ความท้าทายที่ผู้นำต้องจัดการ

14 พ.ค. 2559 | 13:00 น.
"วศิน อรดีดลเชษฐ์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ ได้กล่าวถึง 3 ความท้าทายที่ผู้นำในยุคต้องเผชิญ ได้แก่

1. Millennial Workforce
กลุ่มคนที่เกิดในปี 2523 - 2533 กำลังจะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม
การทำงาน โดยในปี 2568 ประมาณ 75% ของแรงงานทั่วโลกคือคนกลุ่มนี้ และสิ่งที่องค์กรจะต้องพบคือ
- ตั้งแต่ปี 2551 - 2556 ประมาณ 87% ของกลุ่ม Millenial ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้บริหาร
- ส่วนใหญ่อายุการทำงานของคนกลุ่มนี้ อยู่ระหว่างมากกว่า 2 - 5 ปี
- คน Gen M มีความจงรักภักดีกับองค์น้อยที่สุด
- ในปี 2563 จำนวน 2 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้ต้องการลาออกจากองค์กร

2. Technology Change การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
เมื่อธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน การพึ่งพากันระหว่างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงมีมากขึ้น เกิดการผลิตสินค้าและบริการที่หลากหลายขึ้น การแข่งขันทางธุรกิจจึงอาจจะไม่ได้แข่งกันแค่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่จะเกิดการแข่งขันข้ามอุตสาหกรรม
เทคโนโลยีจะกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารคน ช่องทางการติดต่อสื่อสารจะเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น การทำงานในส่วนของฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะมีการทำงานผ่าน Smart Machine อภิมหาข้อมูล (Big Data) จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของผู้บริหาร

3. Sustainability Challenge การท้าทายเพื่อความยั่งยืน
การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องเป็นไปในลักษณะยั่งยืน โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า อาทิ การลดปริมาณคาร์บอน การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า และการใช้พลังงานทดแทน
การจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ องค์กรต้องไม่จัดการการเปลี่ยนแปลงตามวาระ แต่ต้องทำให้องค์กรกลายเป็นองค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้นำทุกระดับและทีมจะต้องมีส่วนร่วม โดยผู้นำต้องเลือกที่จะคัดเลือกและโฟกัสเฉพาะจุดคานงัดที่สำคัญแค่บางจุด และทำให้ดีที่สุดจึงจะประสบความสำเร็จ

[caption id="attachment_52326" align="aligncenter" width="500"] ความท้าทายที่ผู้นำต้องจัดการ ความท้าทายที่ผู้นำต้องจัดการ[/caption]

ส่วนหนึ่งที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ คือ "การพัฒนาผู้นำ" ซึ่งแนวทางในการพัฒนาที่ได้ผลจริง เป็นไปในรูปแบบนโยบายแบบเดียวกัน คือการเลือกโฟกัสไปที่จุดคานงัด ซึ่งจากผลการวิจัยของ "ดร. โจเซฟ โฟล์คแมน" ผู้ก่อตั้งบริษัท เซงเกอร์โฟล์คแมนฯ พบว่ามี 6 พฤติกรรมสำคัญที่เป็นจุดคานงัด โดยหากพัฒนา 3 พฤติกรรมจากทั้งหมด ก็จะสามารถทำให้ประสิทธิภาพของผู้นำสูงขึ้นในระดับเดียวกับ 10% ผู้นำโลกที่มีระดับประสิทธิภาพสูงสุด
6 จุดคานงัดผู้นำ (6 Leadership Levers) ได้แก่ นวัตกรรม (Innovation) ความสัมพันธ์ (Relationships), ความมีไหวพริบ (Acumen) แรงบันดาลใจ (Inspiration) วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Vision) และการดำเนินการ (Execution)

ผู้นำทางด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ได้แก่ "ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์" ผู้อำนวยการกลุ่มด้านทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) "ดร.วชิรพันธ์ โชติช่วง" ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ สลิงชอท กรุ๊ป และ "ดร.สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ" กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจด้านการโค้ชและให้คำปรึกษา สลิงชอท โค้ชชิ่งได้ให้มุมมองว่า นักพัฒนาทรัพยากรบุคคลหรือเอชอาร์ในยุคนี้ ต้องมีการคิดแบบกลยุทธ์มากขึ้น การนำเอาความรู้ทางการตลาดไปประยุกต์ใช้ โดยต้องเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร เมื่อเข้าใจธรรมชาติของเขาจึงจะวางกลยุทธ์ได้ดี

ยกตัวอย่าง เช่น ทรูนำ Big Data มาวิเคราะห์ทำให้รู้ว่า 67% ของชาวทรูเป็น Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มที่รับสารผ่านทางสมาร์ทโฟน จึงได้ทำ application ขึ้นโดยมีคน Gen Y เป็นผู้ออกแบบ แอพนี้มีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผลประโยชน์ของพนักงาน เป็นต้น และมีพื้นที่ community ให้สามารถสื่อสารกันได้ และในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการทำ Mini Learning ผ่านเกมใน application โดยพนักงานสามารถนำแต้มจากเกมมาแลกรางวัลได้ด้วย

นอกจากนี้การจัดการช่องว่างระหว่าง generation สามารถทำได้ด้วยการทำความเข้าใจในความต้องการของเขา เช่น Gen Y ต้องการ role model ผู้นำจึงควรทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจและทำตัวเป็นต้นแบบ

สรุปทิ้งท้ายเกี่ยวผลวิจัยอีกนิด สำหรับเอชอาร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีประสิทธิภาพต่ำกว่าอเมริกาเหนือและตะวันออกกลาง แต่สูงกว่ายุโรป อเมริกากลางและใต้ และแอฟริกา ซึ่งจากการวิจัยเอชอาร์อาเซียน 137 คน พบว่า เอชอาร์อาเซียน หากพัฒนาจุดแข็ง 4 ด้าน คือ การพัฒนาผู้อื่น (Develops Others), การสื่อสารอย่างชัดเจนและมีพลัง (Communicates Powerfully and Prolifically), การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น (Builds Relationships) และการสร้างความร่วมมือและการทำงานเป็นทีม (Collaboration and Teamwork) หากพัฒนาสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้พัฒนาเป็นเอชอาร์ระดับยอดเยี่ยมได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559