จีนขอเป็น “ขาใหญ่” ซื้อ-ขายทองคำโลก l โอฬาร สุขเกษม

19 เม.ย. 2559 | 02:24 น.
สมาคมค้าทองคำ ได้รายงานเกี่ยวกับเรื่องท่าทีของจีนต่อเรื่องทองคำ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ว่า คณะกรรมการระหว่างประเทศเริ่มมีการประชุมอย่างเป็นทางการโดยให้ทาง เซี่ยงไฮ้ โกลด์ เอ็กซ์เชนจ์ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ตลาดทองคำจีนเข้าสู่ระดับสากล คณะกรรมการระหว่างประเทศได้มีการอนุมัติให้นักลงทุนต่างประเทศ สามารถที่จะใช้เงินหยวนในการซื้อขายแลกเปลี่ยนโลหะมีค่าและ physical gold services เช่น การจัดเก็บ, การบำรุงรักษา, การส่งมอบ, การเช่า และการขนส่ง โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะทำให้ได้รับความร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างประเทศจีนและตลาดทองคำโลก

Mr. Xu Luode ประธาน เซี่ยงไฮ้ โกลด์ เอ็กซ์เชนจ์ ได้กล่าวในพิธีลงนามว่า การเปิดตัวของคณะกรรมการระหว่างประเทศของ เซี่ยงไฮ้ โกลด์ เอ็กซ์เชนจ์ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่การร่วมมือกันกับตลาดโลก แต่ยังเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงเพื่อสร้างโครงสร้างตลาดใหม่ทั่วโลกในอุตสาหกรรมทองคำ ในขณะที่ตลาดทองคำในจีนทำหน้าที่เป็นดั่งเสาหลักที่สำคัญของโลก เซี่ยงไฮ้ โกลด์ เอ็กซ์เชนจ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบในการให้บริการกับนักลงทุนทั่วโลก เราเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกับ เวิลด์ โกลด์ เค้าน์ซิล ต่อไปจะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนและอุตสาหกรรมทองคำทั่วโลก และเรายังคงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาดสากล, การบริการลูกค้าทั่วโลก, โอกาสทางธุรกิจร่วมกัน และสนับสนุนเพื่อเป็นพลังให้ประเทศจีนเดินหน้าไปพร้อมกับ เวิลด์ โกลด์ เค้าน์ซิล

ทางด้าน Mr. Aram Shishmanian ประธานกรรมการบริหาร เวิลด์ โกลด์ เค้าน์ซิล กล่าว "การเติบโตของ เซี่ยงไฮ้ โกลด์ เอ็กซ์เชนจ์ เพื่อเข้าสู่ระบบการค้า physical gold ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นหลักฐานที่น่าสนใจว่าอนาคตของการแลกเปลี่ยนทองคำจะมีความเข้มแข็ง ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงการตลาดจากตะวันตกไปตะวันออกการขยายตัวของศูนย์กลางการซื้อขายทองคำที่แข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชียจะทำให้ค่าเงินดีขึ้น มีสถาพคล่อง ความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของตลาดทองคำโลก ในฐานะที่เป็นตลาดหลัก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตทั่วโลกนี้จะช่วยให้จีนเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการก้าวมาเป็นตลาดทองคำโลก มันน่าตื่นเต้นที่ได้ร่วมมือกับองค์กรแลกเปลี่ยนทองคำชั้นนำของโลก ในขณะที่มันจะช่วยให้เราสามารถเผยแพร่ความเชี่ยวชาญ และข้อมูลในเชิงลึกนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพอีกด้วย

ต่อมาเมื่อเดือนมกราคมปี 2558 มีข่าวว่า “เซี่ยงไฮ้ โกลด์ เอ็กซ์เชนจ์” และ “เวิลด์ โกลด์ เค้าน์ซิล” ได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อผลักดันให้ “เซี่ยงไฮ้ โกลด์ เอ็กซ์เชนจ์” เป็นองค์กรแลกเปลี่ยนซื้อขาย Physical gold ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และร่วมสร้างบารมีให้กับ “เวิลด์ โกลด์ เค้าน์ซิล” ให้ทรงฐานะผู้ทรงอิทธิพลในการควบคุมดูแลอุตสาหกรรมทั่วโลกให้ได้ โดยขั้นแรกทำให้ตลาดทองคำจีนเป็นตลาดสากลโดยซื้อขายผ่านเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ และให้การสนับสนุนการพัฒนาการลงทุนในการผลิตทองคำ รวมทั้งแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าทองคำทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก

