เปิดไทม์ไลน์ ‘เซ็นทรัล’ กรุยทางสู่เบอร์ 1 ภูมิภาคเอเชีย

07 พ.ค. 2559 | 06:00 น.
การแตะเบรก M&A ธุรกิจในแถบยุโรป และหันมามุ่งเป้าหมายใน CLMV (กัมพูชา/ลาว/เมียนมาร์/เวียดนาม) ของกลุ่มเซ็นทรัล เพราะเป็นเหมือนไข่แดง ใน AEC หากครองความเป็นผู้นำได้ โอกาสสร้างความแข็งแกร่งในแถบเอเชียจึงไม่ใช่เรื่องยาก

ทุ่ม 3.68 หมื่นล.ซื้อบิ๊กซีเวียดนาม

แม้ก่อนหน้านี้ "ทศ จิราธิวัฒน์" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด จะบอกว่า พร้อมจะดิวซื้อธุรกิจไม่ว่าจะมูลค่าเท่าไร เพราะหลักแสนล้านก็เคยซื้อมาแล้ว แต่เบื้องต้นประเมินมูลค่าทรัพย์สินของบิ๊กซี เวียดนามไว้ว่าอยู่ในหลักกว่า 2 หมื่นล้านบาท สุดท้ายการปิดดิวที่ 3.68 หมื่นล้านบาท หรือ 920 ล้านยูโร จึงไม่ใช่ตัวเลขที่สูงเกินรับได้

"เป็นตัวเลขที่ทุกคนรับได้ กลุ่มเซ็นทรัลเรามองว่า ราคานี้ แต่สิ่งที่ได้มาจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าที่คิด เพราะเวียดนามเองตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมาจีดีพีมีการเติบโต 5-8% ทุกปี ขณะที่บิ๊กซีเองแม้จะครองส่วนแบ่งตลาดในค้าปลีกสมัยใหม่ประเภทซูเปอร์เซ็นเตอร์ เป็นอันดับ 2 โดยอันดับ 1 เป็นของรัฐวิสาหกิจ ก็ยังมีโอกาสที่จะขยายและเติบโตได้อีกมาก" หนึ่งในจิราธิวัฒน์ กล่าว

 ซุ่มขยายธุรกิจปี 2556

วันนี้ "กลุ่มเซ็นทรัล" มีสเปเชียลตี สโตร์ ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ส่งไปชิมลางตั้งแต่ปี 2556 โดยเริ่มต้นจากการเปิดร้านซูเปอร์สปอร์ต ในห้างหรูอย่าง "Vincom Center Ba Trieu" ตามด้วยการเปิดร้าน คร็อคส์ (Crocs) และนิวบาลานซ์ (New Balance) ก่อนที่ในปี 2557 จะเปิดห้างสรรพสินค้าโรบินส์ สาขาแรกฮานอย ภายในโรยัล ซิตี้ ซึ่งเป็นเมกะมอลล์ขนาดใหญ่ ในช่วงต้นปี และในปลายปีเดียวกันก็เปิดสาขา 2 ที่โฮจิมินห์ ซิตี้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงกระแสตอบรับที่ดี

การขยับตัวของกลุ่มเซ็นทรัล กลับมาฮือฮาอีกครั้งเมื่อส่งเพาเวอร์ บายเข้าซื้อหุ้น"เหงียน คิม เทรดดิ้ง จอยท์ สต็อค คอมพานี" ยักษ์ค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์อันดับ 1 ของเวียดนาม ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุม 21 แห่งทั่วประเทศ ในสัดส่วน 49% ซึ่งกลายเป็นจิ๊กซอว์สำคัญให้กับกลุ่มเซ็นทรัล ในการรุกธุรกิจในเวียดนาม

เปิดตัวพันธมิตรเหงียน คิม

โดยเฉพาะการร่วมกับกลุ่มเหงียน คิมเข้าซื้อกิจการ บิ๊กซี เวียดนามในครั้งนี้ ความแข็งแกร่งของเหงียน คิม ความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภค การเข้าถึงคู่ค้า การเข้าใจในวัฒนธรรม กฏหมายต่างๆ จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่กลุ่มเซ็นทรัลต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ เช่นเดียวกันประสบการณ์ค้าปลีกที่กลุ่มเซ็นทรัลยืนหยัดมายาวนานกว่า 60 ปี จะช่วยเสริมให้เหงียน คิมเติบโต และก้าวไกลขึ้น

"การผนึกกับพันธมิตรผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่างกลุ่มเหงียน คิม ถือเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จากการต่อต้านกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามได้เช่นกัน เพราะวันนี้ของเวียดนาม ก็ไม่ต่างกับประเทศไทยเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ซึ่งใครๆ ก็สนใจเข้ามาลงทุน และการขยายตัวอย่างรวดเร็วก็จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่การลงทุนครั้งนี้ของกลุ่มเซ็นทรัล มีกลุ่มเหงียน คิม ร่วมเป็นพันธมิตรความขัดแย้ง หรือแรงต่อต้านจึงไม่น่ารุนแรง"

  เล็งเป้าหมาย "เมียนมาร์"

จนถึงปัจจุบัน ถือว่ากลุ่มเซ็นทรัลมีธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ครอบคลุมเกือบทุกเซ็กเม้นท์ มีทั้งซูเปอร์เซ็นเตอร์/ไฮเปอร์มาร์เก็ต ,ดีพาร์ทเม้นท์ สโตร์ และสเปเชียลตี้ สโตร์ ขาดก็เพียงคอนวีเนียน สโตร์ และช้อปปิ้ง มอลล์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเพราะกลุ่มเซ็นทรัลเอง มีความพร้อมในทุกเซ็กเม้นท์ ทั้งจากแบรนด์แฟมิลี่ มาร์ท ,ท็อปส์ และศูนย์การค้าเซ็นทรัล
เส้นทางของกลุ่มเซ็นทรัลต่อไปมีเป้าหมายอยู่ที่ "เมียนมาร์" อีกประเทศที่มีศักยภาพและเปิดกว้างให้นักลงทุนเข้าไป ชนิดใครดี ใครได้ ใครแกร่งอยู่ได้ หากแผนรุกเมียนมาร์คืบหน้า เป้าหมายในการยึด CLMV ของกลุ่มเซ็นทรัลก็สำเร็จ เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มปูพรมเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2557 ด้วยการเปิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พื้นที่กว่า 2 หมื่นตรม. จำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมกว่า 500 แบรนด์ ภายในศูนย์การค้าอีท มอลล์ แกรนด์ อินโดนีเซีย กรุงจาร์กาต้าร์ ส่วนในสปป. ลาว ก็เริ่มเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงแรมแล้วเช่นกัน

"ทศ" ยังบอกว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำว่ากลุ่มเซ็นทรัล มุ่งมั่นที่จะวางแผนขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับยุทธศาสตร์ของกลุ่มเซ็นทรัล กับการปักหมุด 8 ประเทศในฝั่งตะวันตก และ 9 ประเทศในฝั่งตะวันออก ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้ระบุว่าจะรุกคืบไปประเทศใดบ้าง

 เบอร์ 1 ภูมิภาคเอเชีย

แต่หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง "มาเลเซีย" ถือเป็นทำเลทองที่กลุ่มเซ็นทรัลไม่ปล่อยให้รอดมือไป เพราะก่อนหน้านี้ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ส่ง CMG (เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป) เข้าซื้อกิจการ "กลุ่ม HCH" ผู้ประกอบการธุรกิจเสื้อผ้า แฟชั่นในตลาดโลคอล มาเลย์ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าชาย จอห์น มาสเตอร์ (John Master) แบรนด์เสื้อผ้าเด็ก ชายและเด็กหญิง กิโก้ (Kiko) แบรนด์ชุดเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ชวาเซนบาส(Schwarzenbach) แบรนด์เสื้อผ้าเด็กชายและเด็กหญิงสำหรับใส่ออกงานปาร์ตี้ ทรูดี้ แอนด์ เทดดี้ (Trudy & Teddy) และแบรนด์เสื้อผ้าชายกลุ่มพรีเมี่ยม เดอะ คลับ (The Club) ซึ่งได้รับความนิยมและมียอดขายเป็นอันดับ 1

นอกจากนี้กลุ่มเซ็นทรัล โดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ยังทุ่มงบลงทุนกว่า 8.5 พันล้านบาทในการก่อสร้างศูนย์การค้า "เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ มาเลเซีย" ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ ที่เมืองกลังและชาห์อลัม โดยจะเปิดให้บริการในปี 2561

การเดินหน้ารุกขยายธุรกิจในเอเชีย ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะพิสูจน์ความเป็นเบอร์ 1 ของกลุ่มเซ็นทรัลในภูมิภาคนี้ ที่ต้องจับตามอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559