‘อียู’ ชงเองฟื้นถกFTAไทย พณ.เตรียม 4 เรื่องคุยปลายปี

03 เม.ย. 2559 | 09:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

พาณิชย์เตรียม 4 ประเด็นถกนำร่องเอฟทีเอไทย-อียูรอบใหม่ในระดับเจ้าหน้าที่ปลายปีนี้ หลังเชื่อมั่นไทยเดินตามโรดแม็ปสู่การเลือกตั้งในปีหน้า เป้าหมายสู่การเจรจาเอฟทีเออาเซียน-อียูในลำดับถัดไปด้านสมาชิกรัฐสภายุโรปอ้างผลดีช่วยดึงลงทุน และปรับกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล

[caption id="attachment_42150" align="aligncenter" width="700"] การค้าระหว่างประเทศของไทยกับสหภาพยุโรป (28ประเทศ) การค้าระหว่างประเทศของไทยกับสหภาพยุโรป (28ประเทศ)[/caption]

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า ล่าสุดทางสหภาพยุโรป (อียู) ได้สอบถามถึงทิศทางการเข้าร่วมเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทย ภายหลังรัฐบาลชุดปัจจุบันมีโรดแมปจัดการเลือกตั้งที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทางอียูได้เสนอให้มีรื้อฟื้นจัดทำเอฟทีไทย-สหภาพยุโรปขึ้นมาใหม่ โดยในระหว่างนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ของ 2 ฝ่ายมีการหารือกันในประเด็นทางเทคนิคต่างๆ เช่นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและภายใต้ข้อบทด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น เรื่อง สิทธิมนุษยชน แรงงานและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาไทยได้ว่างเว้นการเจรจาในประเด็นต่างๆ กับอียูไปปีกว่าแล้ว และไทยได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ ไปจำนวนมาก

"คาดการณ์เริ่มต้นกลับมาคุยกันในระดับเจ้าหน้าที่ของ 2 ฝ่ายน่าจะเริ่มขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้ โดยทางอียูมีนโยบายที่จะเดินหน้าทำเอฟทีเอ กับประเทศในอาเซียนแบบรายประเทศก่อน เพื่อให้ได้ จำนวนประเทศเยอะมากพอ ก่อนที่จะเริ่มเจรจาทำเอฟทีเอ อาเซียน –อียูต่อไป"

สำหรับการเจรจาทำเอฟทีเอระดับทวิภาคีของอียูกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะนี้อียูมีการทำความตกลงไปแล้วกับเวียดนาม และสิงคโปร์ และกำลังจะเริ่มเจรจากับอินโดนีเซีย ส่วนมาเลเซีย การเจรจาหยุดชะงักไป ขณะที่อียูได้ให้น้ำหนักกับการเจรจาเอฟทีเอกับไทย เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค และจะนำไปสู่การจัดทำเอฟทีเอ อาเซียน –อียูในอนาคตได้

นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นที่ทางไทยอาจจะหยิบยกมาหารือกับอียูในการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ช่วงปลายปีนี้ เช่น 1.การผลักดันให้มีการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียูในระดับเทคนิค เนื่องจากรัฐบาลในชุดปัจจุบันได้มีนโยบายที่จะสานต่อนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยจะเน้นบริหารระบบเศรษฐกิจเสรีที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี การลงทุนจากต่างประเทศและขจัดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ รวมทั้งสานต่อนโยบายการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในระดับพหุภาคีและทวิภาคี และจากการหารือกับประเทศสมาชิกอียูหลายประเทศ ก็ไม่ขัดข้องที่จะเจรจาเอฟทีเอกับไทย โดยให้มีการเริ่มเจรจาทางเทคนิคก่อนเพื่อไม่ใช้เสียเวลาและเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากเลิกตั้งก็สามารถเดินหน้าสรุปผลได้ทันที

2. การเจรจาความตกลงเอฟทีเออาเซียน-อียู เนื่องจากไทยสนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-อียู โดยความตกลงเอฟทีเอจะต้องสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติมจากการเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนมีท่าทีการเจรจาที่คล้ายคลึงและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น

3.การดำเนินการของไทยสู่ประชาธิปไตย โดยทางไทยได้ขอให้เชื่อมั่นว่าไทยยังยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานตามโรดแมปและ4. การแก้ไขปัญหาไอยูยูเกี่ยวกับประมง แรงงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ ซึ่งทางไทยเองได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามาโดยตลาดและจริงจัง โดยถือเป็นวาระแห่งชาติมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการประมงเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าประมงไม่ได้มาจากประมงที่ผิดกฎหมาย

ด้านนายเดวิท มาติน สมาชิกรัฐสภายุโรป กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอกับอียูถือเป็นความท้าทายเนื่องจากการเจรจาดังกล่าวไม่ได้มุ่งหวังเพียงแต่ลดภาษีแต่ประกอบไปด้วยประเด็นใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงการค้าและประเด็นด้านสังคมไว้ด้วยกัน เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา และความโปร่งในการมีส่วนร่วม ซึ่งหากการเจรจาสรุปผลลงน่าจะช่วยดึงการลงทุนและช่วยให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2559