BTSเทหมื่นล้านซื้อรถไฟฟ้าล็อตใหญ่ ชี้ผู้โดยสารทะลุ9แสนเที่ยวคน/วัน

17 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
บีทีเอสสวนกระแสเศรษฐกิจซบ ดีเดย์ใช้เงินกองทุนบีทีเอสโกรท กว่า 1 หมื่นล้านซื้อ 46 ขบวนรองรับและเสริมในเส้นทางสายสีเขียวเหนือ-ใต้และส่วนต่อขยาย ซีอีโอบีทีเอสเผยเร่งเจรจา 2-3 ประเทศ ผู้ผลิตเหตุเป็นการจัดซื้อล็อตใหญ่ ด้านปริมาณผู้โดยสารยังเพิ่มต่อเนื่องวันปกติระดับ 9 แสนเที่ยวคนต่อวัน วอนกทม.เร่งสรุปปมคอขวดสถานีสะพานตากสิน

[caption id="attachment_52846" align="aligncenter" width="363"] สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด สุรพงษ์ เลาหะอัญญา
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด[/caption]

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตขบวนรถไฟฟ้าราว 2-3 ประเทศ เนื่องจากจะลงทุนซื้อเพิ่มอีกจำนวน 46 ขบวนมาให้บริการในเส้นทางต่างๆที่เปิดให้บริการในปัจจุบันและเส้นทางที่กำลังจะทยอยเปิดให้บริการในเร็วๆนี้

โดยคาดว่าจะลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาทสำหรับการจัดซื้อในครั้งนี้ โดยปัจจุบันขบวนรถที่ให้บริการมีจำนวน 52 ขบวนขบวนละ 4 โบกี้ แต่จะจัดซื้อเพิ่มอีก 7 ขบวน สำหรับให้บริการในเส้นทางปัจจุบัน สำหรับเส้นทางส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างก็จะต้องเตรียมขบวนรถไว้ให้บริการจำนวน 15 ขบวน เช่นเดียวกับเส้นทางส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่เริ่มก่อสร้างแล้วนั้นจะต้องเตรียมขบวนรถไว้จำนวน 21 ขบวน นอกจากนั้นยังเตรียมซื้อเป็นขบวนสำรองอีก 3-4 ขบวน รวมทั้งสิ้นที่จะต้องเร่งจัดซื้อในล็อตใหญ่นี้จำนวน 46 ขบวน

"จะต้องลงทุนครั้งใหญ่ในการจัดซื้อโดยจะใช้งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินจากกองทุนบีทีเอสโกรทไปดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นเงินจำนวนมากหลังจากที่จัดตั้งกองทุนดังกล่าวนี้มานานกว่า 3 ปีแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งเจรจากับจีนและอีก 2-3 ประเทศ เพื่อให้สามารถเร่งการผลิตได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะ 7 ขบวนที่จะนำมาให้บริการในเส้นทางปัจจุบันเนื่องจากมีผู้ใช้บริการหนาแน่นโดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ส่วนที่เหลือซึ่งจะใช้ระยะเวลาการผลิตประมาณ 2 ปี ก็สามารถทยอยส่งมอบจนกว่าจะครบจำนวนให้ต่อเนื่องได้ ปัจจุบันได้มีการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ไปแล้ว 2 รอบ"

ทั้งนี้ปัจจุบันผู้โดยสารที่ใช้บริการทั้ง 2 เส้นทาง พบว่ามีแนวโน้มการเติบโตกว่า 8% โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 9 แสนเที่ยวคนต่อวัน และสถิติสูงสุดที่เคยทำได้ถึง 1.3 ล้านเที่ยวคนต่อวัน เป็นช่วงเกิดเหตุการณ์ชัตดาวน์กรุงเทพฯที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ยังเป็นห่วงเส้นทางสายสีลมที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)ยังไม่เร่งแก้ไขปัญหาช่วงสถานีสะพานตากสินที่ยังเป็นคอขวด ซึ่งเบื้องต้นได้เพิ่มขบวนรถไฟแล้วแต่ยังไม่สามารถเพิ่มความถี่ให้บริการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ พร้อมกับจัดขบวนรถเปล่าเข้าไปเสริมเป็นช่วงๆโดยไม่ได้ตัดช่วงในเส้นทางแต่อย่างใด

"การขยายสถานีสะพานตากสินคือวิธีการหนึ่งที่กรุงเทพมหานครจะต้องเร่งหารือให้ได้ข้อสรุปกับกรมทางหลวงชนบท โดยจะต้องมีการขยายปีกสะพานออกไปทั้ง 2 ด้าน ซึ่งผลสรุปน่าจะแล้วเสร็จในรัฐบาลและคณะผู้บริหารกทม.ชุดปัจจุบันนี้ ส่วนเส้นทางช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน ยังอยู่ระหว่างการผลักดันผลการศึกษาความเหมาะสมและการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559