คลังขึ้นแบล็กลิสต์ไล่ล่าเบี้ยวหนี้‘กู้เงินเรียน’

30 มี.ค. 2559 | 00:30 น.
คลังเตรียมถกมหาดไทยและประกันสังคม ศึกษากฎหมายดัดหลังพวกเบี้ยวหนี้ / เตือนไม่สามารถทำบัตรประชาชนกรณีหาย/หมดอายุ ฟาก กยศ.เดินหน้า ปี2561 ใครหนีเจอติดแบล็กลิสต์ ระบุ เด็กเมืองกรุงหนีกว่าต่างจังหวัด พร้อมจับมือหน่วยงานองค์กรนายจ้าง 36 แห่งลงนาม MOU ทั้งภาครัฐ-เอกชนสร้างวินัยเด็กไทยกู้แล้วคืนกองทุน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือในโครงการ "กยศ. กรอ. เพื่อชาติ" โดยเป็นการรณรงค์สร้างวินัยทางการเงินให้บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมชำระเงินคืนกองทุน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังกำลังศึกษาข้อกฎหมายร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานประกันสังคม เพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถทำได้หรือไม่ กรณีดำเนินการไม่ต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) แต่ไม่ชำระเงินคืนเงินให้กับกองทุน โดยจะประสานกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืม หากพบว่าไม่ชำระเงินกองทุน จะไม่ต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนทันที หลังจากนั้นคาดว่ากระบวนการจะเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

ที่ผ่านมา กยศ.ถูกมองว่าปล่อยเงินกู้ให้บุคคลไม่ยอมจ่ายเงินคือ หรือปล่อยให้เกิดการเบี้ยวหนี้ ซึ่งในความเป็นจริงยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจจะไม่ใช้เงินคืนกองทุน นับเป็นปัญหาสะสมมานาน จึงนำมาสู่การลงนามโครงการ "กยศ. กรอ. เพื่อชาติ" รณรงค์สร้างวินัยทางการเงินให้กับบุคลากรผู้กู้ยืมต้องชำระคืนกองทุน โดยได้ลงนามร่วมกับผู้บริหารองค์กรนายจ้างภาครัฐและเอกชน 37 แห่ง ด้วยการให้องค์กรนายจ้างหักเงินเดือนประจำนำส่งคืน กยศ. ด้วยนำเงินตามสัดส่วนรายได้และเงินค้างชำระ เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพ

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวย้ำว่าปัจจุบันลูกหนี้ กยศ.ทำงานในส่วนข้าราชการ 1.9 แสนราย มียอดค้างไม่เกิน 6หมื่นล้านบาท จากยอดผู้กู้ผ่าน กยศ.กว่า 4.5 ล้านคน เป็นเงินให้กู้ยืม 4.7 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากยังมีผู้ค้างชำระไม่ยอมคืนเงินกองทุน จึงส่งผลกระทบทำให้วงเงินปล่อยกู้ในปีถัดไปลดลง

อย่างไรก็ดีในอนาคตเบื้องต้นหวังว่าแนวทางดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการชำระหนี้จากผู้กู้เข้ามาเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะผลักดันให้กองทุน กยศ.สามารถปล่อยกู้ให้กับนักศึกษาที่ต้องการศึกษาในสาขาขาดแคลน โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Super cluster) เช่น ผู้ผลิตหุ่นยนต์ นักบิน แพทย์ วิศวกร วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม โดยจะให้กู้หลักแสนถึงล้านบาท โดยในอนาคตจะกำหนดวงเงินสำหรับบุคลากรแรงงานกลุ่มสำคัญ เพื่อให้มีวงเงินกู้สูงอาชีพทั่วไป ที่สำคัญโอกาสเกิดหนี้เสียจากการปล่อยกู้น้อยเมื่อเทียบกับการเรียนสายอาชีพอื่นๆ

ด้านนางสาวฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบัน กองทุน สามารถปล่อยกู้ไปได้แล้วกว่า 4.5 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืม กว่า 4.7 แสนล้านบาท ทั้งนี้พบว่า มียอดค้างชำระจากผู้ที่เคยกู้ยืมกว่า 5 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้กู้ 2 ล้านราย เป็นการกู้ทั่วไปแล้วมีการติดตามชำระหนี้ 1 ล้านราย เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 1 แสนราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดีทำการฟ้องร้อง 8-9 แสนราย หรือคิดเป็นวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท

โดยในเร็วๆนี้ คาดว่าจะมีผู้กู้ที่อยู่ในกลุ่มจะถูกฟ้องเพิ่มอีก 1.9-2 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 22,000 ล้านบาท เนื่องจากครบสัญญาการกู้ยืม 15 ปี และยังไม่เคยติดต่อเพื่อขอชดใช้หนี้มาก่อน ดังนั้นลุกหนี้กลุ่มนี้จะถูกดำเนินคดีเป็นกลุ่มแรกของปี 2559

"นอกจากนี้ ในปี 2561 กยศ.นำชื่อ ผู้กู้ กยศ.ทั้งผู้กู้รายเก่า และรายใหม่ ประมาณ 4.5 ล้านคนเข้าสู่ระบบข้อมูลเครดิตบูโร หากใครชำระหนี้ตามปกติ ก็ไม่เสียเครดิต แต่ถ้า ไม่ชำระ ก็จะถูกขึ้นบัญชี หรือติดแบล็กลิสต์ จะมีผลทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอธุรกิจทางการเงินใดๆ ได้อีก"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559