‘ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ เคลียร์ปม บริษัท ประชารัฐฯ

21 พ.ค. 2559 | 05:00 น.
ผ่านมา 6 เดือนเต็มนับจากวันที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คิกออฟนโยบายประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ผ่านคณะทำงานสานพลังประชารัฐทั้ง 12 คณะ (แต่ละคณะจะมีตัวแทนจากทั้ง 3 ภาคส่วนคือรัฐ เอกชนและประชาชนเข้าร่วมทำงาน) ซึ่งดูเหมือนคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ซึ่งมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน จะมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด

[caption id="attachment_54453" align="aligncenter" width="700"] ภาพรวมบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ภาพรวมบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด[/caption]

โดยนำร่องด้วยบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ในรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) พร้อมกับจัดตั้ง 5 บริษัทลูก ที่ถูกยกให้เป็นต้นแบบในการดำเนินการเพื่อให้เป็นตัวอย่างกับจังหวัดอื่นๆ ที่จะตามมา ได้แก่ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด , บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีอุดรธานี จำกัด , บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ จำกัด , บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเพชรบุรี จำกัด และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีบุรีรัมย์ จำกัด

การจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งดังกล่าว กลายเป็นปัญหาเมื่อปรากฏชื่อของผู้ประกอบการภาคเอกชนรายใหญ่ เข้าถือหุ้นใหญ่และถูกเชื่อมโยงไปยังผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

แจงเป็นบริษัทSE เต็มรูปแบบแห่งแรก

นายฐาปน ชี้แจงในฐานะหัวหน้าทีมและมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 99% ในบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ว่า แม้โครงสร้างของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด จะเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่เมื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทก็ต้องมีทุนจดทะเบียนจำนวน 100 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนตั้งต้นในการดำเนินงาน ซึ่งเงินทุนเหล่านี้ มีบริษัทเอกชน 24 แห่งใน 10 อุตสาหกรรมเป็นผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งขณะนี้มีการชำระเงินไปแล้วเบื้องต้น 25 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะรอพันธมิตรรายอื่นๆเข้าร่วม ซึ่งมีผู้แสดงความสนใจแล้วประมาณ 10 ราย ประกอบไปด้วย ทรู , เอไอเอส , มิตรผล , กสิกรไทย , เซ็นทรัล , สหพัฒน์ เป็นต้น

"การถือหุ้นเบื้องต้นเป็นหุ้นส่วนกลางมาจากบริษัทต่างๆก่อน 76% ส่วนที่เหลือ 24% เป็นหน่วยงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงธุรกิจช่วยเหลือชุมชน ซึ่งในอนาคตหากมีหน่วยงานอื่นๆในชุมชนเข้ามามากขึ้น หุ้นส่วนกลางที่เกิดจากเอกชนลงเงินไปก่อนก็จะลดหลั่นลงไปเรื่อยๆ ขณะที่บอร์ดบริหารซึ่งจะมา 5 ภาคส่วนคือภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ประชาสังคมและประชาชนนั้น แต่ละภาคส่วนจะมีสิทธิ์การออกเสียงภาคส่วนละ 20% เพื่อป้องกันการล็อกสเปก ดังนั้นไม่ว่าเอกชนจะใส่เงินลงมาเท่าไร ก็มีเสียงโหวตได้แค่ 20 % และเพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม รายได้ที่เกิดขึ้นจริงจะไม่มีการนำไปปันผลให้กับผู้ถือหุ้น แต่กำไรที่เกิดขึ้นจะนำไปใช้ใน 3 ส่วนคือ สำรอง , ขยายธุรกิจ และสาธารณประโยชน์ "

เช่นเดียวกับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งจะใช้ทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท เบื้องต้นชำระเงินไปแล้ว 1 ล้านบาท เป็นเงินจากภาคเอกชนที่ร่วมให้การสนับสนุน และยังเปิดรับผู้สนใจเข้าร่วมถือหุ้นไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใด โดยเฉพาะประชาชนก็สามารถเข้าร่วมถือหุ้นได้ ที่ผ่านมาการจัดตั้งองค์กร SE ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยมูลนิธิ หรือหน่วยงาน แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่จัดตั้งโดยภาคเอกชน จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

ปรับแผนสร้างภาพลักษณ์ใหม่

สำหรับประเทศไทยแล้ว แม้ SE จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ก็ยังเป็นที่รู้จักในวงจำกัด และการดำเนินงานในรูปแบบบริษัท ที่มีผู้ขับเคลื่อนเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ย่อมถูกจับตามองเป็นพิเศษ

