เอ็นพีเอส สร้างมูลค่าเพิ่มเกษตรกรจากเถ้าชีวมวล

21 พ.ค. 2559 | 11:00 น.
บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือโรงไฟฟ้าเอ็นพีเอส หนึ่งในกลุ่มดั๊บเบิ้ล เอ เพาเวอร์ มีนโยบายการดำเนินงาน พัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน ควบคู่ ไปกับการให้ความสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยเริ่มจากการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าภายใต้แนวคิด "สร้างอาชีพ ให้การศึกษา ดูแลสุขภาพ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น" และยึดหลักปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ อย่างเคร่งครัด

[caption id="attachment_54338" align="aligncenter" width="500"] ป้าจ้อย ผลผลิตผักสวนครัว ป้าจ้อย ผลผลิตผักสวนครัว[/caption]

การให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA: Environmental Impact Assessment) และ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA: Health Impact Assessment) ที่ดำเนินการสอดคล้องตามกฎระเบียบ แต่เอ็นพีเอสยังเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาชุมชน เช่น โรงงานเอ็นพีเอส ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กับการผลิต “เถ้าชีวมวล” หรือ ของเหลือจากโรงไฟฟ้าพลังงานปลูกได้ ที่ได้มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวลจากพืชพลังงาน อาทิ ต้นพลังงาน หญ้าเนเปียร์ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้า ปลูกเป็นรายได้เสริม รวมทั้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจำพวก แกลบ ชานอ้อย เปลือกไม้ เหง้ามัน ซังข้าวโพด และรากไม้ ที่รับซื้อจากเกษตรกรชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้า

เถ้าชีวมวลของโรงไฟฟ้าพลังงานปลูกได้ในกลุ่มเอ็นพีเอส ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรว่า มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร โดยนำไปเป็นวัสดุปรับปรุงโครงสร้างดิน เพิ่มความร่วนซุย และความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ช่วยเพิ่มผลผลิตพืชผลทางการเกษตรลดต้นทุนในการเพาะปลูกได้ เกษตรกรหลายรายในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า นำเถ้าชีวมวลผสมเป็นวัสดุปลูกพืชเกษตรบำรุงพืชที่ตัวเองเพาะปลูก อาทิ มะนาว ผักสวนครัว และพืชอื่นๆ ทำให้ได้ผลผลิตที่งอกงามและสมบูรณ์

[caption id="attachment_54336" align="aligncenter" width="500"] ธนนท์ เจ้าของสวนมะนาว ธนนท์ เจ้าของสวนมะนาว[/caption]

ผลผลิตพืชเกษตรที่งอกงามจากการใช้เถ้าชีวมวล ทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ สร้างรายได้ และทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวดีขึ้น เป็นการเกื้อกูลกันระหว่างชุมชนกับโรงไฟฟ้าพลังงานปลูกได้ในกลุ่มเอ็นพีเอสอย่างยั่งยืน เช่น "ธนนท์ ประสิทธ์มณีรัตน์" หรือ ดำ เจ้าของสวนมะนาว เนื้อที่ 1 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 3 บ้านนาใน ต. เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา บอกว่า ที่ผ่านมา เขาสามารถขายมะนาวสร้างรายได้ประมาณ 6,000-10,000 ต่อเดือน

นอกจากการผลิตเถ้าชีวมวลให้กับเกษตรกรรอบโรงไฟฟ้าแล้ว ล่าสุด เอ็นพีเอส ยังจัดกิจกรรม "พี่สอนน้องอนุรักษ์พลังงานสะอาด ปีที่ 6" ในหัวข้อ "วันป่าไม้โลก" ให้กับเยาวชน โรงเรียนบ้านท่าตูม ต.ท่าตูม อ.ศรีหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเห็นถึงความสำคัญของป่าไม้และการสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชนในโอกาสวันป่าไม้โลก เป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับเยาวชนอีกทางหนึ่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559