GRAND CENTARL STATION : BANG SUE 'ศูนย์คมนาคม : พหลโยธิน' สนข. กับกระทรวงคมนาคม-รถไฟไทย

26 เม.ย. 2559 | 14:00 น.
บทความนี้ต้องมีจั่วหัวยาว ก็เพราะมีผู้สนใจเยอะ มีข้อแนะนำมากมาย อาทิ ควรจะชื่อ "BANGKOK GRAND CENTRAL STATION" หรือ "BANG SUE" หรือจะเรียกว่า "ศูนย์คมนาคม" พหลโยธิน

เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมโดย สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) ได้จัดให้มีการสัมมนาทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน ที่เรียกว่า Market Sounding ภาคเอกชนสนใจแค่ไหน เพราะการลงทุนในสาธารณูปโภคหลัก และรอง ในประเทศและท้องถิ่น ต้องการให้เอกชนเข้ามามีบทบาทร่วม ที่เรียกกันว่า "PPP" (Public Private Partnership) ราชการไม่สามารถจะลงทุนทั้งหมด แต่ละแห่ง แต่ละจังหวัด ท้องถิ่นมีความรู้ดีว่า "มีความต้องการอย่างไร เมื่อไร"

"GRAND CENTRAL STATION" จะเรียกว่า บางซื่อ หรือ Bangkok ก็ได้ มีความสำคัญยิ่งกับประเทศไทย เพราะจะเป็นสถานีกลางไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ของ AEC ภาคพื้นดินด้วย CLMV รวมทั้งจีน สิงคโปร์ ก็จะต้องมาใช้เป็น Network เชื่อมต่อลงทะเล จะมีผู้มาใช้ ทั้งสัญจรและท่องเที่ยวและธุรกิจ วันละประมาณ 2 ล้านคน ใน 10 ปีข้างหน้า (น้องๆ) สถานีโตเกียว 3 ล้านคน ใหญ่สุดในเอเชีย

พื้นที่โดยรวมควรจะมีการพัฒนาเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ รอบสถานีขนาดใหญ่ "การพัฒนาที่ดินรอบสถานี" เป็นทฤษฎีที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบัน เรียกกันว่า TOD (Transit Oriented Development) กรุงเทพอภิมหานครของเรากำลังมีประชากรร่วม 12-15 ล้านคน นักท่องเที่ยวอีก 20-30 ล้านคน กำลังจะปรับผังเมืองจาก"ระบบรถมาเป็นระบบราง" (Car to Rail) เหมือนประเทศขนาดกลางในยุโรป และในญี่ปุ่น รัฐบาลกำลังลงทุนสาธารณูปโภคการขนส่งหลักใน กทม. เป็น Mass Transit 10 +อีก 3 สาย ให้ท้องถิ่นร่วมทำ ใช้เงินลงทุนใน 10-15 ปี ข้างหน้าประมาณ 2 ล้านล้านบาท

พื้นที่รอบสถานีกลางแห่งนี้จะเป็น"ต้นแบบของ TOD ในประเทศ ซึ่งกระทรวงคมนาคม สนข. และรถไฟ จะร่วมมือกับท้องถิ่น นำ PPP มาใช้ที่บางซื่อ มีพื้นที่ของรถไฟร่วม 2,300 ไร่ ใหญ่มากในเมืองใหญ่ มีการวางแผนระหว่างกระทรวงคมนาคม สนข. และการรถไฟฯ จัดเป็นมาสเตอร์แพลน มีรูปแบบชัดเจน แบ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางขนส่ง สวนสาธารณะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และตลาดนัดจตุจักร (ที่ดังที่สุด) ประมาณ 50-60% ที่เหลือเป็น"เชิงพาณิชย์" แบ่งเป็น 5 โซนใหญ่ โซน A ติดสถานีกลางบางซื่อ ประมาณ 35 ไร่ โซน B ติดตลาดนัดจตุจักร 80 ไร่ โซน C สถานีขนส่งเดิม 80 ไร่ และโซน D เป็นโซนที่สำคัญมาก สนข.เข้ามาช่วยวางแผน ให้เป็น"โครงการกระดูกการขนส่ง "Back Bone" ต่อเชื่อม (Linkage) กับระบบอื่นๆ เช่น ทางยกระดับจากฝั่งธน จะมีทางเดิน Sky Walk เชื่อมจตุจักร บีทีเอส กับสถานีกลางบางซื่อ และเตาปูน จะมี "Light Rail สายรอง" 16 สถานี เชื่อมต่อ 2,300 ไร่ จะมีพาร์ก แอนด์ ไรด์ จะเป็นโครงกระดูกสำหรับการต่อเชื่อมทุกระบบ และ โซน กม.11 "400 ไร่" ซึ่งปัจจุบันเป็นที่อาศัยพนักงาน และศูนย์พลังงานของ ปตท.

