เศรษฐกิจครึ่งแรกไม่ถึง 3% ครึ่งปีหลังยังมีโอกาส

29 เม.ย. 2559 | 04:00 น.
ช่วงต้นปี ทำท่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว แต่หลังผ่านมาเพียง 2 เดือน หน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจต่างพร้อมใจหั่นเป้าเศรษฐกิจลงมาอยู่ในระดับตํ่ากว่า3% หรือ 3% ปริ่มๆ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 1 ปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์ จะแถลงในวันที่ 16พฤษภาคม 2559

ดังนั้นเพื่อสะท้อนภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและแนวโน้มที่เหลือ ให้ได้ใกล้เคียงความน่าจะเป็นมากที่สุด "ฐานเศรษฐกิจ" ถือโอกาสนี้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. เพื่อฉายภาพดังกล่าว....

ศก.โลกข่าวร้ายต้นปี

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก อาจต่างไปจากที่สภาพัฒน์คาดไว้ โดยผลของความผันผวนที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก เพราะเดิมทีเราคิดว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกาศแล้วว่าฟื้นถึงจุดที่ต้องปรับนโยบายการเงินโดยขึ้นอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจโลกจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี ราคาน้ำมันเริ่มปรับขึ้น แต่มาเดือนมกราคม -กุมภาพันธ์ 2559 ก็มีเรื่องของเศรษฐกิจจีนปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยน จนสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลก

อย่างไรก็ดีสศช.มองว่าเศรษฐกิจโลกยังเติบโตตามตัวเลขที่เคยประมาณการไว้ได้อยู่ คืออาจจะต่างไม่มาก เพราะตอนแรกเราก็ดิสเคาต์นิดหน่อยไว้ต่ำกว่าไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ)ประเมินอยู่แล้ว ของเรามองทั้งปีเศรษฐกิจโลกยังโตเฉลี่ยที่ 3.3% แต่ไอเอ็มเอฟ ล่าสุดปรับมาอยู่ที่ 3.2% ดังนั้นจึงไม่กระทบ ต้องรอดูในช่วงของครึ่งปีหลังว่า เศรษฐกิจโลกจะกลับมาในภาพที่เราเคยคาดไว้หรือไม่ เพราะสหรัฐฯก็ยังประกาศว่าภายในปีนี้จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 หน ก็แสดงว่าเขามองเศรษฐกิจจะแรงขึ้นกระเตื้องขึ้นในครึ่งปีหลัง

 ปรับเป้าส่งออกลดลง

ส่วนจีนแรก ๆในต้นปีคนกลัวว่าจีนจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจและจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่ตอนหลังเริ่มนิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของเงินทุนไหลออกและภาพเศรษฐกิจ สัญญาณที่ว่าชะลอลงแรงแต่ก็ยังเติบโตในอัตรา 6.5% ซึ่งไม่ต่างจากที่สศช.ประเมิน ดังนั้นความน่ากลัวหลัง ๆก็น้อยกว่า โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ที่ส่งออกของจีนหดตัวถึง 25.4% แต่พอเดือนมีนาคม ก็กลับมาเป็นบวก 11.5 %

ภาพตรงนี้ก็ส่งผลให้ส่งออกไทยในเดือนมกราคม ติดลบถึง 8.9% แต่มาเดือนกุมภาพันธ์ ก็มีเรื่องทองคำ ทำให้ส่งออกไทยกลับมาเป็นบวก 10.27 % ซึ่งต้องมาดูเป้าส่งออกทั้งปีที่อาจจะต่ำกว่าที่เราเคยคิดไว้ว่าจะฟื้นตามเศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจโลกจะเข้ามาช่วยหนุนให้เร็ว

อนึ่งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 สศช.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2559 จะขยายตัวในกรอบ 2.8-3.8 % หรือที่ค่ากลาง 3.3 % โดยที่มูลค่าส่งออกทั้งปีขยายตัว 1.2%

" ถ้าส่งออกจีนกลับมาเป็นบวกเดือนมีนาคมได้ ส่งออกของไทยเดือนมีนาคม ก็น่าจะปรับดีขึ้นต่อเนื่องได้ ( กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกเดือนมี.ค.59 ขยายตัว 1.3% และไตรมาส 1/2559 ขยายตัว 0.9%) หากเป็นเช่นนั้นก็จะเห็นสัญญาณเชิงบวก โดยสศช. จะแถลงปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่ในวันที่ 16 พฤกษาคมนี้ "