ข่าวล่าสุด ความพยายามของจีนที่ดำเนินการมาก็ถึงจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งผมนำข้อมูลส่วนใหญ่มาจากเว็บไซด์ผู้จัดการออนไลน์ โดยเว็บไซด์ดังกล่าวเก็บข้อความมาจากเอเชียไทมส์อีกทอดหนึ่ง โดยพาดหัวข่าวว่า “จีน” คืบหน้าก้าวใหญ่ในการกำหนดราคา “ทองคำ” เป็นสกุลเงิน “หยวน” เนื้อความในข่าวระบุว่า (13/04/2016)

จีนหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพที่ลอนดอนกับนิวยอร์กเป็นผู้ครอบงำราคาทองคำอยู่ในปัจจุบัน โดยที่จะให้ตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ทำหน้าที่ประกาศราคามาตรฐานของโลหะชนิดนี้ด้วยหน่วยราคาที่เป็นสกุลเงินหยวน ทั้งนี้ตลาดแห่งนี้เพิ่งประกาศรายชื่อสมาชิก 18 รายซึ่งจะมีบทบาทในการกำหนดราคาเช่นนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนเป็นต้นไป

จีนกำลังวาดหวังจะเปลี่ยนแปลงสภาพที่ลอนดอนกับนิวยอร์กเป็นผู้ครอบงำราคาทองคำอยู่ในปัจจุบัน และให้ตนเองก้าวผงาดขึ้นเป็นผู้กำหนดราคาของโลหะมีค่าชนิดนี้ โดยที่จะเริ่มประกาศราคามาตรฐานตามเกณฑ์คำนวณใหม่ของตนซึ่งใช้หน่วยราคาเป็นสกุลเงินหยวน ในวันที่ 19 เมษายนที่กำลังจะมาถึง

ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้บริโภคใช้สอยทองคำรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก จีนจึงไม่สบอารมณ์ที่ต้องอิงอาศัยราคาซึ่งกำหนดกันเป็นสกุลเงินดอลลาร์ในเวลาที่จะทำธุรกรรมระหว่างประเทศ อีกทั้งมีความเชื่อว่าด้วยสัดส่วนบทบาทที่มีอยู่ในตลาดของตน จีนสมควรที่จะได้รับหน้าที่ในการกำหนดราคาของทองคำ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ (ดูรายละเอียดรายงานข่าวนี้ได้ที่ http://www.reuters.com/article/china-gold-fix-idUSL3N17G2W4)

ราคามาตรฐานตามเกณฑ์คำนวณของจีนนี้ จะอิงอาศัยสัญญาซื้อขายทองคำปริมาณ 1 กิโลกรรม ซึ่งนำออกมาเทรดกันโดยสมาชิก 18 รายของตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Gold Exchange ใช้อักษรย่อว่า SGE) โดยที่สมาชิก 18 รายนี้ยังจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการซื้อขายในตลาด (central counter party) อีกด้วย

ตามคำแถลงของตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ ซึ่งโพสต์อยู่บนเว็บไซต์ของตน สมาชิก 18 รายนี้ ประกอบด้วยธนาคารใหญ่ที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชยการแห่งประเทศจีน (Industrial and Commercial Bank of China), ธนาคารเกษตรกรรมแห่งประเทศจีน (Agricultural Bank of China), ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China), และธนาคารการก่อสร้างประเทศจีน (China Construction Bank) ต่อมาเมื่อวันพุธ (13 เม.ย.2559) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) และธนาคารเอเอ็นแซด (ANZ) ออกมาประกาศว่าพวกตนจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานนี้ด้วย

