‘อาคม’ดันไฮสปีดเทรน ชี้คุ้มค่าการลงทุน เล็งแผน 2 เชื่อมเพื่อนบ้าน

05 เม.ย. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

"อาคม"ดันไฮสปีดเทรนเชื่อมพื้นที่เศรษฐกิจ 4 โซนเมืองหลัก ย้ำเป็นเส้นทางสั้นแต่ให้ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้เร็วในระยะแรก ส่วนแผนการพัฒนาระยะที่ 2 ต้องรอผลการเปิดให้บริการชัดเจนก่อนเพื่อหวังเชื่อมกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต ด้านร.ฟ.ท.เร่งเส้นทางกทม.-ระยอง,กทม.-หัวหิน รวมงบกว่า 2.3 แสนล้านเชื่อมโยงเส้นทางกทม.-นครราชสีมาของไทย-จีน เสนอ คนร.และคณะกรรมการพีพีพี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ายังคงเดินหน้าผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง ถึงแม้หลายฝ่ายจะออกมาทักท้วงความคุ้มค่าด้านการลงทุนซึ่งกรณีนี้ยังยืนยันว่ามีความสำคัญทั้ง 4 เส้นทาง ประกอบด้วยเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง เพราะจัดอยู่ใน 20 โครงการในแผนปฏิบัติการแอ๊คชั่นแพลนที่เร่งดำเนินการไว้แล้ว โดยจะเร่งขับเคลื่อน 2 ระบบคือรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ควบคู่กันไป
ทั้งนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัยในอนาคตต่อการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้เชื่อมโยง 4 โซนเมืองหลัก ทั้งเมืองท่องเที่ยว เมืองอุตสาหกรรม คือ เส้น
ทางกรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ เชื่อมโยงภาคเหนือ เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย เชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง เชื่อมโยงภาคตะวันออกและเส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน เชื่อมโยงภาคใต้ ซึ่งโครงการแรกที่เร่งดำเนินการคือ เส้นทาง กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร เป็นรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ซึ่งจะเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทยภายใต้ความร่วมมือในโครงการรถไฟไทย-จีน ส่วนอีก 3 เส้นทางที่เหลือนั้นยังอยู่ในขั้นตอนที่ร.ฟ.ท.นำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณาเข้าสู่กระบวนการตามพรบ.ร่วมทุนพีพีพีปี 2556 ต่อไป

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 เส้นทางที่ร.ฟ.ท.เป็นเจ้าของโครงการคือเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง อยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) พิจารณารายละเอียดตามที่มติที่ประชุมสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หารือในรายละเอียดร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง
สายกรุงเทพฯ-ระยอง และสายกรุงเทพฯ-หัวหินพร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายพญาไท-บางซื่อเพื่อให้พิจารณาความพร้อมในการเข้ามาตรการพีพีพี ฟาสแทรกต์ ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

"เส้นทางกทม.-ระยอง,กทม.-หัวหิน และกทม.นครราชสีมาแม้จะเป็นโครงการที่มีระยะทางสั้นๆ ประมาณ 300 กิโลเมตร แต่หากสามารถเปิดให้บริการรูปแบบเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพเชื่อว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเชื่อมโยงพื้นที่กทม.กับจังหวัดสำคัญที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโดยรอบกทม.ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระยอง- นครปฐม-หัวหิน- นครราชสีมา จึงเห็นผลของการคืนทุนได้เร็วกว่า ในส่วนการพัฒนาระยะที่ 2 ต่อไปนั้นหากเส้นทางใดให้ผลตอบแทนด้านการลงทุนได้ดีกว่า และมีปริมาณความต้องการใช้บริการเพิ่มมากขึ้นก็สามารถลงทุนพัฒนาโครงการต่อไปได้ทันที เช่นเดียวกับไฮสปีดเทรนกทม.-เชียงใหม่ เฟสแรกหากก่อสร้างถึงพิษณุโลกก็จะส่งผลความเจริญสู่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนได้มากขึ้นตามไปด้วย ก่อนที่จะเร่งขยายเฟสที่ 2 ให้เชื่อมโยงถึงเชียงใหม่ต่อไป"

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.52 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าเดือนกรกฎาคมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบให้ดำเนินโครงการ และคาดว่าเดือนพฤษภาคม 2560 จะเริ่มงานก่อสร้าง

สำหรับเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 8.1 หมื่นล้านบาทคาดว่าเดือนกรกฎาคม 2559 เสนอ ครม. เห็นชอบโครงการ พร้อมเร่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 24 เพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2560 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีไอเอพิจารณารอบที่ 5 กรณีผ่านพื้นที่ป่าชายเลน ส่วนกรุงเทพ-พิษณุโลก พิจารณาอีไอเอครั้งที่ 6 ไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมาแต่ยังไม่ผ่านการพิจารณา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559