‘พิชญ์’ปัดจ่ายค่าเสียหาย ‘ประยุทธ์’สั่งประมูลใหม่4จี/กทค.นัดประชุมบี้‘แจส’สุดซอย

25 มี.ค. 2559 | 00:00 น.
"แจส4จี"ถึงเส้นตายแจ้งเกิดไม่สำเร็จ ทิ้งใบอนุญาตทำวงการป่วน กังขาตั้งใจจะทำจริงหรือไม่ “ชาญ บูลกุล” เผยเหตุตกลงกับแบงก์กรุงเทพไม่ได้ ด้านนักวิชาการเชื่อเป็นอุบัติเหตุธุรกิจวางแผนผิดพลาด กทค.สั่งริบเงินคํ้าการประมูล เรียกประชุมบี้ไล่ตรวจไลเซนส์ หาช่องเรียกชดใช้เพิ่ม “ประยุทธ์” สั่งประมูลใหม่ กสทช.เสียงแข็งราคาตั้งต้นเท่าแจสประมูล “พิชญ์” ยอมแจ้งตลาดฯอ้างทุนจีนโอนมาไม่ทัน

ผ่านเส้นตาย 16.30 น.ของวันจันทร์ที่ 21 มีนาคมไปแล้ว โดยไร้วี่แววผู้บริหารบริษัท แจส โมบาย บอรดแบนด์ จำกัด หรือ แจสโมบาย ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่ครบกำหนดต้องชำระเงินประมูลงวดแรก 8.04 พันล้านบาท พร้อมแบงก์การันตี 7.2 หมื่นล้านบาท ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรมคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำให้การประมูลที่สร้างประวัติศาสตร์ไม่ประสบความสำเร็จ 1 ใบอนุญาต สร้างผลกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทย และค่ายจัสมินที่ต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายต่าง ๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องนับจากนี้

 "ชาญ" เผยตกลงกันไม่ได้

สาเหตุที่แจส 4 จีทิ้งใบอนุญาตครั้งนี้ นายชาญ บูลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บรุ๊คเคอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ในฐานะที่ปรึกษาการเงินให้กับตระกูลโพธารามิกในบมจ. จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ แจส กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เป็นเพราะแจสกับธนาคารกรุงเทพตกลงกันไม่ได้ ในเงื่อนไขที่ทางแบงก์วางไว้ ( แผนธุรกิจ /การค้ำประกันส่วนบุคคล) ที่สุดแบงก์กรุงเทพไม่สามารถออกหนังสือค้ำประกันหรือแบงก์การันตี ทำให้แจสไม่มีทางออกในเรื่องนี้

ส่วนประเด็นพันธมิตรร่วมลงทุนนั้น นายชาญกล่าวว่า คุณพิชญ์ น่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุด (เวลานั้น พิชญ์มีนัดแถลงข่าวเวลา 14.00 น.วันอังคารที่ 22 มี.ค. 59 เพื่อเคลียร์หลายประเด็นคาใจ แต่ได้ยกเลิกการแถลงในที่สุด)

ทั้งนี้ ประเด็นที่สังคมจับตากรณีแจสประกาศซื้อหุ้นคืนในราคาหุ้นละ 5 บาท ไม่กี่วันก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าประมูล ทั้งที่แจสน่าจะถือสภาพคล่องไว้เพื่อเตรียมการลงทุนที่ได้ประมูลคลื่นมา กลายเป็นข้อกังขาว่าแจสอาจไม่ตั้งใจจริงในการเข้าประมูลคลื่น 4 จีอยู่แต่แรก หรือทางร้ายกว่านั้นคือได้ประโยชน์จากราคาหุ้น

ต่อประเด็นนี้นายชาญกล่าวว่า การซื้อหุ้นคืน แจสใช้เงินเพียง 6 พันล้านบาท แต่ใบอนุญาตมูลค่ากว่า 7.5 หมื่นล้านบาท เทียบกันไม่ได้ เหตุที่แจสใช้เงินซื้อหุ้นคืนที่ราคา 5 บาทต่อหุ้น จากระดับราคา ณ ขณะนั้นอยู่ที่ 3 บาทกว่า ก็เพื่อจะจ่ายเป็นเงินปันผลพิเศษให้กับผู้ถือหุ้นที่ได้รับความเสียหาย หลังจากที่แจสชนะประมูลและราคาหุ้นตก ไม่มีเบื้องหลังอย่างที่เข้าใจว่า ทางกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่จะได้ประโยชน์จากราคาหุ้นขึ้น-ลง แต่อย่างใด

 เชื่อผิดแผน

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า แจสมีเงินประมาณหนึ่ง เพราะได้นำ JASIF (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบอรดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน) เข้าไประดมทุนได้เงินถึง 5 หมื่นล้านบาท แต่เงินจำนวนดังกล่าวยังไม่เพียงพอในการลงทุน เนื่องจาก แจสคาดหวังเปิดประมูลแล้วจะได้พันธมิตร แต่ไม่ได้มีการเซ็นสัญญาตกลงอย่างเป็นทางการ ดังนั้นพันธมิตรได้วิเคราะห์ว่าต้นทุนสูงไปจึงถอยออกไป ขณะที่ธนาคารกรุงเทพให้แจสส่งแผนธุรกิจถึง 2 รอบ สุดท้ายแบงก์กรุงเทพตัดสินใจไม่ออกแบงก์การันตีให้

