เปิดเบื้องหลัง อวสานเหมืองแร่ทองคำ

17 พ.ค. 2559 | 01:00 น.
ทันทีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รับทราบมติร่วมกันของ 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรทั่วประเทศ

[caption id="attachment_53473" align="aligncenter" width="700"] สถานะเหมืองแร่ทองคำในไทย สถานะเหมืองแร่ทองคำในไทย[/caption]

โดยมติดังกล่าวในกรณีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ที่จังหวัดพิจิตร เห็นควรให้ต่อใบอนุญาตประกอบโรงประกอบโลหกรรม ที่หมดอายุลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ และเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงานราว 1 พันคน และเตรียมฟื้นฟูเหมืองหลังการเลิกประกอบกิจการ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต

 ขุดแร่50ตันไม่ทันภายใน7เดือน

มติ 4 กระทรวงที่ครม.รับทราบดังกล่าว สร้างความวิตกให้กับวงการธุรกิจเหมืองทุกชนิดทั้งระบบ ไม่เพียงแต่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ที่ตกอยู่ในสถานการณ์"ช็อก" จากการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ โดยบริษัท อัคราฯให้เหตุผลว่า จะสร้างความเสียหายให้กับบริษัทราว 4 หมื่นล้านบาท จากแร่ที่ยังไม่ได้ขุดเจาะขึ้นมาใช้อีกกว่า 30 ตันโลหะทองคำ จากที่มีแร่ที่ขุดขึ้นมาแล้ว 50 ตันโลหะทองคำ ที่ต้องเร่งแปรรูปให้ทันในระยะเวลาเพียง 7 เดือนหรือถึงสิ้นปี 2559 จากที่ได้วางแผนธุรกิจตามประทานบัตร ที่จะหมดอายุในปี 2571

เหตุผลการยุติทำเหมืองที่กล่าวอ้าง ระบุว่าในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการร้องเรียน และข้อขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่า ปัญหาข้อร้องเรียนและผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯหรือไม่! อีกทั้งเหตุผลที่ว่าเพื่อประโยชน์ของสังคมและประชาชนเป็นส่วนรวม และแก้ปัญหาความแตกแยกของประชาชนในชุมชน เป็นประการหลัก

 บริษัทแม่อัคราออกแถลงการณ์

จึงเกิดคำถามตามมา โดยเฉพาะทุนข้ามชาติอย่างบริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดตเต็ด จำกัด จากออสเตรเลีย ในฐานะบริษัทแม่ของ บริษัท อัคราฯ ที่ออกมาแถลงการณ์ทันทีเมื่อทราบข่าวว่า "รู้สึกตกใจที่รัฐบาลไทยทำแบบนี้ ทั้งที่ใบอนุญาตขอต่ออายุก็ทำมา 2 ครั้งแล้ว โดยไม่ผิดเงื่อนไขเลย"

ทั้งนี้บริษัท อัคราฯ ตัดสินใจเข้ามาลงทุน ตามคำเชิญของรัฐบาลไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ทำกิจการเหมืองแร่ทองคำ ตั้งแต่การสำรวจไปถึงตั้งโรงประกอบโลหการ เพื่อแปรรูปแร่ทองออกมาเป็นโลหะผสม(แท่งทองผสมเงิน) ส่งออกไปฮ่องกงเพื่อไปแยกเป็นทองและเงินบริสุทธิ์ ส่งออกไปทั่วโลกขายให้กับวงการอัญมณีและเครื่องประดับ โดยได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดด้านภาษีจากบีโอไอ

 รื้อปูมปัญหา

จากการสืบค้นข้อมูลของ"ฐานเศรษฐกิจ" ผนวกกับการเปิดเผยที่มาที่ไปโดยผู้บริหารบริษัท อัคราฯ พบว่า ประเด็นปัญหาทั้งหมดเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่การต่อรองในการซื้อขายที่ดินในพื้นที่ ที่นับวันราคาขยับตัวสูงขึ้นจากที่บริษัท อัคราฯ เริ่มได้ประทานบัตรในปี 2542 และเริ่มดำเนินการในปี 2544 จนถึงปัจจุบัน มีการเสนอขายที่ดินอย่างต่อเนื่องและในราคาสูงลิบกว่าราคาประเมิน ขณะบริษัท อัคราฯ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1.07 หมื่นไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ประทานบัตร 3.72 พันไร่ จำนวน 14 แปลง ที่เหลือเป็นพื้นที่ เก็บแร่ เก็บกองดิน และพื้นที่แนวกันชน และพื้นที่เพื่อประโยชน์อื่น ๆ

สอดคล้องกับที่นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวยืนยันว่า มีคนบางกลุ่มมองเห็นผลประโยชน์ ไปเจรจากับชาวบ้านรวมพื้นที่ขายเป็นแปลงใหญ่พร้อมกัน ทำให้ราคาที่ดินพุ่งจาก 3-5 หมื่นบาทต่อไร่ ขยับขึ้นมาเป็น 7 หมื่นบาทต่อไร่ จนเป็น 3 แสนบาทต่อไร่ และบางแปลงเสนอขายที่ดินสูงขึ้นถึง 8 แสนบาทต่อไร่ก็มีเกิดขึ้นแล้ว ทั้งที่ราคาที่ดินตามราคาประเมินอยู่ระหว่าง 1-1.5 แสนบาทต่อไร่ รวมถึงการตั้งบริษัทกลางขึ้นมาค้าขายที่ดิน

