ท่องเที่ยวไทยจะโตได้อีก ถ้าลดภาษีแข่งมาเลย์ สิงคโปร์ l โอฬาร สุขเกษม

04 พ.ค. 2559 | 08:01 น.
ผมทำข่าวมา 30 กว่าปี ดีใจจริงๆ ที่ทราบว่าตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยปี 2558 สูงถึง 2.23 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนมากถึง 16 % ต่อ“จีดีพี” หรือรายได้มวลรวมภายในประเทศ สมัยก่อนเวลาดูรายได้จากการท่องเที่ยวแม้จะโตวันโตคืนเป็นลำดับ นับตั้งแต่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งแคมเปญ โครงการ “อะเมซซิ่งไทยแลนด์” ขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตามรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยมีสัดส่วนเพียง 4 % ของจีดีพีมายาวนานร่วม 20 ปี เลยทีเดียว เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้นไทยในสมัยพลเอก เปรม ก็ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยใหม่ โดยเคยแต่เน้นย้ำแต่อุตสาหกรรมกรรมทดแทนการนำเข้า จับประเทศไทยหันหน้าสู่ยุค “ประเทศไทย 3.0” โดยพัฒนาอุตสหกรรมหนัก ซึ่งยึดอยู่ 2 ประเด็นหลัก คือ พัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกและเหล็ก เพราะขณะนั้นเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ใช้วัตถุดิบหลัก 2 อย่างในการผลิตสินค้าต่างออกมา ถ้าไม่ใช่เหล็ก ก็ พลาสติก และพลเอก เปรม ก็พูดเมื่อเปิดท่อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นครั้งแรกว่า เรากำลังจะ “โชติช่วงชัชวาล” แล้วต่อมาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในไทยก็เกิดขึ้น และเบ่งบานอย่างที่เห็นกันในทุกวันนี้

ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้านั้นเราไปได้ไม่ถึงหวัง แม้ว่าเราจะมีแหล่งแร่เหล็ก เราวางเป้าหมายที่จะตั้งโรงหลอมสินแร่เหล็กขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ทำได้เพียงแต่นำเข้าเหล็กแท่งมาหลอมแล้วมารีดเป็นเหล็กเส้นหรือเหล็กแผ่นอย่างที่ทราบกันในทุกวันนี้ ความจริงแล้วในความพยายามในอดีตนั้นเราก็อ่านอนาคตเหล็กออก เพราะต่างชาติพยายามกว้านซื้อโรงงานถลุงเหล็กและแหล่งแร่เหล็กทั่วโลกเอาไว้ในมือ และมีอิทธิพลสูงในการกำหนดราคาเหล็ก ต่อมาในยุคปัจจุบันนี้โรงงานเหล็กอยู่ในมือจีนเสียส่วนใหญ่ และกำลัง “บีบ” โดยลดกำลังการผลิตเหล็กบิลเล็ต(แหล่งแท่ง)ลง เพื่อดันให้ราคาสูงขึ้น หลังจากจีนทุ่มตลาดเหล็กมา 4-5 ปีติดต่อกัน จนผู้ประกอบการในประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบ ดูตัวอย่างง่ายๆ ในอังกฤษถึงกับล้มละลายกันเลยทีเดียว

เมื่อกลุ่มนักลงทุนด้านอุตสาหกรรมในประเทศได้ปรับตัวเข้าสู่ “เวอร์ชั่น” ใหม่ของประเทศ จากอุตสาหกรรม “ทดแทนการนำเข้า” หันหน้าสู่ “การผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก” ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวอย่างงดงาม จนวันหนึ่งเราบอกว่า “เราจะเป็นเสือตัวที่ 5” ในเอเชีย โดยรายได้หลักของประเทศไทยจากการส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าแปรรูปต่างๆ เติบโตปริมาณมากๆ หลายปีติดต่อกัน แต่การท่องเที่ยวของไทยก็ยังเติบโตแบบ “เกาะกลุ่ม” รักษาระดับ คือมีสัดส่วนต่อจีดีพีไม่เกิน 4 % ขณะที่ การส่งออกสินค้าของไทยมีสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ระหว่าง 70-75 % ต่อจีดีพี

