เสน่ห์สงกรานต์ไทย เกร็ดสาระก่อนสาดน้ำให้ชุ่มโชก l โอฬาร สุขเกษม

11 เม.ย. 2559 | 12:17 น.
 

สัปดาห์สงกรานต์เวียนมาถึงอีกแล้ว ช่วงนี้คงไม่มีใครอยากอ่านเรื่องหนักๆ คนเขียนเองก็อยากจะเขียนอะไรแล้วให้หายร้อนกันบ้าง ขณะที่เขียนอยู่นี้อุณหภูมิวัดได้ที่บ้านรังสิต คลองสี่ ปทุมธานี ตอนบ่าย 3 โมงเย็น ถึงขีด 43 องศาเซลเซียส อุณหภูมิวันกลางแจ้งนะครับ หากวัดในร่มไม้วัดได้ 39 องศาเซลเซียส นี่ถ้าหากไม่เกรงใจชาวบ้าน กะจะลงพิมพ์คอมพ์กลางสระน้ำในหมู่บ้านเลยที่เดียวหล่ะครับ

พอจะเข้าเดือนเมษายนก็จะนึกถึงวันตรุษสงกรานต์ขึ้นมาทันที แต่ศิลปินเขาคิดอีกอย่างครับ เป็นต้นว่าเพลงหนุ่มนารองนางร้องว่า “ เมื่อถึงเดือนเมษา หนุ่มบ้านนานั่งฝันคอยคนรัก คอยคนรักจากกัน สิ้นสงกรานต์ น้องก็พลันลืมพี่เธอทิ้งนาทิ้งไร่ จดหมายไม่มี ใยน้องมาลืมพี่ ที่ท้องทุ่งนา”.... เสียงเพลง “หนุ่มนารอนาง” เสียงร้องของนักร้องดังผู้ล่วงลับไปแล้ว ยอดรัก สลักใจ ที่ก้องในหูเมื่อผมนึกถึงเดือนเมษายน เพลงนี้ใครแต่งไม่ทราบ ทราบเพียงว่าศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 คุณประยงค์ ชื่นเย็น คนจังหวัดบุรีรัมย์เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน และอีกเพลงที่นึกถึงถึงก็คือ เพลงจำปา ลืมต้น เสียงร้องของสายัญ สัญญา ... “เดือนห้า..หน้าแล้ง ลมแรง พัดช่อ มะม่วง ไผ่ล้อลม เหมือนคน ล่อลวง หัวใจข้าลวง เหมือนโคน มีดหั่น คิดถึงจำปา หนีหน้าคนบางเดียวกันเจ้าอยากเป็น สะใภ้นายพัน หันไปบางกอก ไม่บอกสักคำ”.....

คนรุ่นเก่าอย่างผมเขาเรียกเดือนเมษายนเป็นเดือน 5 เพราะเดือนอ้ายหรือเดือนพี่ใหญ่ของปี หรือเดือนแรกของปีคือเดือนธันวาคม เดือนยี่ก็คือเดือนมกราคม ไล่มาจนถึงเมษายนเป็นเดือนที่ห้า ถ้าเข้าเดือนหกก็นึกถึงเพลง ฝนเดือนหก เสียงร้องของคุณรุ่งเพชร แหลมสิงห์หล่ะครับ .... “ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตก พรำ พรำ
กบมันก็ร้อง งึมงำ ระงมไปทั่ว ท้องนา ฝนตกทีไร คิดถึงขวัญใจ ของข้า แม่ดอกโสน บ้านนา น้องเคยเรียกข้า
พ่อดอกสะเดา....ย่างเข้า เดือนหก ฝนก็ตก ปรอย ปรอย หัวใจพี่ร้อง โอย โอย คิดถึง แม่ดอกอันชัน ฝนตกลงมา คิดถึงขวัญตา น้องเจ้า ไม่เจอหน้าน้อง แม้เงา หรือลืมรักเรา เสียแล้วแก้วตา”  แม้.....อยากจะให้ผ่านเดือนห้าไปให้เร็วๆ หวังว่าฝนจะลงมาให้ฉ่ำปอดเสียที อีกอย่างจะได้รู้ว่าปีนี้จะแล้งนานข้ามเดือนห้าและเลยเดือนหกไปเลยหรือไม่ เพราะขณะนี้ประเทศไทยและบ้านใกล้เรือนเคียงก็เจอแล้งหนักในรอบ 20-30 ปีเหมือนกัน

คำว่า “สงกรานต์” เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลเป็นไทยว่า “ผ่าน” หรือ “เคลื่อนย้ายเข้าไป” ที่ว่าย้ายนี้หมายถึงเราแบ่งจักรราศีออกเป็น 12 จักรราศี กำลังจะผ่านจากจักรราศีหนึ่งไปจักรราศีต่อไป ซึ่งกลุ่มดาวในจักราศีเมษายนก็คือกลุ่มดาวแพะ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “เมษ” และเมื่อเอาคำว่า “อายน” ซึ่งแปลว่า “การมาถึง” เข้ามาต่อเชื่อมกัน จึงกลายเป็น “เมษายน” ครับ ส่วนพฤษภาคมคือ กลุ่มดาววัว เอาคำว่า “อาคม” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตเช่นกันและแปลว่า “การมาถึง” เช่นกัน จึงเรียกว่าเดือน “พฤษภาคม” คำว่า อาคม และอายนนั้นเลือกเอาตามเดือนเป็นสำคัญเดือนไหนมี 31 วันก็ลงท้ายด้วย “คม(อาคม)” และเดือนไหนมี 30 วันก็เอาคำลงท้ายด้วย “ยน(อายน)” นั่งเอง

