ลุ้นใครคว้าไลเซนส์ AIS ต้องได้ TRUE ว่าไง หลัง Dtac ถอยชิงคลื่น 900

28 เม.ย. 2559 | 05:00 น.
ออกมาประกาศตัวชัดเจนแล้วสำหรับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือ ดีแทค ไม่ร่วมประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 จี ย่านความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์

[caption id="attachment_48699" align="aligncenter" width="700"] ไทมน์ประกาศ คสช. ประมูลคลื่น 900 ไทมน์ประกาศ คสช. ประมูลคลื่น 900[/caption]

ปล่อยให้อีก 2 ค่ายมือถือ คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น ในเครือ เอไอเอส และ บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือทรูฯ เปิดศึกชิงคลื่นระหว่างกันและก็ไม่ชัวร์ด้วยว่าจะมีค่ายใดค่ายหนึ่งถอยไม่ร่วมประมูลเหมือน"ดีแทค"หรือไม่

 ชี้มีคลื่นถึง 50 เมกะเฮิรตซ์

ไม่เหนือความคาดหมายว่า ดีแทค ไตรเน็ต จะถอยออกสนามประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ครั้งนี้ เพราะได้ส่งสัญญาณตั้งแต่แรกแล้วหลัง กสทช เปิดประมูลคลื่นความถี่ 900 ชุดที่ 1 ใหม่ (Re-auction) เนื่องจากว่า ดีแทค เสนอราคาประมูลขั้นต่ำ (Reserve Price) ควรกำหนดที่ราคา 16,080 ล้านบาทเท่ากับการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ คราวก่อน (ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ราย) ซึ่งโดยวิธีนี้ จะเป็นการประมูลแข่งขันที่จะเป็นการกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ชุดที่ 1 ที่แท้จริงและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ส่งเมล์ถึงสื่อมวลชนว่า ปัจจุบันนี้ ดีแทค มีชุดคลื่นความถี่ทั้งหมดจำนวน 50 เมกะเฮิรตซ์ ที่ถือครองมากพอสำหรับการให้บริการดิจิตอลสำหรับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ดีแทคจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามเพื่อความมั่นใจในการเติบโตอย่างยั่งยืน ดีแทค มุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตของฐานลูกค้าก่อนที่จะมีคลื่นความถี่ตามชุดที่ถือครองหมดสัมปทานประมาณปี 2561 เพิ่มเติมจากคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่ดีแทค ยังถือครองใบอนุญาตซึ่งมีอายุใช้งานถึงปี 2570

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการทุกรายและการใช้งานดิจิตอลของลูกค้า คลื่นความถี่ต่างๆ ควรถูกนำออกมาประมูลล่วงหน้าก่อนที่จะหมดอายุสัมปทาน เพื่อไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญเช่นนี้ โดยจำเป็นต้องมีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum roadmap) ซึ่งภาครัฐสามารถใช้ในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ ด้วยความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อการสร้างรากฐานที่ยั่งยืนสำหรับธุรกิจโทรคมนาคม

ทุ่มขยาย Super 4จี

นอกจากนี้ นายลาร์ส ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จำนวนคลื่นความถี่ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น ดีแทค กำลังจะขยายเครือข่าย Super 4G บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ด้วยแบนด์วิดธ์ที่เพิ่มจาก 15 เมกะเฮิรตซ์ เป็น 20 เมกะเฮิรตซ์ ในพื้นที่กรุงเทพฯเพื่อเพิ่มความเร็วในการใช้งานมากขึ้นกว่าเดิมประมาณกลางปีนี้ ซึ่งเป็นโครงข่ายที่แบนด์วิดธ์กว้างรองรับได้ในคลื่นเดียว (Single network) นอกจากนั้นดีแทคยังพร้อมให้บริการ 4จี บนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ทั้ง 878 อำเภอทั่วไทยภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และ Super 4จี บนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทยราวกลางปีนี้อีกด้วย