ที่ผ่านมาแม้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตและรักษาสัดส่วนต่อจีดีพีจะดูต่ำไปเมื่อเทียบกับการส่งออก แต่เนื้อในของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นสามารถเชื่อมโยงคนและธุรกิจในสังคมเป็นจำนวนมาก การท่องเที่ยวก่อให้เกิดรายได้ติดตามมาหลายทาง ทั้งเจ้าหน้าที่มัคคุเทศก์ รถยนต์บริการนักท่องเที่ยว ยานยนต์รับจ้าง เครื่องบิน รถไฟ เรือ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ธุรกิจสปา ธุรกิจสถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเครื่องใช้ไม้สอย ธุรกิจอาหารตั้งแต่คนเพาะปลูกจนถึงภัตราคารร้านอาหาร ฯลฯ ล้วนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น

องค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ บอกว่าสถิติตัวเลขนักท่องเที่ยวในไทย ปี 2558 มีนักเท่องเที่ยวมาไทยจำนวน 30 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20% ติดอันดับที่ 11 ของโลก โลกมีเกือบ 200 ประเทศ เรา 11 นี่ถือว่าต้น ๆ แล้ว และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเหมือนกัน จำนวน 1.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เป็นอันดับที่ 6 ของโลกเลย ซึ่งถือว่า เราติดอันดับ 1 ใน 10 ที่มีรายได้เข้าประเทศมาก ขณะเดียวกันสภาพการเดินทางและการท่องเที่ยวโลกอีก ประเมินว่าในปี 2558 นักท่องเที่ยว จะเข้ามาประเทศไทยเป็นอันดับที่ 4 ของโลก เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลกเลยทีเดียว

ผมว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้นถ้าเรา “รักจะให้บริการ” คือ ต้อง “ขจัดมารการท่องเที่ยว” ให้หมดไป พวกมารแท็กซี่ขูดรีด ข่มขู่ ฉ้อโกงผู้โดยสาร พวกมารโก่งราคานักท่องเที่ยว พวกลักเล็กขโมยน้อยตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าที่สนามบินเดี๋ยวนี้ “เผลอเป็นไม่ได้” โดนฉกชัวร์ หรือตามสถานที่พักต่างๆ รวมทั้งก่อเหตุอาญากรรมอยู่เนืองๆ

เราเทียบกับมาเลเซียและสิงคโปร์แล้ว เราเสียเปรียบอยู่อย่างที่สำคัญก็คือ สินค้า “แบรนด์เนม” ของเขาถูกกว่าเรามาก ถูกมากจนถึงขนาดเจ้าของห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ของไทยไทยยังพูดกับผมเลยว่า “ยังฝากซื้อของจากสิงคโปร์กับมาเลเซียมาใช้ในไทย เพราะสินค้าเหล่านี้ในไทยแพงมาก ของเขาถูกกว่าเราเยอะ”

อย่างล่าสุดเป้สนามแบบที่นักเดินทางท่องเที่ยวนิยมกันทั่วโลก ราคาขายที่สิงคโปร์ 7,500 บาท แต่ยี่ห้อเดียวกันรุ่นเดียวกันผลิตจากโรงงานเดียวกันวางขายในไทยราคา 20,000 บาทเศษ ! เขาถูกกว่าเราเพราะภาษีนำเข้าเขาเสียน้อยกว่าเรานั่นเอง และเรื่องนี้ผู้ประกอบการในไทยก็เคยร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ลดภาษี(สินค้าฟุ่มเฟือย)ลงบ้าง แต่ก็ไม่เป็นผล ความจริงแล้ว “สินค้าแบรนด์เนม” ไม่ใช่คนไทย (หัวสูง) เท่านั้นที่ต้องการ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยเขาก็ต้องการด้วยเหมือนกัน ทำไม่กระทรวงการคลังไม่คิดด้านนี้ให้ถ่องแท้ มองจะเอารายได้จากการขายเป็นหลัก ไม่ได้ดูเลยว่าเพื่อนบ้านเขาเก็บภาษีกันเท่าไหร่ แล้วเมื่อพ่อค้าแม่ขายนำสินค้าเหล่านี้เข้ามาวางขายในห้างสรรพสินค้า เขาก็ตั้งราคาขายโดยเอา 4 คูณ ถ้าเป็นแบรนด์ที่เข้มแข็งจริงๆ ถ้าเป็นแบรนด์ดังแต่ทั่วๆ ไปก็เอา 3 คูณ ขายไปพักใหญ่ๆ ก็จัดเซลโปรโมชั่นลดราคา 10-30 % (ก็ยังกำไรอยู่ดี) ขายไม่ได้จริงๆ ก็เอา 2 คูณ ก็ยังกำไรอยู่ดี ผมว่าหากประกาศลดอัตราภาษีสินค้าสินค้าฟุ่มเฟือยลง และไปมองดูภาพรวมแล้ว ผมว่ารายได้รวมจากการจัดเก็บก็จะไม่ลดลงไป เพราะสินค้าจะขายได้ปริมาณมากขึ้น และมีข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้ค่าเครื่องบินต้นทุนต่ำราคาก็ถูก นั่งเครื่องบินไปกลับ 2 รอบ ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมดังแค่ใบเดียว ก็ยังเหลือเงินอีกมากโข