สำหรับสมาชิกรายอื่นๆ ของกลุ่มนี้ ยังมี ธนาคารคมนาคม (Bank of Communications), ธนาคารพัฒนาผู่ตงเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Pudong Development Bank), ไชน่า หมินเซิง แบงกิ้ง คอร์ป (China Minsheng Banking Corp.), อินดัสเตรียล แบงก์ (Industrial Bank), ธนาคารผิงอัน (Ping An Bank), ธนาคารเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Bank), ธนาคารแห่งประเทศจีน (ฮ่องกง) (Bank of China (Hong Kong)), บริษัทผู้ค้าปลีก 2 ราย คือ โจว ไท่ ฟุค (Chow Tai Fook) และ เหลา เฟิง เซียง (Lao Feng Xiang), บริษัทเทรดดิ้งเฮาส์สัญชาติสวิส เอ็มเคเอส (MKS), กลุ่มกิจการเหมืองแร่จีน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทองคำแห่งชาติจีน (China National Gold Group) และกลุ่มทองคำซานตง (Shandong Gold Group)

ราคามาตรฐานตามเกณฑ์คำนวณของตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้นี้ จะมีการกำหนดขึ้นวันละ 2 ครั้ง โดยอิงอยู่กับระยะเวลาสองสามนาทีของการซื้อขายในแต่ละช่วง และจะประกาศหน่วยราคาเป็นหยวนต่อกรัม

การกำหนดราคามาตรฐานของทองคำเป็นสกุลเงินหยวนซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 19 เมษายน 2559 นี้ ไม่ได้มีการคาดหมายกันว่าจะกลายเป็นการคุกคามในทันทีทันใดต่อฐานะการเป็นผู้ครอบงำราคาทองคำของลอนดอนและนิวยอร์ก ทว่าในที่สุดแล้วอาจจะทำให้เอเชียมีอำนาจในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสกุลเงินตราจีนกลายเป็นสกุลเงินตราที่สามารถแลกเปลี่ยนแปลงเป็นสกุลอื่นได้อย่างเต็มที่

สำหรับราคามาตรฐานสำหรับซื้อขายเพื่อการส่งมอบทันทีในลอนดอน ซึ่งประกาศหน่วยราคาเป็นดอลลาร์ต่อออนซ์นั้น ในปัจจุบันมีการกำหนดกันวันละ 2 ครั้งเช่นกัน โดยใช้วิธีประมูลราคากันผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ผู้ที่เข้าร่วมในเวลานี้มี 12 ราย หลังจากที่ตอนเริ่มต้นมี 6 ราย

ราคาที่กำหนดขึ้นในลอนดอนนี้ ก่อนหน้านี้เคยกำหนดขึ้นโดยใช้วิธีประชุมทางไกลระหว่างสมาชิกที่เข้าร่วม ทว่าได้เปลี่ยนมาเป็นระบบประมูลราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายหลังมีการทบทวนปรับปรุงเกณฑ์ในการคำนวณราคา สืบเนื่องจากกรณีอื้อฉาวเรื่องหลายๆ แบงก์ใช้กลโกงในการส่งอิทธิพลกำหนดอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ (Libor) ปะทุขึ้นมาในปี 2012

จีนนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับความสนับสนุนจากพวกธนาคารต่างประเทศ จึงจะสามารถเปลี่ยนให้ราคามาตรฐานใหม่นี้กลายเป็นเกณฑ์วัดระหว่างประเทศซึ่งได้รับการยอมรับ ทว่าเท่าที่ผ่านมาแดนมังกรต้องต่อสู้ดิ้นรนหนักทีเดียวในการดึงดูดแบงก์เหล่านี้ให้มาร่วมมือด้วย เมื่อเดือนมกราคม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จีนได้ออกมาเตือนพวกธนาคารต่างประเทศว่า พวกเขาอาจถูกตัดลดการดำเนินงานของพวกเขาในตลาดภายในประเทศของจีน ถ้าพวกเขาปฏิเสธไม่เข้าร่วมในกระบวนการกำหนดราคามาตรฐานตามเกณฑ์คำนวณใหม่นี้
สแตนดาร์ชาร์เตอร์ด และ เอเอ็นแซด สองแบงก์ต่างประเทศที่เข้าร่วมในการกำหนดราคากับตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ ต่างมีใบอนุญาตนำเข้าทองคำในประเทศจีน ธนาคารต่างประเทศยักษ์ใหญ่อีกรายหนึ่งคือ เอชเอสบีซี (HSBC) ก็มีใบอนุญาตนำเข้าเช่นนี้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ถูกระบุชื่อจากตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ ว่าเป็นหนึ่งในแบงก์ที่เข้าร่วม....(ผู้จัดการออนไลน์)

