ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ต้องรู้จักตอบแทนสังคม

20 พ.ค. 2559 | 01:00 น.
20 ปีของ "กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ( กยศ.)" ได้เป็นที่พึ่งทางการเงินให้กับนักเรียน/นักศึกษา (จากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี) เพื่อเป็นค่าเล่าเรียนและใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ถึงวันนี้ กยศ.ได้ปล่อยเงินกู้แล้วกว่า 4.5 ล้านราย วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ถึงครบกำหนดชำระแล้ว 3 ล้านราย แต่ในจำนวนนี้มีถึง 2 ล้านราย ที่ยังค้างชำระคิดเป็นมูลหนี้กว่า 5.6 หมื่นล้านบาท (ถูกดำเนินคดีแล้ว 8 ราย และถึงขั้นถูกยึดทรัพย์กว่า 3.8 พันราย ) ขณะที่รายที่ยังชำระปกติไม่มีค้างมี 1 ล้านราย

อย่างไรดีกยศ ภายใต้การบริหารเชิงรุกของ ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุน กยศ ในช่วง 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้างบริษัทติตตามหนี้ ,การจัดโครงการ "กยศ.-กรอ.เพื่อชาติ " โดยร่วมกับองค์กรนายจ้างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการนำร่องกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง อาทิกรมสรรพากร , กรมบัญชีกลาง ฯลฯ ให้นายจ้าง/องค์กร หักเงินเดือนบุคลากรในสังกัดที่เป็นผู้กู้และนำส่งคืนกองทุน โดยมีรางวัลจูงใจลูกหนี้ ,การต่อยอดให้ผู้กู้มีรายได้ที่จะนำเงินมาชำระกองทุน โดยการติดต่อหน่วยงาน/บริษัทห้างร้าน ให้รับผู้กู้กองทุนฯเข้าทำงาน อาทิบริษัทซีพีเอฟ , เซ็นทรัลกรุ๊ป ,ไมเนอร์กรุ๊ป หรือผ่านเวปไซค์ " กยศ.จ๊อปออนไลน์ "

หรือการที่กยศ.ได้ปลุกจิตสำนึก ด้วยการกำหนดเกณฑ์ให้ผู้กู้ใหม่ในปี 2559 ต้องมีเกรดการเรียนต้องไม่ต่ำ 2.00 และต้องผ่านการทำโครงการเพื่อสาธารณะหรือจิตอาสาไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง/ปี จึงจะขอกู้ได้ รวมถึงการผลักดันกระทั่งล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.)ไฟเขียว พรบ.กองทุนเพื่อการศึกษา ซึ่งจะทำให้กองทุน ฯ มีประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้กู้ยืมต้องยินยอมให้เปิดเผยข้อมูล ทั้งยังได้กำหนดให้องค์กรนายจ้างมีหน้าที่ หักเงินเดือนพนักงานในสังกัด เฉกเช่นเดียวกับการเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยที่กรมสรรพากรจะทำหน้าที่รับชำระเงินแล้วนำส่งกองทุนเอง

ผลจากการปฏิรูปการทำงานของกยศ.อย่างจริงจังของเธอ ทำให้ในช่วง 3 ปีหลัง ( 2556-2558 ) กองทุนกยศ สามารถเรียกหนี้คืนได้เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการปล่อยกู้ต่อให้เด็กนักเรียนที่ยากจน กล่าวคือ ปี 2556 ได้รับชำระหนี้คืนเป็นเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท ,ปี2557 จำนวน 1.3 มื่นบ้านบาท ขณะที่ปี 2558 ได้รับชำระคืนถึง 1.7 หมื่นล้านบาท หรือโตจากปีก่อนหน้าถึง 30 % ขณะที่ในปี 2559 ตั้งเป้า เรียกหนี้คืน 1.9 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 11 % และมีเป้าหมายที่จะปล่อยกู้ปีนี้ 2.9 หมื่นล้านบาท

ดร.ฑิตติมา จบปริญญาตรี ศิลปะศาสตร์บัณฑิต ( การบัญชี ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,ปริญญาโท เอ็มบีเอ จากมหาวิทยาลัย มาแซล ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยหลังจากเรียนจบ เริ่มงานที่แรกที่ การนิคมอุตสาหกรรม ตำแหน่งสุดท้ายคือเป็นรองผู้ว่าการ (บริหาร ) การนิคม ฯ จนมาในปี 2547 โดยการทาบทามของผู้จัดการกยศ. (ขณะนั้น) เธอได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่มีตำแหน่งรองผู้จัดการ มาในปี 2553 จึงเปลี่ยนจาก "ผู้ช่วยผู้จัดการ " เป็นรองผู้จัดการ ก่อนเป็นผู้จัดการกยศ. โดยการสรรหาเมื่อปี 2556 และในปัจจุบันยังเหลือวาระในตำแหน่งอีก 1 ปี (อายุงานในกยศ.สามารถทำถึง 65 ปี)