ถ้าหากคิดว่าลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยแล้วประเทศชาติจะพินาศ ก็ให้หันไปแลดูว่ามาเลเซียพินาศจากการลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยแข่งกับสิงคโปร์จริงมั๊ย ? ผมว่าไม่นะ เพราะรายได้จะคืนมาสู่ระบบภาษีผ่านภาษีมูลค่าเพิ่มจากการค้าขายที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

เราได้เปรียบหลายประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องอาหารการกิน เรามีทุกอย่างให้บริการและราคาต่ำสุดๆ เทียบกับบ้านใกล้เรือนเคียงหรือบ้านติดกันกับไทย บ้านเราทั่วๆ ไปอาหารจานเดียว 30-50 บาทอย่างเก่ง แต่เพื่อนบ้านเรา ก๋วยเตี๋ยวชามละ 100-200 บาท ข้าวผัดบ้านเขาจานละ 500 บาท น้ำเปล่าบ้านเราขวดละ 7-10 บาท บ้านเขาขวดละ 40 บาทอัพ เมืองไทยไปตรงไหนก็หาอาหารกินได้สบายมากและตลอดเวลา ถ้าไม่มี “หิวเมื่อไหร่ก็มา” ให้นึกถึง 7 Eleven หมดเงินไม่กี่บาทก็อิ่มแล้ว นี่ถึงเป็นเมืองสวรรค์ไงครับ

บ้านเราอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังโกยเงินได้อีกมาก เรายังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกมากที่ยังพัฒนาไม่ถึงระดับ ไม่ได้พัฒนาให้ทันสมัย จะว่าไปแล้วอะไรที่เป็นไทย ล้วนแต่ขายได้ทั้งนั้น แม้แต่ “หมู่บ้านชนบทกับควายไถนา” ทำให้ดีๆ คนก็อยากไปเที่ยวแล้ว อยากไป “เซลฟี่” สักครั้ง เดี๋ยวนี้ก็เห็นคนไทยลงทุนประดิษฐ์คิดสรรค์หาสิ่งใหม่ๆ นำมาเสนอ บ้างก็ไปก็อปปี้เมืองนอกเขามา บ้างก็ทำแบบทุนน้อยแต่คนก็ยังไปเที่ยวกันตรึม ไม่ใช่แต่นักท่องเที่ยวต่างประเทศเท่านั้น คนไทยเองก็เที่ยวไทยเช่นกัน ดูสิครับ จังหวัดอุดรธานีมีสวนน้ำ(สวนสนุก)มากถึง 5 แห่งเข้าไปแล้ว บอกใครๆ จะเชื่อ ยิ่งถ้าพูดถึงจุดหลักๆ เมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ พัทยา ชลบุรี ภูเก็ต หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เขาใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่อย่างก้าวหน้า

ท้ายนี้ก็อย่าเพิ่งดีใจใหญ่ไปเมื่อเห็นสัดส่วนการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ประเทศมากถึง 16 % เทียบกับจีดีพี เพราะ4-5 ปีมานี้ แม้การท่องเที่ยวจะโตขึ้นมากๆ แบบทันตาเห็นก็จริง แต่รายได้ของการส่งออกไทยกลับหดตัว บางเดือนก็ติดลบ และติดลบหลายเดือนติดต่อกันด้วย เป็นอย่างนี้มา ตั้ง 3-4 ปีแล้วเช่นกัน นี่หากการส่งออกของไทยไม่สะดุด คือ ส่งออกขยายตัวอย่างคงเส้นคงวาปีละ 20—25 % เหมือนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา (ยุคสุดท้ายของการส่งออกเฟื่องฟูสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ส่งออกขยายตัว 25-27 %) ผมว่าการท่องเที่ยวไทยก็ยังคงรักษาระดับคือ แค่ 4-5 % เท่าเดิมหล่ะครับ หรืออย่างเก่งก็เติบโตขยายตัวมากกว่าเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อมองเทียบกับจีดีพีของประเทศในสถานการณ์แบบปรกติ ครับ