"เอไอเอส" รับซองรายแรก

หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ออกคำสั่งมาตรา 44 ให้เปิดประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ใหม่ และ ขยายมาตรการเยียวยาคุ้มครองลูกค้า 900 ของ เอไอเอส ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ปัจจุบัน เอไอเอส มีลูกค้าที่ยังใช้งานเครือข่าย 2จี ประมาณ 2.5 แสนราย จาก 4 แสนรายในเดือนที่ผ่านมา ส่วนลูกค้าที่โรมมิ่งมาใช้งานจะอยู่ที่ 7 ล้านราย

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมาเอดับบลิวเอ็น ได้เข้ามารับคำขอใบอนุญาตการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จาก กสทช.อย่างเป็นทางการแล้ว

ก่อนหน้านี้ นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เรื่องของการเข้าร่วมประมูล ต้องนำเอกสารเงื่อนไขการประมูลที่ทาง กสทช. ส่งให้ เข้าประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ก่อนเพื่อตัดสินใจว่าจะเข้าประมูล หรือไม่อย่างไร พร้อมกับทำแผนธุรกิจ และนำสถานการณ์ต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อให้บอร์ดตัดสินใจ

"การตัดสินใจไม่เคาะราคาต่อในการประมูลครั้งที่ผ่านมาถือว่าไม่ผิดพลาด เพราะในเวลานั้นถ้าได้มาในราคาที่วางไว้ก็ยินดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เสียใจเพราะเป็นไปตามแผนธุรกิจ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก วันนี้เมื่อประกาศราคาว่าจะไม่ต่ำกว่านี้ จึงเหมือนเป็นบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป" นั่นคือคำบอกเล่าของ สมชัย

 “เอไอเอส” เอาคลื่นชัวร์!

เป็นเพราะก่อนหน้านี้ เอไอเอสได้ยื่นข้อเสนอไปยัง กสทช. หลังบริษัทแจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่ชำระค่าคลื่นความถี่ เอไอเอส ได้ยื่นข้อเสนอที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ในล็อตที่ 1 จำนวนเงิน 75,654 ล้านบาทก่อนยื่นศาลให้คุ้มครองการเยียวยาออกไปอีกครั้ง

นั่นแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า “เอไอเอส” ต้องการคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ในล็อตที่ 1

“เราได้มีการอธิบายต่อศาลว่า รัฐจะได้ประโยชน์จากการคุ้มครองดังกล่าวเพราะได้เงินที่เกิดจากการให้บริการคลื่น2จี และ เอไอเอส ก็พร้อมที่จะชำระเงิน75,654 ล้านบาท เพื่อนำคลื่นมาให้บริการแก่ลูกค้า ก่อนจะมีคำสั่งจาก คสช.ออกมา” นั่นคือคำบอกเล่าของ “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ซีอีโอ ของ เอไอเอส

ทรูมูฟ เอช รับซองเอกสาร

ถัดจากนั้นเพียง 1 วัน คือวันที่ 19 เมษายน บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เข้ามารับซองเอกสารประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดบริษัทก่อนว่าจะเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ หรือ ไม่
อย่างไรก็ตาม ทรูมูฟ เอช ได้ชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ชุดที่ 2 ในราคา 76,298 ล้านบาท

งานนี้เอไอเอสต้องได้ แล้วทรูจะสู้หรือไม่ เพราะได้คลื่นความถี่ 900 ชุดที่ 2 ไปครอบครองแล้ว รวมทั้งคลื่น 850,1800 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์

ส่วนเอไอเอสมีแค่เพียง 1800 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น

 เปิดหลักเกณฑ์การประมูล

สำหรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 75,654 ล้านบาทเคาะราคาครั้งละ 152 ล้านบาท เงินวางหลักประกันในการประมูลอยู่ที่ 3,783 ล้านบาท ถ้ามีผู้ร่วมประมูลเพียงรายเดียวให้ยืนยันการเคาะราคาเดิม

ในด้านการชำระเงินยังกำหนดเหมือนเดิม แบ่งการชำระเงินออกเป็น 4 งวด เป็นเวลา 4 ปี ปีแรกอยู่ที่ 8,040 ล้านบาท ปีที่ 2 และ ปีที่ 3 ปีละ 4,020 ล้านบาท และ ปีสุดท้ายชำระส่วนที่เหลือทั้งหมด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559