วันนี้องค์การของคุณมี Talent ที่ทั้งเก่งและดีแล้วหรือยัง?

21 พ.ค. 2559 | 01:00 น.
แม้ว่าคนเก่งจะมีน้อย จะหายาก แต่การเสาะหา " คนเก่งและเป็นคนดี " ด้วยแล้วยิ่งหายากยิ่งกว่า แต่ในปัจจุบันมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ที่ไม่ละความพยายามจะเฟ้นหาสร้างกลุ่มคนเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้ได้บุคลากรที่มีศักยภาพสูง ดังนั้นการบริหารจัดการคนเก่ง (Talent Management) นั้น จึงถือเป็นหัวใจของการบริหารงานบุคคลที่ให้ความสำคัญกับศักยภาพหรือกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพในการส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับองค์กร

สำหรับกระบวนการนำ Talent Management เข้ามาใช้ในองค์การนั้น ความสำคัญอันดับแรกเราจะต้องเป็นผู้ออกแบบให้เหมาะสมกับองค์การของเรา โดยอาจจะศึกษาจากองค์การอื่นที่ประสบความสำเร็จในการนำ Talent Management ไปประยุกต์ใช้ แล้วมาปรับให้เป็นของเราเอง หรือไม่ก็ศึกษาหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง แล้วออกแบบเป็นขององค์การเราเองขึ้นมา ไม่ใช่การนำของที่อื่นมาใช้เลย เพราะแต่ละองค์การก็มีความแตกต่างกัน การนำของที่อื่นมาใช้เลยนั้น นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ช่วยให้พัฒนาองค์การของเราแล้ว อาจจะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

[caption id="attachment_54281" align="aligncenter" width="500"] Talent Management Talent Management[/caption]

ความสำคัญต่อมา Talent Management ควรทำตามกระบวนการอย่างเป็นระบบ โดยใส่ใจในทุกขั้นตอน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือเมื่อได้คนที่เป็น Talent มาแล้ว เราจะต้องดูแลความก้าวหน้าในอาชีพ และพัฒนาให้เกิด Action Learning ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น Coaching, Mentoring System, การมอบหมายโครงงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมไปถึงการสร้าง Talent เหล่านี้ให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งงาน มีการจัดทำ Succession Planning ซึ่งถือได้ว่า เป็นระบบงานที่ทำขึ้นเพื่อการจูงใจรักษา Talent เอาไว้ให้อยู่กับองค์การอีกทางหนึ่งได้

ส่วนอีกแนวทางที่ค่อนข้างจะต้องใช้ระยะเวลา แต่สามารถให้ผลดีในระยะยาว คือการสร้างความผูกพันของพนักงาน (Employee Engagement) อาจจะต้องค่อยๆ ปลูกฝังไปเรื่อยๆ โดยการสอดแทรกกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมความจงรักภักดีต่อองค์การให้กับ Talent จะช่วยให้ Talent ค่อยๆ รับรู้และเกิดสิ่งนี้ในจิตใจในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ Talent Management ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจะเป็นจริงได้ถ้า "ผู้นำ" มีส่วนในการผลักดันและส่งเสริมอย่างจริงจังให้มีการดำเนินการและปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการพยายามเข้ามาร่วมในทุกกระบวนการ เพื่อช่วยในเรื่องของการตัดสินใจและขวัญกำลังใจ

นอกจากนี้ ยังหมายความรวมถึงผู้ที่เป็นหัวหน้างาน ที่จะต้องเป็นแม่แบบให้ลูกน้องที่เป็น Talent คอยให้คำปรึกษา และสอนงาน ซึ่งจะช่วยให้ Talent ผ่อนคลายความตึงเครียด และมีความสุขในการทำงานในฐานะ Talent มากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า Talent Management เป็นประโยชน์มากต่อองค์การ เพราะนอกจากจะบริหารจัดการ Talent ได้ดีแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมให้คนที่ไม่ได้เป็น Talent มีความพยายามในการพัฒนาตนเองมากขึ้น เพื่อที่จะได้เป็น Talent บ้าง ซึ่ง Talent ในปัจจุบันจะต้องช่วยเหลือให้คนอื่นเก่งขึ้น พัฒนาขึ้นไปพร้อมๆ กับตนเองด้วย

เพราะหากเกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในลักษณะนี้แล้ว ก็จะลดความอิจฉาริษยาที่พนักงานคนอื่นมีต่อ Talent ได้ และส่งผลดีต่อองค์การในที่สุดที่มีพนักงานร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกองค์การควรตระหนัก คือ Talent จะมีแค่ High Performance และ High Potential เท่านั้นไม่ได้ แต่จะต้องมี EQ ด้วย หรือที่เรียกกันว่า "เป็นทั้งคนเก่งและคนดี"

จะเห็นในการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร ถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดภายใต้ภาวะการแข่งขันที่สูงและสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา การเกิด The War for Talent ขึ้นมานั้น ยิ่งต้องทำให้องค์การพยายามแสวงหาแนวทางในการรักษา Talent ให้ทำงานอยู่กับองค์การไปนานๆ เราต้องเข้าใจว่าคนเก่งต้องการอะไร

หากกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งของ Talent Management System ผิดพลาดไป ไม่ว่าจะเป็น Talent ที่มีไม่ใช่ตัวจริง, คนเก่งได้ทำงานที่ตนไม่มีความรู้ ทักษะ หรือความสามารถ, องค์การไม่ส่งเสริมให้คนเก่งได้พัฒนาตนเอง หรือการรักษาคนเก่งเอาไว้ไม่ได้ ย่อมส่งผลเสียทั้งต่อ Talent และต่อองค์การอย่างแน่นอน ดังนั้น ทุกคนในองค์การควรร่วมมือกันและใส่ใจในทุกกระบวนการอย่างรอบคอบมากที่สุด เพื่อให้เกิด Talent Management System ที่มีประสิทธิภาพ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559