 เชื่อ CLMV กระทบไทยไม่มาก

เลขาธิการ สศช. ยังกล่าวถึงตลาดส่งออกไทยไปยังประเทศใน CLMV (กัมพูชา ,สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม ) ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดราว 9.6% ของตลาดส่งออกไทย และเริ่มหดต่อเนื่อง โดยเดือนกุมภาพันธ์ ลบ 5.8% ,เดือนมีนาคม ลบ 6.9 % และในไตรมาส 1/2559 ส่งออกไทยไป CLMV ลบถึง 4% ว่า กลุ่มประเทศ CLMV จะนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค สินค้าขั้นกลางและพวกวัสดุก่อสร้างจากไทย ดังนั้นย่อมส่งผลกระทบบ้างแต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลมาก เพราะถ้าดูจากไส้ใน ที่ลดลงก็คือส่งออกไทยไปกัมพูชาซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันที่ปรับลด แต่สินค้าอื่นที่ไทยส่งออกไปก็ยังเป็นบวก

ท่องเที่ยว-ศก.สหรัฐฯ ยังหนุน

นอกเหนือจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มว่าทั้งปีจะต่ำกว่าที่สศช. เคยคาด แต่ด้านอื่นๆที่สูงกว่าก็ยังมี เช่นด้านท่องเที่ยว เดิมสศช.คาดไว้ไม่เยอะ คือจากตัวเลขนักท่องเที่ยว 30 ล้านคนเมื่อปี 2558 ก็ยังบวกเพิ่มขึ้น 7-8% แต่มาเดือนมกราคม –กุมภาพันธ์ 2559 เติบโต 15-16% ดังนั้นในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวก็ยังเป็นตัวที่ดีกว่าที่คาดไว้

ในส่วนของการใช้จ่ายของภาครัฐบาล ก็เป็นอีกตัวที่ใช้จ่ายได้ดี มาตรการกระตุ้นที่ใช้ไม่ทันและชะลอจากเดือนธันวาคม2558 แต่พอมาเดือนมีนาคม 2559 ก็เห็นผล โดยเฉพาะที่ลงไปในรากหญ้า และถ้ามองภาพของครึ่งปีหลัง ก็ยังอยู่ในภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวเร่งขึ้นได้ ราคาน้ำมัน ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น อันนั้นจะเป็นบวกสำหรับประเทศไทยได้

ภาครัฐยังเป็นตัวหลักพยุงศก.

ในส่วนของรัฐบาลเองก็ยังมีบทบาทสำคัญ เพราะในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็ยังคล้ายกับปีที่แล้วอยู่ที่ว่า เศรษฐกิจโลกยังไม่ช่วยมาก ภัยแล้งยังมีอยู่ ซึ่งในปีที่ผ่านมารัฐก็ยังต้องพยุงเศรษฐกิจ ในปีนี้ครึ่งปีแรกก็เช่นกัน นโยบายภาครัฐในด้านการเงินการคลังยังต้องช่วยเศรษฐกิจ และช่วงปีหลังถ้าภาครัฐลงทุนได้มากขึ้น เดินหน้าได้มากขึ้นเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ก็อาจจะผ่อนคลาย

" ในเดือนเมษายน มาตรการที่จะออกมาทดแทนหรือมาช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯหลังจากมาตรการภาษีการโอน/จดจำนองจบลง ก็จะเป็นมาตรการสินเชื่อ ซึ่งรัฐก็คงดูแล้วล่ะว่าในส่วนของความต้องการของประชาชนเพื่อซื้อบ้านยังมีอยู่ และที่ดูก็เห็นว่ามาตรการที่ออกไป (โครงการบ้านประชารัฐ ) มีประชาชนมาใช้เยอะ อันนี้จะมาช่วยในเรื่องของอสังหา ฯ เรื่องการระบายสต๊อกบ้าน ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ ซึ่งถือว่ารัฐออกตัวได้เร็วมาก "

  ครึ่งแรกไม่ถึง 3% ลุ้นครึ่งหลัง

ส่วนประเด็นมุมมอง สศช. ต่อกรณีที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้องการผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้โตให้ได้ 3% ดร.ปรเมธี กล่าวว่า ปัจจัยที่จะมาสนับสนุนครึ่งปีแรก อาจไม่เห็นที่ 3% อย่างที่กล่าวว่ายังมีเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่พร้อม แต่ไล่มาหากมองในครึ่งปีหลังก็เห็นเศรษฐกิจโลกมีโอกาสปรับดีขึ้น ภัยแล้งที่ยาวมาถึงปีนี้ และจากข้อมูลน้ำและข้อมูลอากาศ เดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ก็น่าจะสิ้นสุดภัยแล้งแล้ว

