เฟดเอ็กซ์เอาใจผู้ค้าออนไลน์ ขยายบริการช่วยส่งพัสดุตปท.

26 มี.ค. 2559 | 12:00 น.
เฟ็ดเอ็กซ์ เดินหน้าแผนการขยายธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในระดับโลก ด้วยบริการช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าข้ามประเทศ หวังแข่งขันชิงเค้กสินค้าที่ส่งไปยังผู้บริโภคในจีนและญี่ปุ่นที่มีเพิ่มมากขึ้น

เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า เฟ็ดเอ็กซ์ คอร์ป บริษัทขนส่งสินค้าจากสหรัฐฯ รีแบรนด์บริการของ บองโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เฟ็ดเอ็กซ์ซื้อกิจการมาเมื่อปี 2557 เป็น เฟ็ดเอ็กซ์ ครอสบอร์เดอร์ (FedEx Crossborder) โดยบองโก้เป็นบริษัทที่ให้บริการช่วยเหลือผู้บริโภคในการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ค้าปลีกในต่างประเทศ ด้วยการปรับอัตราแลกเปลี่ยน ค่าขนส่งและภาษีให้สอดคล้องกับประเทศต่างๆ โดยอัตโนมัติ

ชิป ฮัลล์ รองประธานของธุรกิจเฟ็ดเอ็กซ์ ครอสบอร์เดอร์ กล่าวว่าบริษัทมีแผนจะขยายบริการดังกล่าวไปสู่ผู้ค้าอี-คอมเมิร์ซในจีนและญี่ปุ่นภายในเดือนมิถุนายนปีหน้า ขณะเดียวกันเฟ็ดเอ็กซ์ได้ทำการบูรณาการระบบการส่งสินค้าสำหรับผู้ค้าปลีกอี-คอมเมิร์ซในสหรัฐฯ ยุโรป และเปรู ที่ต้องการส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อย "เอเชียเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 2 ในแง่ของการส่งออก เทียบเท่ากับยุโรป และกำลังเติบโตในอัตราที่รวดเร็วกล่าว" ฮัลล์กล่าว

ความพยายามในการขยายธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในต่างประเทศของเฟ็ดเอ็กซ์เกิดขึ้นในเวลาที่บริษัทอื่นๆ ต่างเพิ่มการลงทุนในบริการสำหรับช่วยเหลือผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ ในการส่งสินค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์ไปยังต่างประเทศ บริษัท ยูไนเต็ด พาร์เซล เซอร์วิสฯ (ยูเอสพีเอส) ทุ่มเงินซื้อกิจการบริษัท ไอ-พาร์เซลฯ ในปีเดียวกับที่เฟ็ดเอ็กซ์ซื้อกิจการบองโก้ ขณะที่บริษัท พิทนีย์ บาวส์ฯ ซื้อกิจการบริษัท บอร์เดอร์ฟรีฯ มาเมื่อปีก่อน

บริการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสะดวกสบายในกระบวนการส่งสินค้าไปต่างประเทศ สำหรับผู้ค้าที่มีความยากลำบากในการติดตามข้อมูลต่างๆ เช่น อัตราภาษี ระยะเวลาส่งสินค้า ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศได้ครบถ้วน ผู้ค้าปลีกรายใหญ่บางรายจ้างพนักงานหลายสิบคนเข้ามาทำหน้าที่จัดการและติดตามสินค้าในส่วนนี้ ขณะที่ผู้ค้ารายย่อยกล่าวว่า สินค้าที่สูญหายหรือล่าช้าระหว่างกระบวนการส่งสร้างความไม่พอใจให้กับผู้บริโภค

บริษัท เพย์วิชั่นฯ ผู้ให้บริการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามสกุลเงินสำหรับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ประเมินว่า 1 ใน 5 ของทราฟฟิกที่เข้ามาถึงผู้ค้าปลีกออนไลน์โดยเฉลี่ยมาจากนอกประเทศของผู้ค้าปลีกรายนั้นๆ ขณะที่ผลสำรวจความเห็นของผู้ค้าปลีกและผู้ให้บริการด้านการทำธุรกรรมเกือบ 1,200 ราย เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าการซื้อขายข้ามพรมแดนคิดเป็นส่วนประมาณ 20% ของการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ทั่วโลก โดยเพย์วิชั่นคาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายในส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 27% ต่อปีไปจนถึงปี 2563

โจ เอมิก รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจของเพย์วิชั่น กล่าวว่า ในขณะที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนกำลังเติบโตขึ้น การจัดส่งสินค้าที่ยังไม่มีความแน่นอนเป็นอุปสรรคที่ผู้ให้บริการต้องการที่จะกำจัด โดยหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ผู้ค้าหุ้นส่วนของเพย์วิชั่นเผชิญคือระยะเวลาการส่งสินค้าไปต่างประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เฟ็ดเอ็กซ์น่าจะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดจีนจากผู้ค้าที่เคยใช้บริการส่งสินค้าในราคาถูกไปยังต่างประเทศ "ราคามีความสำคัญอย่างแน่นอน ถ้าคุณให้บริการในตลาดที่มีการแข่งขันสูงอย่างจีน หรือตลาดที่เติบโตเต็มที่แล้วอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี ด้วยค่าธรรมเนียมส่งสินค้าที่สูง คุณจะไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับการให้บริการในตลาดที่ไม่มีทางเลือกมากนัก" ชาร์ลส ไวท์แมน รองประธานอาวุโสจากบริษัท โมชั่นพอยต์ฯ ผู้ให้บริการช่วยเหลือผู้ค้าปลีกจัดทำข้อมูลบนเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซในภาษาและสกุลเงินต่างๆ ให้ความเห็น

แต่ขณะเดียวกัน ไวท์แมนกล่าวว่า การส่งพัสดุไปต่างประเทศเป็นความท้าทายอย่างยิ่งด้านโลจิสติกส์ และผู้ค้าปลีกมีความจำเป็นที่จะต้องใช้บริการในลักษณะนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 25 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559