‘ออมสิน’จี้หาที่สร้างบขส.ใหม่ แนะปลดล็อกข้อจำกัดสเปกที่ดินให้เสร็จภายใน 90 วัน

29 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
"ออมสิน" จี้ บขส.เร่งจัดหาพื้นที่สร้างสถานีขนส่งแห่งใหม่ แนะปรับลดขนาดที่ดินหลังล่าช้าแม้เปิดให้เอกชนเสนอที่ดิน 3 รอบแล้วยังไม่ได้ตรงตามสเปก มีลุ้นมจธ.ศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันหวังปลดล็อกข้อจำกัดขยายพื้นที่โครงการจัดหาที่ดิน ล่าสุดบอร์ดร.ฟ.ท.เห็นชอบให้เปิดโต๊ะเจรจาค่าเช่าที่ดิน 16 ไร่ ย่านสถานีกลางบางซื่อแล้วหลังอึมครึมมานานข้ามปี

[caption id="attachment_48715" align="aligncenter" width="353"] ออมสิน ชีวะพฤกษ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ออมสิน ชีวะพฤกษ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม[/caption]

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการจัดหาที่ดินก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่ทดแทนสถานีขนส่งหมอชิตที่ใช้งานในปัจจุบันภายหลังจากที่บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) ดำเนินการจัดหาโดยเปิดโอกาสให้เอกชนในพื้นที่โซนรังสิตเสนอที่ดินให้บขส.พิจารณา โดยดำเนินการมาแล้ว 3 ครั้งก็ยังไม่ได้ที่ดินตรงตามคุณสมบัติ

ล่าสุดนั้นบขส.ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) ศึกษาความเป็นไปได้โครงการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่ แทนสถานีขนส่งผู้โดยสารจตุจักรในปัจจุบันที่มีแผนย้ายออกจากพื้นที่ย่านพหลโยธินภายในปี 2560 นี้

"บขส.ต้องการไปจัดหาที่ดินโซนเหนือของกรุงเทพฯย่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งจากกรณีประกาศไปแล้วหลายครั้งก็ยังไม่ได้ที่ดินตรงตามคุณสมบัติ หากจัดซื้อที่ดินผืนเดียว 80 ไร่ตามที่ต้องการแล้วยังหาที่ดินขนาดดังกล่าวไม่ได้ ควรจะลองหาพื้นที่จอดรถไฟยังสถานที่อื่น แล้วนำพื้นที่ที่จัดหาได้สร้างเป็นเทอร์มินัล ขนาดพื้นที่ 40-50 ไร่ก็น่าจะเพียงพอ รูปแบบนี้ให้บขส.ไปพิจารณาดูว่าจะง่ายกว่าที่กำหนดไว้ว่าที่ดินต้องขนาด 80 ไร่"

ด้านนายนพรัตน์ การุณยะวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารการเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่ากรณีว่าจ้าง มจธ. ศึกษาความเป็นไปได้โครงการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่ แทนสถานีขนส่งผู้โดยสารจตุจักรนั้นมีระยะเวลาการศึกษา 90 วันนั้นต้องการให้มจธ.ขยายพื้นที่ออกไปจากเดิมสิ้นสุดแค่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเท่านั้น เนื่องจากขอบข่ายเดิมพบข้อจำกัดมากมายที่ไม่สามารถจัดหาที่ดินได้ตรงตามคุณสมบัติที่ระบุไว้ในทีโออาร์ โดยมีระยะเวลาดำเนินการศึกษาภายใน 90 วันเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา

"มจธ.จะเป็นผู้ชี้ชัดให้กับบขส. ซึ่งตามระเบียบราชการจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด หากผลการศึกษาของมจธ.ระบุออกมาอย่างไรบขส.ก็จะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วต่อไป แม้ว่าบขส.จะมีความพยายามมาแล้วทั้ง 3 ครั้งแต่ก็ยังไม่ได้ที่ดินตรงตามคุณสมบัติถึงแม้ว่าจะมีผู้เสนอที่ดินให้พิจารณาหลายรายแล้วก็ตาม ประกอบกับด้วยสภาพพื้นที่ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ส่งผลให้การจัดหาพื้นที่มีข้อจำกัดมากขึ้นซึ่งหากปลดล็อกในครั้งนี้ได้คาดว่าจะสามารถจัดหาที่ดินได้หลายพื้นที่ทั้งย่านพหลโยธินและย่านอื่นๆตามที่มจธ.ระบุไว้"

ทางด้านความคืบหน้า กรณีบขส.ขอเช่าที่ดินของร.ฟ.ท.ย่านสถานีกลางบางซื่อเพื่อก่อตั้งสถานีย่อยให้บริการผู้โดยสารที่ใช้บริการสถานีกลางบางซื่อ โดยมีพื้นที่ประมาณ 16 ไร่นั้นทั้งนี้ตามระเบียบของ บขส.กรณีจะเช่าที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งจะต้องกำหนดระยะเช่าไม่น้อยกว่า 20 ปี ตามพ.ร.บ.การขนส่ง เบื้องต้นยังไม่ได้มีการเจรจาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)กับบขส.แต่อย่างใด

"หลังจากที่คณะกรรมการ(บอร์ด)ร.ฟ.ท.อนุมัติให้เปิดการเจรจาร่วมทั้ง 2 ฝ่ายแล้วหลังจากนี้ก็จะเห็นความชัดเจนด้านขนาดพื้นที่และอัตราค่าเช่าที่ดิน หลังจากนั้นบขส.จะนำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด)ของบขส.พิจารณาต่อไป แต่ในเบื้องต้นร.ฟ.ท.จะต้องหาพื้นที่แห่งใหม่ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จอดให้เรียบร้อยก่อนที่จะส่งมอบพื้นที่ 16 ไร่ให้บขส.พัฒนาเป็นสถานีย่อยโดยเร็วต่อไป"

ทั้งนี้นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ ประธานกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่(ซีอีโอ)คนใหม่ว่า จากที่ได้ยกเลิกการสรรหาเข้ารับตำแหน่งเป็นรอบที่ 2 ไปเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาทั้งสิ้นจำนวน 4 รายนั้น แต่ยังไม่มีผู้สมัครตรงตามคุณสมบัติ ดังนั้นจึงได้เปิดรับสมัครเป็นรอบที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 4-27 เมษายนนี้

"ในการเปิดการสรรหาครั้งที่ 3 นี้คณะกรรมการสรรหาได้ปรับลดคุณสมบัติหลายประการ อาทิ ในกรณีเป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารองค์กรภาคเอกชนต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า 2 ระดับถัดจากผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาทต่อปี จากเดิมกำหนดไว้ในระดับ 1 และมีรายได้ 1 พันล้านบาท ส่วนกรณีเป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรของรัฐต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า 2 ระดับ ถัดจากผู้บริหารสูงสุดขององค์กร และปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันยื่นสมัคร ซึ่งครั้งที่ 3 นี้คาดว่าจะมีผู้สนใจมาสมัครมากขึ้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา"

สำหรับผู้สมัครสรรหารอบที่ 2 จำนวน 4 รายที่ผ่านมานั้นประกอบไปด้วย 1.นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีไทย-เยอรมัน 2.นายจุมพล เด่นเมฆา รองผู้อำนวยการด้านธุรกิจสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีเครื่องประดับแห่งชาติ 3.นายวีรศักดิ์ พรหมภักดี ทนายความ-นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จ.สกลนคร 4.ดร.พีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ปัจจุบันทำหน้าที่รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559