การสัมมนาคราวนี้เป็นการทดสอบการตลาด (ไม่ใช่ Public Hearing ที่จะต้องทำอีกครั้ง) ได้ผลน่าสนใจคือภาคเอกชนรวมทั้งองค์กรของรัฐ เช่น กรุงเทพธนาคม เห็นพ้องต้องกันในเรื่องนโยบาย รูปแบบ และการพัฒนา ที่ยังข้องใจอยู่ก็มี 1.โครงการทั้งหลายในทุกโซน มีรายละเอียดพร้อมแค่ไหน 2.ให้จัดเตรียมพื้นที่และการย้ายผู้อาศัยให้เรียบร้อย เป็นหน้าที่รัฐ 3.จัดแบ่งเป็นโครงการย่อย เพื่อจะได้มีนักลงทุนลองจะมาทำ TOR ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ในประกาศอย่ารวมเป็นก้อนเดียว จะได้ราคาดีกว่า มีผู้สนใจมากกว่า

4.ระยะเวลาการให้สัมปทาน 30 ปี ไม่พอ น่าจะเป็น 99 ปี เหมือน AEC รอบด้าน 5.แต่ละโซนน่าจะมีการศึกษากำหนดให้มี "Key-Magnet" เช่น โซน B เป็น J.J. ด้านผลไม้ และ OTOP 6.จะต้องเป็นแลนด์มาร์กของประเทศ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว อาทิ Bangkok Tower 7.ต้องรอดู พ.ร.บ.ร่วมทุน จะทำให้การสนใจน้อย 8.จัดเป็น"เขตเศรษฐกิจพิเศษ" เพื่อจูงใจนักลงทุนไทย และเทศ เหมือนที่รัฐกำลังจะทำที่เมืองชายแดน หรือเมืองท่องเที่ยว 9.แต่ละโซนจะต้องมีรายละเอียดต่างกันไป เพราะความพร้อมของการ PPP และคนสนใจต่างกัน ควรทำการศึกษาย่อยเพิ่ม
10. ใน Master Plan น่าจะเพิ่มการจัดระบบการเชื่อม มิใช่แต่ทางบก รถ และราง เท่านั้น ทางน้ำ (ใกล้คลองบางซื่อ และคลองเปรมฯ) และทางอากาศ เช่น เป็น City Airport จะได้ไหม ? 11.สนับสนุนให้การร่วมทุน PPP จัดกลุ่มมาเป็นท้องถิ่นและเอกชน เช่น กรุงเทพธนาคมของกรุงเทพมหานคร หรือรูปแบบ"ขอนแก่น โมเดล" ที่จัดตั้งเป็นบรรษัท KKTT ท้องถิ่นอื่น เช่น พัทยา ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ โครงการก็จะน่าทำได้ 12.ให้ความสำคัญของการท่องเที่ยวให้น้ำหนักมากขึ้น เพราะจะพึ่งแต่กำลังซื้อในประเทศ (Domestic Demand) ไม่พอเพียง

13.ผลตอบแทนในการลงทุนด้านจราจร อย่าคิดแต่ Raidership การพัฒนาพื้นที่ (TOD) และอย่าลืมโฆษณาจะเป็นรายได้สำคัญ 14. EIA ต้องจัดทำมาก่อน และแยกแต่ละโซนถึงให้เอกชนทำ 15.ให้คำนึงถึงกฎหมายท้องถิ่น ข้อบัญญัติท้องถิ่น เช่น ผังเมืองรวม ผังพื้นที่เฉพาะ ควบคุมการก่อสร้าง โดยคิดร่วมกับท้องถิ่น และกทม.ด้วย 16.สาธารณูปโภคหลัก รัฐควรลงทุน เป็นต้นของที่ดิน 17. รัฐอย่าลงทุนเอง ให้เอกชนทำ เปิดโอกาสให้ต่างชาติร่วมทุนด้วย ครั้งหน้าจะเขียนต่อเรื่อง Grand Central Station , TOP และท้องถิ่น อีกเช่นด้านการเงิน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559