การส่งออกไทยเดือนก.พ. 2559 โต 10.27% YoYตามแรงหนุนจากทองคำ และรายการพิเศษอื่นๆ

25 มี.ค. 2559 | 10:45 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง การส่งออกไทยเดือนก.พ. 2559 โต 10.27% YoY ตามแรงหนุนจากทองคำ และรายการพิเศษอื่นๆ

การส่งออกของไทยเดือนก.พ. 2559 กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน แต่ผลส่วนใหญ่มาจากการส่งออกทองคำ และสินค้ารายการพิเศษอื่นๆ จากรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุด มูลค่าการส่งออกของไทยพลิกกลับมาเติบโตถึงร้อยละ 10.27 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในเดือนก.พ. 2559 (นอกจากจะเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 14 เดือนแล้ว ยังเป็นอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกรายเดือนที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา) โดยแม้การส่งออกที่ขยายตัวสูงในเดือนก.พ. 2559 จะช่วยล้างภาพการหดตัวของเดือนม.ค. 2559 ที่ร้อยละ -8.9 ได้ และหนุนให้ภาพรวมของการส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 0.67 (YoY) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2559 อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณดังกล่าวอาจจะยังไม่ถือเป็นภาพบวกมากนักต่อภาคการส่งออกของไทย เพราะหากไม่นับรวมการส่งออกรายการพิเศษจากทองคำ เฮลิคอปเตอร์และยานยนต์ซ้อมรบแล้ว สถานการณ์การส่งออกสินค้าในหมวดสำคัญอื่นๆ ของไทย ก็ยังคงมีภาพที่อ่อนแอ

สถานการณ์การส่งออกเดือนก.พ. 2559 ... แม้มีอัตราการขยายตัวสูง แต่ภาพด้านบวกยังมีไม่มาก

การขยายตัวสูงของการส่งออกไทยในเดือนก.พ. 2559 น่าจะมาจากหลายปัจจัยพิเศษที่เกิดขึ้นเฉพาะในระหว่างเดือน ซึ่งอาจจะมีแรงหนุนลดลงต่อมูลค่าการส่งออกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อาทิ

1)สถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของมูลค่าการส่งออกทองคำ ที่ 1,890 ล้านดอลลาร์ฯ  ในเดือนก.พ. 2559 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 1,051 (YoY) โดยปริมาณการส่งออกทองคำในเดือนนี้พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ 50,992 กิโลกรัม ตามแรงเก็งกำไร หลังจากที่ราคาทองคำในประเทศพุ่งขึ้นเหนือระดับ 20,500 บาทต่อบาททองคำ ตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นไปใกล้ระดับ 1,250 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์

2)การส่งออกเฮลิคอปเตอร์และยานยนต์ที่ใช้ในการซ้อมรบกลับออกไป (หลังการร่วมซ้อมรบกับกองทัพไทยแล้วเสร็จ) ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 683 ล้านดอลลาร์ฯ

ดังนั้น หากหักการส่งออกน้ำมัน ทองคำและรายการพิเศษจากการส่งออกเฮลิคอปเตอร์และยานยนต์ซ้อมรบออกไป จะทำให้การส่งออกสินค้าปกติของไทยในเดือนก.พ. 2559 ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องที่ประมาณร้อยละ -2.0 (YoY)

ราคาสินค้าส่งออกในหมวดที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และหมวดสินค้าเกษตร ที่อยู่ต่ำกว่าระดับของช่วงเดียวกันปีก่อน ยังคงฉุดมูลค่าการส่งออกสินค้าในหลายหมวด โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป (-36.5% YoY) เคมีภัณฑ์ (-16.5% YoY) เม็ดพลาสติก (-5.4% YoY) ขณะที่ ราคายางพาราและราคาข้าวที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมาก ก็กดดันให้มูลค่าการส่งออกยางพารา  (-19.7% YoY) และข้าว (+0.3% YoY) อยู่ในระดับต่ำ แม้ว่า ปริมาณการส่งออกยางพารา และข้าวในเดือนก.พ. นี้ จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4.9 (YoY) และร้อยละ 14.2 (YoY) ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกรายการสำคัญ อาทิ รถยนต์นั่ง ยังขยายตัวสูงถึงร้อยละ 98.5 (YoY) โดยเฉพาะในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  ขณะที่ การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำ ก็กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 18.4 (YoY) โดยมีแรงหนุนจากตลาดฮ่องกงเป็นสำคัญ (มีการส่งออกไปขายในงาน Hong Kong International Jewelry Fair)

มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

แม้การส่งออกจะกลับมาบันทึกตัวเลขการเติบโตได้สูงเป็นตัวเลขสองหลักในเดือนก.พ. 2559 (+10.27% YoY) แต่รายละเอียดของข้อมูลสะท้อนว่า ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกยังคงส่งผลทำให้การส่งออกในสินค้ากลุ่มที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ อาหารทะเลแช่แข็ง/กระป๋อง/แปรรูป ขณะที่ สินค้าในกลุ่มที่มีราคาส่งออกเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก (เช่น น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก) ก็ยังคงเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัว ตราบใดที่ราคาน้ำมันยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน

หลังจากที่ภาพรวมการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2559 ขยายตัวได้ร้อยละ 0.67 (YoY) ดังนั้น การที่การส่งออกของไทยทั้งปี 2559 จะสามารถเลี่ยงตัวเลขที่ติดลบได้นั้น สถานการณ์การส่งออกในช่วง 10 เดือนที่เหลือของปี จะต้องมีมูลค่าการส่งออกต่อเดือนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งสูงกว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี ที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 17,350 ล้านดอลลาร์ฯ [ทั้งที่รวมผลของเดือนก.พ. ที่มีแรงหนุนจากการส่งออกทองคำ และรายการสินค้าส่งกลับในกลุ่มยุทโธปกรณ์]

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออกในปีนี้ ยังคงมีความท้าทายอยู่อีกมากพอสมควร เพราะนอกจากจะเผชิญกับภาวะการค้าและเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนแล้ว การฟื้นตัวของสินค้าส่งออกที่เป็นรายการสำคัญ ก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้เร็ว ตราบใดที่คำสั่งซื้อจากตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะจีน สหรัฐฯ และยุโรป ยังคงมีภาพที่อ่อนแอ