หากมองย้อนหลังกลับไปจะเห็นว่าจีนมีความคิดที่จะพัฒนาเรื่องนี้มากก่อนหน้าอย่างยาวนานแล้ว จีนต้องการใช้เงินสกุลหยวนอิงกับตลาดทองคำในจีนเองโดยเฉพาะตลาดซื้อขายทองคำเซี่ยงไฮ้ และต้องการชี้ให้เห็นว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะอิงกับราคาซื้อขายในตลาดเซี่ยงไฮ้มากกว่าตลาดสหรัฐอเมริกากับตลาดลอนดอน เพราะปัจจุบันจีนเป็นรายใหญ่ทั้งเป็นแหล่งซัพพลายหรือผู้ผลิตทองคำมากที่สุดในโลก ปรกติแล้วทุกวันนี้หากไม่อิงตลาดนิวยอร์ค ก็จะอิงกับตลาดลอนดอนมากกว่า และแม้แต่ลอนดอนก็ยิงแปรการซื้อขายเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ ขณะที่นอกตลาดทั้งสองดังกล่าว ก็ยังมีตลาดตุรกีและตลาดรัสเซียด้วย แล้วทำไมจีนจะเป็นตลาดที่สำคัญในการการซื้อขายทองคำระดับโลกไม่ได้ โดยเฉพาะการอิงค่าเป็นสกุลเงินหยวน

นี่นับว่าจีนได้รุกคืบไปข้างหน้าอีกก้าวด้านการค้าทองคำในเวทีระดับโลก แต่จีนจะทำได้อย่างมั่นคงกว่านี้หากว่าทุนสำรองทองคำของจีนจะมีมากเหมือนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่จีนมีอยู่ เพราะเท่าที่ทราบทุนสำรองทองคำของจีนยังมีน้อยยังเทียบไม่ได้กับทุนสำรองทองคำของประเทศที่เจริญแล้วทางด้านอุตสาหกรรมและสะสมทองคำมาก่อนหน้าหลายสิบปี ส่วนข่าวที่ว่าจีนจะหันไปใช้ระบบมาตรฐานทองคำนั้นผมว่ายังคงห่างไกล และเป็นเรื่องล่าสมัยเอามากๆ ไปนานแล้ว เนื่องจากว่าปริมาณการค้าโลกยังคงมีความจำเป็นที่ต้องใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯในการซื้อขายกันอยู่ แม้ว่าจีนพยายามที่จะให้น้ำหนักกับการซื้อขายด้วยสกุลเงินหยวนอยู่ในเวลานี้ก็ตาม

ที่สำคัญเมื่อปริมาณการค้าโลกเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โลกก็ไม่อาจหาทองคำได้มากพอที่จะสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการค้าโลกไปได้ รวมถึงไม่สอดคล้องกับทุนสำรองระหว่างประเทศของแต่ละประเทศไปได้ เขาถึงได้ยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนระบบมาตรฐานทองคำไปไง จึงหันมาใช้ระบบเบรตเทน วูดส์อยู่พักใหญ่ๆ ก่อนจะหันมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบการลอยตัวที่มีการจัดการ (Managed float) และ/หรือระบบเงินตราของประเทศหนึ่งไปอิงกับเงินตราสกุลอื่นอย่างที่เงินหยวนอิงกับดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเงินริงกิตกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หรืออิงกับเงินตราหลายสกุล (pegged exchange rate)
แต่ดูความพยายามของจีนในรอบหลายปีมานี้เชื่อว่าจีนมีพลังมากพอที่จะ “ดูด” ทองเข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาลได้ เพราะผ่อนปรนกฎให้ประชาชนครอบครองทองคำได้เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังให้ประชนชานหันมาสะสมทองคำกัน และเมื่อตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ประกาศราคามาตรฐานของโลหะชนิดนี้ด้วยหน่วยราคาที่เป็นสกุลเงินหยวน และเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนเป็นต้นไป ผมว่า “โลก” คงจะได้รับบทเรียนใหม่ๆ จากจีนเพิ่มขึ้นจากการซื้อขายทองคำนี่หละครับ