 ศาลฯชี้อัคราไม่ใช่สาเหตุ

ต่อมากลุ่มคัดค้านไม่เอาเหมืองทองคำ นำโดย สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เมื่อปลายปี 2553 อ้างมีผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ศาลปกครองได้ตรวจสอบและไต่สวนพยาน รวมทั้งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 คณะ มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อทำรายงานผลด้านสิ่งแวดล้อม ไปยังศาลปกครอง คณะทำงานมีการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะของคนในพื้นที่รอบเหมือง เปรียบเทียบกับคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างเหมือง 50 กิโลเมตรในอ.โพทะเล จ.พิจิตร พบว่าผลเลือดออกมาเหมือนกัน มีสัดส่วนค่าเท่ากัน ศาลจึงสรุปว่า บริษัท อัคราฯไม่ใช่สาเหตุของปัญหาเมื่อปี 2555

แต่สุดท้ายฝ่ายคัดค้านยังเคลื่อนไหวไม่จบ ส่งเรื่องไปฟ้องทางยูเอ็น ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กองปราบ ศูนย์ดำรงธรรม และอื่นๆ ตามข้อกล่าวหาเดิม จนกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ ทั้งที่สารหนู และแมงกานีส มีอยู่ในพื้นที่ทั่วไปอยู่แล้ว ขณะที่ในร่างกายคนเราก็มีสารหนู ซึ่งอาจมาจากอาหารทะเลหรือแมงกานีส ก็มีในร่างกายได้ เพราะมาจากผักสีเขียวหรือในกล้วยหอม นายเชิดศักดิ์ กล่าว

  ข้อมูลจากม.รังสิตพบโลหะหนัก

ขณะเดียวกัน นักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต ทำเรื่องร้องเรียนไปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เพื่อขอศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องการปนเปื้อน โดยใช้เงินจากกองทุนประกันความเสี่ยง EIA ทำการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ จากการตรวจร่างกายประชาชนในพื้นที่ในช่วงปี 2557-2558 มีประชาชนที่ได้รับการตรวจรวมทั้งสิ้น 1,583 คน โดยใช้ผลการตรวจครั้งล่าสุดของแต่ละบุคคลพบว่า มีประชาชนที่มีโลหะหนัก หรือไทโอไซยาเนตในร่างกายในพื้นที่รอบเหมืองอัครา เกินค่าอ้างอิงจำนวน 817 คน หรือคิดเป็น 51.6% ของประชาชนที่ได้รับการตรวจ แต่ข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้สรุปเชิงลึกว่าใครเป็นต้นเหตุ!

 กระทบเชื่อมั่น4กลุ่มทุนใหญ่

แหล่งข่าวจากวงการแร่โดยสภาการเหมืองแร่ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้จะมีผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในสายตาทุนต่างชาติ การประกาศยุติเหมืองทองในไทยสิ้นสุดลง ทั้งที่ผู้ประกอบการยังไม่ได้คำตอบว่าแท้จริงปัญหานั้นมาจากไหน โดยเฉพาะกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามา (ดูตาราง) ไล่ตั้งแต่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)ที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดแล้วในขณะนี้ โดยได้รับประทานบัตรเหมืองแร่แล้ว และมีโรงประกอบโลหการแล้ว ขณะที่อีก 2 รายคือ บริษัท ไทยโกลฟิลด์ จำกัด(ประเทศแคนาดา) และบริษัท แมทสา รีซอสเซส จำกัด จากออสเตรเลีย แม้ยังลงทุนไม่มากในขณะนี้ แต่ก็อยู่ในขั้นยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ

ส่วนบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในเครือบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่แล้วและมีโรงประกอบโลหการแล้ว แต่ต้องหยุดดำเนินการมาระยะหนึ่ง เพราะยังติดปัญหาพื้นที่ป่าไม้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต และปัญหาชุมชนในพื้นที่ต.เขาหลวง จ.เลย

 นักวิชาการติงรัฐต้องสอบเชิงลึก

ด้านนักวิชาการ ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ปัญหาของประเทศไทยที่เป็นจุดอ่อนคือ ไม่สอบเชิงลึก หรืออิงการวิเคราะห์ให้ดีว่าต้นตอของปัญหามาจากไหนกันแน่ คนที่ได้รับผลกระทบก็ต้องแยกแยะให้ถูกก่อนว่า สารหนูนั้นมาจากธรรมชาติ หรือมาจากเหมือง ส่วนปัญหาเรื่องที่ดินที่มักเกิดขึ้นเมื่อมีกลุ่มทุนเข้าไปลงทุน และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย รัฐบาลก็ควรลงไปศึกษาพื้นที่เพื่อกำหนดราคากลางในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านซื้อขายกันเอง จนโก่งราคา กลายเป็นประเด็นขัดแย้งในชุมชนในที่สุด

ส่วนในเชิงเศรษฐกิจสำหรับธุรกิจเหมืองทอง เวลานี้ยังไม่ได้สร้างผลทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากนัก เราควรมาชั่งน้ำหนักว่า เหมืองทองควรเก็บไว้ในดินเพื่อวันข้างหน้า รอให้ราคาทองดีกว่านี้หรือไม่ ส่วนค่าภาคหลวงที่เอกชนจ่ายให้รัฐ 6.6 % ของมูลค่าแร่ที่ขายได้ ก็มองว่ายังน้อยเกินไป

มหากาพย์เหมืองทองกับเสียงร้องของชาวบ้าน มาถึงตอนอวสานในยุครัฐบาลคสช. ที่ตัดสินใจมีมติ ยุติการสัมปทานเหมืองแร่ทั่วประเทศ เพื่อลดความขัดแย้งทางสังคม และเชื่อว่าภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องออกแรงจะลงมาวิเคราะห์สาเหตุเชิงลึกให้สังคมรับรู้ให้ได้โดยเร็วที่สุดว่า แท้จริงแล้วสารพิษที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการทำเหมืองทองคำหรือไม่!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559