เบื้องหลังที่เลือกมาทำงานที่นี่ เธอบอกว่า คนเราเมื่อทำงานมาถึงจุดหนึ่งก็ต้องคิดถึงสังคม ไม่ใช่คิดแต่ตัวหรือมุ่งแต่จะสร้างกำไรให้องค์กร ต้องรู้จักตอบแทนสังคม และการทำงานที่ กยศ. ก็เหมือนช่วยคนให้ได้เรียนหนังสือ ดียิ่งกว่าอีกเพราะไม่ต้องไปวัด ไปทำบุญ แค่กระจายข่าวออกไป ให้ลูกหนี้มาชำระหนี้ แทนที่จะผู้กู้จะโดนฟ้องร้อง ซึ่งก็จะบอกกับพนักงานที่นี้เหมือนกันว่า กยศ.ทำงานหนัก เพราะมีพนักงานเพียง 180 คน แต่ดูคนถึง 4.5 ล้านราย สถานศึกษากว่า 4 พันแห่ง

"ความท้าทาย คือมันไม่ง่าย เพราะเป็นการดิวกับลูกค้าที่เป็นเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก เช่นเราบอกว่ามีสัญญาต่อกัน ถ้าเขาไม่สนก็ไม่สนใจเลย หน้าที่เราก็เหมือนแคชเชียร์ คือเอาเงินจากรัฐแล้วปล่อยให้กู้ และเก็บเงิน แต่จะไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกับสถาบันการเงินที่ว่าใครค้างกี่งวด ก็ยึดได้เลย อย่างนี้เราทำไม่ได้ และยากตรงที่ว่าทำอะไรนิดก็กระทบทั้งประเทศ " ดร.ฑิตติมา กล่าว พร้อมยกตัวอย่าง ว่า

อย่างที่เราปรับเกณฑ์ใหม่เมื่อต้นปี 2559 ว่า นักเรียน/นักศึกษาที่มาจะกู้ต้องได้เกรดไม่น้อยต่ำกว่า 2.00 ซึ่งเป็นการบอกล่วงหน้าเพื่อให้เขาตั้งใจเรียน ตามนโยบายของคสช. ( คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ) ที่ให้กยศ.เน้นคุณภาพ และให้กู้ตามความจำเป็น ไม่ใช่ว่ากองทุนมีเงินแล้ว ใครๆจะมากู้กันตามใจ จากโจทย์ตรงนี้ เราก็มาดำเนินการ ว่าจะทำอย่างไรให้กู้ยากขึ้นหน่อย ก็โดยการเอาคุณภาพมาจับ จากเดิมที่ไม่มีกำหนดเกรดต้อง 2.00 และนอกจากตั้งใจเรียนในระดับหนึ่งแล้ว ก็ต้องเป็นคนดีด้วย กยศ.จึงให้มีในเรื่องของจิตอาสา เพราะเงินที่ให้กู้ก็เป็นงบประมาณแผ่นดิน ฉะนั้นผู้กู้ก็ต้องทำโครงการจิตอาสา ช่วยชุมชน สังคมประเทศชาติ เพื่อที่วันหนึ่งเมื่อจบไปจะได้มีจิตสำนึกว่า เขาได้โอกาสแล้วก็ต้องส่งโอกาสต่อ

"กระทรวงการคลัง คาดหวังให้กยศ.ปล่อยกู้กับเด็กที่ยากจน ส่วนเป้าหมายกรอ. ก็คือให้เรียนในสาขาที่ประเทศต้องการจะส่งเสริม แต่สำคัญก็ต้องมีเงินหมุนเวียนส่งกลับคืนกองทุนด้วย "

สำหรับหลักการบริหารของเธอ ดร.ฑิตติมา กล่าวว่าคนที่ทำงานให้ภาครัฐต้องมีอะไรมากกว่าเอกชน ดังนั้นเมื่อเธอมาบริหาร จึงได้ให้ค่านิยมกยศ. 3 คำคือ ซื่อสัตย์ ,พัฒนา,อาสา คือทำงานภาครัฐ "ซื่อสัตย์ " ต้องมาอันดับ 1 จะยอมอะไรก็ได้ แต่ถ้าไม่ซื่อสัตย์แล้วไม่ได้เลย ส่วนคำว่า "พัฒนา" คือคนเราจะอยู่กับที่ไม่ได้ เพราะจะเหมือนถอยหลัง จะให้ทุกคนใฝ่รู้ ใฝ่เรียน improve ตัวเองขึ้นเรื่อย ๆไม่อย่างงั้นจะตามใครไม่ทัน และต้องมีใจ "อาสา" เพราะการทำที่กยศ. เป็นงานเพื่อสังคม แต่คนที่จะอาสาได้ก็ต้องมีความรับผิดชอบตัวเองก่อน ต้องมีพื้นฐานของการมีวินัยก่อน

เหนืออื่นสิ่งใดสำคัญกว่านั่นคือ "ความเสียสละ" การทำงานภาครัฐ ไม่เสียสละไม่ได้ ถ้าจะเอาประโยชน์ส่วนตัว องค์กรจะไม่ไปไหนเลย " เธอ กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559