ปรกติแล้วันสงกรานต์จะมีทุกเดือนหล่ะครับ เพราะ “สงกรานต์” แปลว่า “ผ่าน” แต่เดือนเมษายนถือเป็น “วันมหาสงกรานต์”  เพราะเป็นวันและเวลาที่ตั้งต้นเป็นปีใหม่ไทยตั้งแต่สมัยก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นเดือนมกราคมอย่างสากลในภายหลัง เมื่อพระอาทิตย์แรกย้ายราศี คือย้ายจากดาวกลุ่มหนึ่งและย่างเข้าไปสู่หมู่ดาวอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นต้นว่าพระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษตั้งแต่วันอังคารเดือน 5 แรมค่ำ 1 เวลาย่ำค่ำ 25 นาที แล้วยกไปสู่ราศีพฤษภ วันจันทร์เดือน 7 แรม 4 ค่ำ เวลา 3 ยามกับ 36 นาที วันและเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งแล้วยกไปสู่อีกราศีหนึ่งนี้เรียกว่า “สงกรานต์เดือน” เพราะย้ายไปทีละเดือนนั่นเอง
วันมหาสงกรานต์หรือวันปีใหม่ไทยในอดีต เราก็ได้มาจากแบบประเพณีอินเดียฝ่ายเหนือ ซึ่งเขาถือเอาวันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์มานานนม แม้ทุกวันนี้การเคลื่อนตัวก็แตกต่างจากอดีตมากมายนักตามความเชื่อที่เคยมีมาตั้งแต่ต้น สังเกตจากเป็นวันที่เวลากลางวันและกลางคืนเท่ากันพอดี ซึ่งเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า “วสันต์วิษุวัต” หรือมหาวิษุวัด อังกฤษเรียกว่า vernal equinox ซึ่งแปลว่า “เท่ากันในฤดูวสันต์”  แล้วโบราณเอาวันวสันต์วิษุวัตเป็นปีใหม่ เพราะประชากรอยู่เหนือเขตร้อนของโลกถือว่าเป็นระยะเวลาหรือเป็นฤดูกาลที่ดีที่สุด เนื่องจากฤดูหนาวได้ผ่านพ้นไป และเริ่มต้นอย่างมีชีวิตชีวาในฤดูกาลใหม่ เราถือเอาวัน “มหาสงกรานต์” เป็นวันทำบุญใหญ่ เล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์สืบเป็นปรัมปราประเพณีมาเหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นไทย เมียนมา กัมพูชา และลาว

นางสงกรานต์ปี 2559 นี้มีนามว่า “มณฑาเทวี”  ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย หัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร(นอนลืมตา) มาเหนือหลังคัสพะ(ลา) เป็นพาหนะ

คำทำนายมีว่า เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ จันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ วาโย(ธาตุลม) น้ำพอประมาณ พายุจัด เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีวอก นาคราชให้น้ำ 2 ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีน้อย กลางปีงาม แต่ปลายปีมากแล ฯ เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในนา จะได้ 10 ส่วน เสียเพียงส่วนเดียว ธัญญาหาร มังสาหารบริบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะอยู่เย็นเป็นสุข ฯ ส่วนวันเถลิงศก ตรงกับ วันเสาร์ที่ 16 เมษายน เวลา 0 นาฬิกา 34 นาที 12 วินาที หรือจันทรคติ ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีวอก ซึงสมัยก่อนบางปีช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมี 3 หรือ 4 วัน ปัจจุบันเหลือเพียง 3 วัน แต่ส่วนใหญ่จะ “เล่นแถม” กันเองหล่ะครับ นี่บางคน “โกยกลับบ้าน” ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2559 แล้ว คงจะลากยาว (หนีงาน) ให้ได้ข้ามหนึ่งสัปดาห์ไปเลยทีเดียว

นางสงกรานต์นี้ตำราว่าไว้ว่า เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุดของเมืองฟ้า ซึ่งมีอยู่ 7 คน (เพราะเป็นนางฟ้าชั้นสามัญ) ทั้ง 7 คนเป็นบาทบริจาริกา ซึ่งแปลว่า “นางบำเรอแทบเท้า” คือ เมียน้อยพระอินทร์จอมเทวราช (อย่างที่ผมเคยเล่าไปแล้วในที่อื่นๆว่า บรรดาเทพทั้งหลาย มักจะเสพสุขมากกว่าจะบำเพ็ญตนเยี่ยงคนดี) และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม

ตรุษจีนมีวันจ่าย ไหว้ เที่ยว คนไทยก็มีเหมือนกัน คือ ถือว่าวันที่ 12 เมษายนเป็นวันจ่ายเพื่อซื้อหาสิ่งของเอาไว้สำหรับทำบุญ และตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปสุภาพสตรีจะ “ตัดผมจับเขม่ากันไร” เป็นพิเศษ ต้องเตรียมเสื้อผ้าไว้สวมใส่ให้พร้อมในวันมหาสงกรานต์ สำหรับคนรุ่นปัจจุบันมีเสื้อผ้าสไตล์รับเทศกาลสงกรานต์โดยเฉพาะ เป็นเสื้อผ้าลายดอก “สีแจ่มๆ” (ตอนเขียนอยู่นี้ผมก็ใส่เสื้อตัวเก่าลายดอกสีฟ้าครับ) ถ้าเป็นรุ่นโบราณแล้วผู้ชายจะนุ่งผ้า ท่อนบนไม่สวมเสื้อ มีแต่ผ้าขาวม้าพาดบ่าก็พอ ส่วนผู้หญิงก็ชุดไทยเต็มๆไปเลย หรืออย่างดีสุภาพสตรีจะนุ่งจีบ ถ้าเป็นธรรมดาๆ ก็จะนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อกระบอกรัดตัวแขนยาวลีบ มีกระดุมเป็นแถวตรง คนไทยเมื่อถึงวันจ่ายก็ต้องเตรียมของทำบุญตักบาตรด้วย ส่วนใหญ่วันนี้ คนภาคกลางมักจะทำขนมเปียกข้าวเหนียวแดง ขนมกาละแมถวายพระ รวมทั้งแจกชาวบ้านด้วย แจกแบบนี้เขาถึงจะเรียกว่า “สมฐานะ” ของผู้แจก

วันที่ 13 เมษายนคนไทยแถวภาคเหนือนอกจากจะเรียกว่าวัน “มหาสงกรานต์” แล้ว เขายังถือว่าเป็นวัน “สังขารล่อง” ... “.เวลาเที่ยงคืนวันสิ้นปี ตัวสังขารปีเก่ารูปร่างเป็นผีแก่ผมยาว แต่งตัวนุ่งห่มด้วยเครื่องขาวพร้อมบริวารซึ่งก็นุ่งขาวเช่นเดียวกัน จะหอบข้าวของเสี้อผ้าของเก่าติดตัวไปด้วย จะปรากฏตัวในเวลากลางคืน ลอยละล่องไปตามน้ำ ผู้ใหญ่มักจะหลอกเด็กให้ตื่นแต่รุ่งเช้าไปเฝ้าดูกัน ถ้าดูแล้วไม่เห็นโบราณว่าให้ไปแอบดูได้ที่ดงหนามจะเห็นแน่ๆ” ......แต่มหาสงกรานต์ปีนี้คิดว่า คงไม่มีใครได้เห็นหรอกครับ เพราะแล้งจนไม่มีน้ำมากพอที่จะให้ล่องกันไป...!  ในวันเดียวกันนี้ชาวบ้านมักเอาเสื้อผ้าไปซัก รวมทั้งมุ้งด้วย ครับ และอีกอย่างก็จะมีพิธีรดน้ำดำหัว......แต่โบราณเขาเรียกว่า “พิธีอาบน้ำดำหัว” ครับ เพราะจะมีพิธีอาบน้ำ สระผมด้วยน้ำส้มปอยและน้ำอบ อาบน้ำเสร็จก็จะเอาดอกไม้ที่เลือกให้เป็นพระยาในปีนั้นมาเสียบประดับผม และที่ลืมไม่ได้ก็คือ ต้องทำสะอาดบ้านเรือน ครับ เป็นการกำจัดความอัปรีย์จัญไรของปีเก่าให้หมดไปนั่นเอง สำหรับผมก็จะพิธีสรงน้ำพระเป็นประจำทุกปีไป

สงกรานต์แบบโบราณเขาจะปล่อยนกปล่อยปลากันครับ เพราะฤดูกาลอื่นน้ำมีมาก ปลาสามารถแพร่พันธุ์ได้โดยง่าย แต่เดือนเมษายนอากาศจะร้อนและน้ำไม่ค่อยจะมี จึงเลือกมาทำบุญปล่อยปลากันเดือนเมษายน เพื่อให้ปลาได้แพร่พันธุ์อุดมสมบูรณ์ต่อไป

สุดท้ายก็สาดน้ำกันหล่ะครับ สมัยก่อนจะเล่นกันในหมู่ผู้ที่รู้จักกัน สมัยนี้ “ไม่ถือ” เล่นได้ไม่เลือกหน้า อย่างไรก็ขอให้ระลึกด้วนนะครับว่า ปีนี้ “น้ำน้อย” เล่นสนุกกันแต่พอเพียงก็พอ “ขอน้ำสักขันจะได้ไหม รดหัวให้ชุ่มฉ่ำไปเลย” ....ร้อนจริงๆ สิพับผ่า !