‘สื่อวิทยุ’ โตสวนกระแสเศรษฐกิจ

26 มี.ค. 2559 | 11:00 น.
ในปีที่ผ่านมามีเพียงไม่กี่สื่อเท่านั้นที่มีผลประกอบการเป็นบวก ซึ่งรวมไปถึง "สื่อวิทยุ" ด้วย ที่ถึงแม้จะมีการปิดตัวคลื่นบ้าง คืนคลื่นให้เจ้าของสัมปทานไปบ้าง แต่ "สื่อวิทยุ" ที่เหลือก็ยังสามารถฝ่ามรสุมจนมีรายได้เพิ่มขึ้นไปได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทีมงาน Strategy & Innovation ของ Initiative จึงต้องนำข้อมูลของสื่อวิทยุมาวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆ รวมถึงนำเสนอกลุ่มธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนให้สื่อวิทยุยังคงเป็นหนึ่งในสื่อที่มีผลประกอบการเป็นบวกในช่วงวิกฤติของหลายๆ สื่อ

[caption id="attachment_40524" align="aligncenter" width="700"] Media Spending : Radio 2011-2015 Media Spending : Radio 2011-2015[/caption]

ทีมงานได้นำความเคลื่อนไหวทางรายได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของสื่อวิทยุมาให้ได้ดูกัน โดยในปี 2011 รายได้รวมของสื่อวิทยุอยู่ที่ 6,251 ล้านบาท และเมื่อจบปลายปี 2012 ยังมีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่องโดยมีรายได้เพิ่มขึ้นไปถึง 6% หรือคิดเป็นรายได้รวม 6,618 ล้านบาท แต่เมื่อในปี 2013 รายได้ของสื่อวิทยุสะดุดลงเล็กน้อยไปจบอยู่ที่ 6,616 ล้านบาท แต่เมื่อเข้าปี 2014 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ทั้งการเมือง และความไม่สงบภายในประเทศต่างๆ ได้ฉุดรายได้ของสื่อวิทยุลงไปติดลบถึง 10% หรือมีรายได้รวมอยู่เพียง 5,985 ล้านบาทเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลงการโฆษณาในสื่อวิทยุกระเตื้องขึ้นจนเมื่อจบปี 2015 รายได้รวมพุ่งขึ้นมาเป็น 6,417 ล้านบาทหรือโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 7% ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับวงการวิทยุอีกครั้ง

[caption id="attachment_40525" align="aligncenter" width="700"] Top ten Radio category 2015 Top ten Radio category 2015[/caption]

ดูกันต่อว่า กลุ่มธุรกิจที่เข้ามาโอบอุ้มสื่อวิทยุจนมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในปี 2015 คือกลุ่มธุรกิจไหนบ้าง จากตารางจะเห็นว่า กลุ่ม Public Service Ad. กลุ่ม Motor Vehicle กลุ่ม Communication กลุ่ม Entertainment และกลุ่ม Supplementary Foods เป็นกลุ่มท็อป 5 ที่ยังคงให้การสนับสนุนในสื่อวิทยุที่ดีมาโดยตลอดในหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2015 มีการใช้งบรวมๆ กัน 2,267 ล้านบาทหรือประมาณ 30% ของรายได้สื่อวิทยุทั้งหมด

[caption id="attachment_40526" align="aligncenter" width="700"] Top ten media Spending 2014 - 2015 Top ten media Spending 2014 - 2015[/caption]

และหากเมื่อเทียบกับการซื้อสื่อวิทยุในปี 2014 จะเห็นว่า ในปี 2015 กลุ่ม Public Service Ad. มีการใช้งบเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 133 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่ม Supplement Foods ก็มีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 5 ล้านบาท กลุ่ม Insurance ใช้งบเพิ่มขึ้น 17 ล้านบาท กลุ่ม Petrol ก็เช่นกันที่ใช้เพิ่มขึ้น 7 ล้านบาท กลุ่ม Travel & Tour เพิ่มขึ้น 6 ล้านบาท แต่ก็มีกลุ่ม Motor Vehicle ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ใช้สื่อวิทยุหนักๆ มาโดยตลอดกลับใช้งบลดลงไปถึง 73 ล้านบาท ซึ่งก็น่าจะมีผลมาจากการลดงบโฆษณาที่เคยทุ่มทุนอย่างมโหฬารในปี 2014 เพื่อโปรโมตโครงการรถยนต์คันแรก ในขณะที่กลุ่ม Communication และกลุ่ม Entertainment ก็เป็นอีก 2 รายที่ลดงบโฆษณาในสื่อวิทยุของปี 2015 ลงแล้วหันไปเล่นสื่อใหม่ๆ อย่างทีวีดิจิตอลแทน

ทั้งนี้จากข้อมูลการซื้อสื่อโฆษณาล่าสุดพบว่า ยอดซื้อสื่อโฆษณาวิทยุในเดือนมกราคม 2016 มี 402 ล้านบาทยังคงมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นกว่าปี 2015 ซึ่งมีอยู่ที่ 369 ล้านบาทหรือสูงกว่าประมาณ 9% ในขณะที่สื่อหลักๆ อย่างเช่น โทรทัศน์ ทีวีดิจิตอล หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ต่างลดลงเป็นทิวแถว คงต้องมาดูกันเป็นรายไตรมาสว่า "สื่อวิทยุ" มีดีเพียงพอที่จะประคองตัวเองให้มีผลประกอบการเป็นบวกได้หรือไม่ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาเช่นนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 25 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559