่อน คสช.จะไปก็รีบทำงานด่วนทั้งในกรุงเทพฯ ขอรถไฟ-รถไฟฟ้าอีก 3-4 สาย ทำ Grand Central Station บางซื่อให้เสร็จ รถไฟไทย-จีน รถไฟหัวจรวดไทย-ญี่ปุ่นทำให้ได้ อย่าลืมการต่อเชื่อมทุกระบบ ปัจจุบันรางต่อรถยังไม่ดีพอ Park & Ride เช่น ทางด่วนศรีรัชกับสถานี Node ต่างๆ ให้ท้องถิ่น เอกชนช่วยทำ ราง รถ ต่อทางน้ำ และสนามบิน อย่าลืม สนข.ต้องดูแลทุกระบบ ช่วยดูส่วนมิสซิ่งลิงค์ด้วย อย่าทำอย่างขอไปที เอาระบบรถบัสมาวิ่งบนถนนชั่วคราวคงไม่รอด เพราะไปเพิ่มทราฟฟิกบนถนน จะลองดูอย่างรถเมล์ BRT ของกทม.ที่วิ่งบนดินก็กำลังคิดจะยกระดับเป็น "E-E-BRT คือ Elevared-Electric BRT" จะดีไหม

ก็ขอเอาใจช่วย คสช. – กระทรวงคมนาคม- สนข. -BEM-BTS หรือทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันยกระดับเมืองในระบบการขนส่งให้เป็นศูนย์กลางเออีซี ให้อยู่แนวหน้าระดับโลก และต้องอดทนต่อระบบประชาธิปไตยที่ทุกคนต่างความคิด ประสานให้ดี อย่าใช้กำลังมากนัก เราจะคอยดูแลผลงานกันต่อไป เลิกทะเลาะกันได้แล้วครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559