ส่วนมาตรการภาครัฐก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในหลาย ๆมาตรการเช่นมาตรการสินเชื่ออสังหา ฯ หรือในระดับโครงการเช่น โครงข่ายระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ที่รัฐได้จัดงบประมาณลงทุนเพิ่มเติมให้ไอซีที (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร )โดยทีโอที และ กสท.โทรคมนาคม วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ,มาตรการที่ลงในระดับพื้นที่หมู่บ้าน อำเภอ รวมถึงมาตรการรัฐที่ทยอยใช้อยู่ในปีนี้ 4 แสนล้านบาทในปีนี้ จะเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาวะนี้

 ปรับเป้าศก. ลงที่ระดับ 3% เล็กน้อย

ส่วนว่าการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจกลางเดือนหน้านี้ สศช. จะปรับเป้าเศรษฐกิจลงเป็นเท่าไรจากกรอบปัจจุบันที่ 2.8-3.8 % หรือค่ากลางที่ 3.3 % เลขาธิการสศช. ออกตัวว่า ต้องรอดูอย่างที่บอกว่า บางตัวดูเมื่อต้นปีอาจต่ำกว่าเป้า เช่นเรื่องส่งออกไทย แต่บางตัวกลับสูงกว่าเป้า เช่นการท่องเที่ยว , มาตรการภาครัฐ และส่วนที่รัฐเพิ่มเข้ามา อาทิ งบลงทุนวางโครงข่ายระบบอินเตอร์เน็ต วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

แต่บางส่วนที่เพิ่มเติมเช่นงบ 3 หมื่นล้านบาท ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะกระตุ้นรากหญ้าอะไร รวมถึงมาตรการสินเชื่ออสังหาฯที่ปล่อยกู้ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เรื่องเศรษฐกิจโลก ต้องนำมาคำนวณหาตัวเลขกันใหม่

"สิ่งที่สศช.ปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ คือช่วงต้นปีเราจะโฟกัส โดยมีช่วงห่าง (range) ประมาณ 1% ( 2.8 -3.8% ) เพราะทุกปีเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาจะมีความผันผวนเยอะที่เราจะมาดูกันทั้งปี แม้แต่ดินฟ้าอากาศก็ยังมีเรื่องเซอร์ไพรส์ให้เห็นทุกปี

แต่ถ้าเป็นประมาณการในช่วงกลางปี range จะอยู่ที่ 0.5% เพราะเห็นว่าผ่านมาครึ่งปีพอจะเห็นอะไรได้บ้าง ดังนั้นการปรับคราวหน้า ( 16 พ.ค. ) ก็จะปรับ range ลง โดยจะปรับจากกรอบบนลงมากกว่า (ผู้เขียนคำนวณจาก range 0.5% คาดที่ 2.8-3.1% )อย่างที่บอกว่าเศรษฐกิจโลกชะลอ ไม่ได้วิ่งเต็มที่มาตั้งแต่แรก

ส่วนคำถามที่จะเศรษฐกิจไทยจะโตระดับ3% ได้หรือไม่ ? ผม ใช้คำว่า"ยังมีโอกาส " ดีกว่า เพราะในความผันผวนของเศรษฐกิจโลกก็ยังมีอยู่ เรื่องของการเมือง ,ความขัดแย้ง ( conflict )ในที่ต่าง ๆ ,และภัยธรรมชาติ ฯลฯ แต่มีความเป็นไปได้ว่าปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว

  แจงความต่าง GNP vs GDP

ดร.ปรเมธี ยังให้ความเห็น ต่อกรณีที่ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอให้นำ "GNP :Gross National Product" มาเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาว่า

ที่ผ่านมาสศช.ได้จัดทำรายงานข้อมูลทั้ง จีดีพี (GDP: Gross Domestic Product) และ จีเอ็นพีอยู่แล้ว และได้มีการรายงานพร้อมๆ กับที่รายงานจีดีพีครบทั้งปีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามในเชิงของนโยบายยุทธศาสตร์ "จีเอ็นพี" จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในแง่ยุทธศาสตร์ที่ประเทศได้ส่งเสริมนักธุรกิจไทยไปลงทุน หาโอกาสและสร้างรายได้จากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่ง จีเอ็นพี จะเป็นตัวชี้วัดในเชิงฐานนโยบายความสำเร็จ ขณะที่"จีดีพี " สะท้อนการผลิตในประเทศ เชื่อมโยงเรื่องการจ้างงาน และการว่างงาน

" ในเรื่องเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะดูตัวเลข"จีดีพี" และที่ผ่านมาเราก็ไม่ใช่ เป็นประเทศที่ "จีดีพี" และ "จีเอ็นพี" จะต่างกันมาก คือ คือต่างชาติมาผลิตในประเทศเรามากกว่า คนไทยไปผลิตหรือไปค้าขายทำธุรกิจในประเทศอื่น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559