อย่างไรก็ตามการนำคลื่นความถี่ 900 มาประมูลใหม่ เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับ กทค.เพราะราคาตั้งต้นอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้าน และถ้าใช้ราคาตั้งต้นมาประมูล ทรูก็คงไม่ยอม เพราะมาตามกติกา แต่ถ้าไปเรียกส่วนต่างจาก แจส คงจะเกิดการฟ้องร้องเช่นเดียวกัน

นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระทางด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า เชื่อว่า แจส มีอุบัติเหตุทางธุรกิจ เพราะคาดว่าเมื่อประมูลเสร็จแล้วจะได้พันธมิตร และเมื่อประมูลคลื่นได้แล้วนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อไม่ได้ตามที่ตั้งเป้า ที่สุดแจสต้องทิ้งใบอนุญาต

 เล็งบี้ค่าเสียหายแจสหมื่นล.

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้รับทราบเรื่องที่ แจสโมบาย ไม่มาจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 4 จี ที่ประมูลได้ตามกำหนดภายในบ่ายวานนี้ ดังนั้น ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย คือเปิดประมูลใหม่ และยืนยันว่าคงไปเอื้อประโยชน์กับใครไม่ได้

ขณะที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทค.) ได้เรียกประชุมเพื่อสรุปแนวทางทั้งหมดในวันที่ 23 มีนาคมนี้ เพื่อสรุปเป็นมติที่ประชุมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปบ้าง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. ในฐานะประธานกทค.เปิดเผยว่า เมื่อแจสไม่มาชำระเงินจำนวนดังกล่าว กสทช.ต้องยึดตามมติที่ประชุม กทค.เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งประกอบด้วย 4 ข้อ คือ 1.ริบเงินหลักประกันการประมูล จำนวน 644 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นเช็คเงินสดที่สามารถนำไปขึ้นเงินได้ทันที นอกจากนี้ ยังจะต้องเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย หรือประกาศที่กำหนดไว้เพิ่มเติม และจะตรวจสอบคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการที่รับใบอนุญาตเดิมจาก กสทช.ทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

2.หากมีการประมูลใหม่ราคาเริ่มต้นต้องเป็นราคาที่แจสชนะประมูล คือ 75,654 ล้านบาท เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อบริษัทที่ชนะการประมูลและมาชำระแล้ว คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 3.การประมูลครั้งใหม่ไม่มีการตัดสิทธิผู้ชนะการประมูลที่ได้ชำระเงินค่าประมูลเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีผู้เข้าร่วมประมูลมากราย และ 4.หากมีการประมูลครั้งใหม่สามารถทำได้ภายใน 4 เดือน แต่หากไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลต้องเก็บคลื่นความถี่ไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี และราคาเริ่มต้นก็ยังคงต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่แจสชนะการประมูล

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุทิ้งใบอนุญาต หน้าที่ของ กสทช.จะต้องทำให้รัฐไม่ให้เกิดความเสียหาย เพราะนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้มีการประเมินแล้วว่า ต้องจ่ายค่าเสียหาย 5 พันล้าน -1 หมื่นล้านบาท

ในการประชุมของกทค.น่าจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจสูจน์ค่าเสียหายโดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ จากกระทรวงการคลัง,สำนักงานอัยการสูงสุ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้ามาเป็นคณะทำงาน

 ดีแทคตีกัน"ทรู"ประมูลใหม่

ด้านนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทค ไตรเน็ต ขอสนับสนุน กสทช. ให้รีบนำคลื่นที่แจสทิ้งใบอนุญาตมาจัดประมูลใหม่ โดยเห็นว่าควรจำกัดให้เฉพาะผู้เข้าร่วมประมูลที่เหลืออยู่จากการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์คราวก่อนเท่านั้น โดยผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์คราวก่อน ไม่ควรมีสิทธิเข้าประมูลครั้งนี้ เพราะได้คลื่นไป 1 ใบอนุญาตแล้ว ตามกฎการประมูลวางไว้ว่าผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายมีสิทธิยื่นประมูลคลื่นความถี่ได้ไม่เกิน 1 ชุดคลื่นความถี่ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และคุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งผูกขาดครอบครองคลื่นรายเดียว

นอกจากนี้ราคาขั้นต่ำ (Reserve Price) ของการประมูลคลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 ครั้งใหม่นี้ควรกำหนดที่ราคา 1.608 หมื่นล้านบาท เท่ากับการประมูลคลื่น 900 MHz คราวก่อน (ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ราย) ซึ่งโดยวิธีนี้ จะเป็นการประมูลแข่งขันที่จะเป็นการกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 ที่แท้จริงและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และให้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะอย่างกว้างขวาง

ขณะที่เอไอเอส ขอพิจารณาเงื่อนไขการประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งใหม่อีกครั้ง ก่อนจะสรุปว่าจะเข้าประมูลหรือไม่