เพราะในวงกว้างยังขาดความเข้าใจในรูปแบบการดำเนินงาน และการจะช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจะส่งกลับมายังองค์กรอย่างไร ซึ่งแท้จริงแล้ว การเป็นองค์กร SE หมายถึงการเป็นหน่วยงานที่พร้อมให้การช่วยเหลือและสนับสนุนสังคมอย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่หวังผลตอบแทนกลับคืน นั่นคือ เมื่อองค์กรหรือบริษัทนั้นดำเนินการได้ และมีผลกำไร กำไรที่เกิดขึ้นก็จะถูกนำมาไปใช้ประโยชน์ต่อใน 3 ด้านคือ เป็นเงินสำรองเพื่อใช้ดำเนินการของบริษัทในอนาคต , การขยายธุรกิจ และการสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่จะไม่มีการนำมาปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้น หรือผู้เกี่ยวข้องเด็ดขาด

สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้คือ การสร้างความโปร่งใส และสร้างความเข้าใจเรื่องของ SE ให้กับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ (ภาคเอกชน) ภาครัฐ ประชาสังคม ประชาชน รวมถึงนักวิชาการ เพื่อให้สามารถสื่อสารข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาเข้าร่วมโครงการ

 ดึง"มีชัย"นั่งประธาน100 บาท ถือหุ้นได้

ล่าสุดบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ยังขยับตำแหน่งให้ "ดร. มีชัย วีระไวทยะ" เจ้าของฉายา "บิดาแห่งธุรกิจเพื่อสังคม" ที่เดิมนั่งอยู่ในตำแหน่ง กรรมการ เลื่อนขึ้นมาเป็น ประธานกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างเต็มรูปแบบและมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่บริษัทได้รับคือ ภาพลักษณ์ ความเป็น SE ที่ชัดเจนขึ้น และมีผู้ที่สังคมให้การยอมรับ มาเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน

"ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน ซึ่งโครงการนี้จะให้ความสำคัญกับกลุ่มคนปลายทางมากที่สุด แม้กระทั่งผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปก็ยังสามารถช่วยให้มีรายได้ หรือประชาชนต่างๆในพื้นที่มีรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งการช่วยครั้งนี้ไม่ใช่การแจก อีกทั้งเราต้องการให้เด็กรุ่นใหม่ หรือนักศึกษา เข้ามาช่วยกันถือหุ้นบริษัทนี้ เช่น ถือหุ้นคนละ 100 บาทเพื่อให้พวกเรารู้สึกเป็นเจ้าของและรู้สึกรักกับพื้นที่แห่งนั้นและช่วยกันทำให้ดีขึ้น" ดร.มีชัย กล่าวในระหว่างการประชุมคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ครั้งที่ 5/2559 ในวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หัวหน้าทีมภาครัฐ นั่งเป็นประธาน

ในวันเดียวกันยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินการจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ ในจังหวัดต่างๆ สามารถขับเคลื่อนไปได้และแล้วเสร็จตามที่กำหนด และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

 ชู "โครงการดอยตุง" ต้นแบบ

แม้นายฐาปน ยังยืนยันที่จะเดินหน้าสานต่อกับการทำงานในคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐอย่างเต็มที่ แต่ก็วางตัวผู้บริหารใหม่ที่จะเข้ามารับไม้ต่อ (ในอนาคต) โดยล่าสุดเปิดตัว นางสาวต้องใจ ธนะชานันท์ อดีต Senior Advisor The Boston Consulting Group บุตรสาวนายชวลิต ธนะชานันท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาดูแลบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่ง "กรรมการผู้จัดการ"

"ความชัดเจนของการเป็น SE ประชารัฐฯ คือ การทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำในการดำเนินงานทั้งในด้านปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้ การตลาด การสื่อสาร และการบริหารจัดการ โดยไม่มีเรื่องของการซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นบริษัทจึงไม่ได้มีรายได้ที่จะมาทำกำไร แต่เมื่อธุรกิจชุมชนมีรายได้ มีกำไร สิ่งที่ต้องตอบแทนกลับคืนสู่บริษัท ประชารัฐฯ คือ การปันผล 2-20% มาให้กับองค์กร เพื่อให้องค์กรมีทุนมาต่อยอดสร้างธุรกิจชุมชนอื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยประเมินความสำเร็จผ่าน KPI 3 ด้านได้แก่ สร้างรายได้ , สร้างมูลค่าเพิ่ม และลดความยากจน"

ขณะนี้คนไทยอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือ SE เท่าใดนัก แต่อยากให้มองถึงหลายๆ โครงการที่ประสบความสำเร็จ เช่น โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งบริหารจัดการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งบริษัทนำมาใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินงานของบริษัท ประชารัฐฯ นี้ด้วย
คงต้องจับตามองต่อไปว่า บริษัท ประชารัฐ ฯ ภายใต้บังเหียน"ทายาทเจ้าสัวไทยเบฟ" จะบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559