 ทางไหนก็เสี่ยง

การจะประมูลคลื่นใหม่มีปัญหาทุกทาง หากกทค. จะให้เปิดประมูลใหม่ทั้ง 2 ใบอนุญาตโดยใช้ราคาเริ่มต้นเหมือนการประมูลครั้งก่อน (1.608 หมื่นล้านบาท) กลุ่มทรูไม่ยอมแน่ และอาจฟ้องร้องตามมาหากกสทช.สั่งยกเลิก เพราะทรูได้ชำระค่างวดการประมูลตามเงื่อนไขครบถ้วนไปแล้ว เพราะหากเปิดให้มีการประมูลแล้วได้ในราคาต่ำกว่าราคาเดิมและต่ำกว่ากลุ่มทรู เท่ากับว่าทรูกลายเป็นค่ายมือถือเดียวที่แบกต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งรายอื่น

แต่หากจะเปิดประมูลเฉพาะใบอนุญาตที่แจสไม่สามารถนำเงินมาชำระได้ตามกำหนด โดยเบื้องต้นกทค.จะตั้งราคาเท่ากับที่แจสเคยประมูลได้ (เกือบ 7.5 หมื่นล้านบาท)นั้น เป็นราคาที่ตลาดมองว่าสูงกว่าความเป็นจริงอยู่แล้ว ยากที่จะหาเอกชนรายใดมาเสนอราคาในระดับนี้ได้

รวมทั้งหากไม่สามารถหาผู้ประมูลรายใหม่ได้ภายในการประมูลใหม่ 4 เดือนข้างหน้า ต้องเก็บคลื่นไว้ 1 ปี เพื่อไปจัดประมูลอีกครั้งในปี 2560 นั้น เป็นช่วงเวลาที่กสทช.ก็มีแผนจะนำคลื่นความถี่อื่นออกประมูลเช่นกัน ซึ่งก็จะทำให้มูลค่าคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ที่แจสทิ้งใบอนุญาตคราวนี้ไม่ได้ราคาอย่างที่คาดหวังอีกเช่นกัน

 แจ้งตลาดทุนจีนมาไม่ทัน

การทิ้งใบอนุญาตคลื่น4จีของค่ายแจสโดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลใด ๆ จากผู้บริหาร รวมทั้งไม่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของแจสนั้นยิ่งสร้างความสับสน กระทั่งนายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ก็เรียกร้องหาธรรมาภิบาลของผู้บริหารนั้น ทำให้ตั้งแต่เช้าวันอังคารที่ 22 มีนาคมเมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการ ตลท.จึงขึ้นเครื่องหมาย H หลักทรัพย์ของ JAS และ DW ที่มี JAS เป็นหลักทรัพย์อ้างอิง พร้อมแจ้งให้ผู้บริหาร JAS ชี้แจง โดยก่อนหน้ามีข่าวนายพิชญ์จะเปิดแถลงกับผู้สื่อข่าว แต่ต่อมาแจ้งยกเลิกบอกยังไม่ได้แจ้งตลาดฯ และจะแจ้งตลาดก่อน

ต่อมานายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ แจส ได้แจ้งมติบอร์ดต่อตลท. ว่า ในส่วนของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่แจส โมบาย มิได้ไปขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ในครั้งนี้นั้น เนื่องจากว่าแจสโมบาย ไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน จำนวน 7.2 หมื่นล้านบาท มามอบให้แก่กสทช.ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศจีน (สนใจร่วมลงทุนในแจสโมบาย และ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ของประเทศจีน) (หมายเหตุ: ผู้ประกอบการมือถือรายใหญ่ในจีน ประกอบด้วย ไชน่า โมบายได้ร่วมลงทุนกับทรูแล้ว ที่เหลือมีไชน่า ยุนิคอม และไชน่า เทเลคอม) ติดข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาในการขออนุมัติ จากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องของประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือนเมษายนนี้ ทำให้ไม่ทันกำหนด 90 วัน ตามที่ระบุในประกาศ ของ กสทช.

อนึ่งในหนังสือแจ้งตลท.นายพิชญ์ระบุว่าจำนวนเงินประกันคิดเป็น 1.27%ของสินทรัพย์รวมบริษัทเท่านั้น เงินการประกันประมูลดังกล่าวมาจากทุนชำระแล้วของบริษัทแจสโมบายฯ และเงินที่บริษัทให้กู้ยืม ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ในปี 2559 รวมจำนวน 644 ล้านบาท

 เดินหน้าซื้อหุ้นคืนรวม 6 พันล.

วันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา JAS แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง โครงการซื้อหุ้นคืนวงเงิน 6 พันล้านบาท คิดเป็น16.82% ของทุนเรียกชำระแล้ว โดยจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติในวันที่29 เมษายน 2559 เวลา 10.30 น. นอกจากนี้จะมีการขออนุมัติเพื่อจ่ายปันผล ทั้งนี้บอร์ด JAS กำหนดจ่ายปันผลเป็นเงินสดที่ 0.30 บาทต่อหุ้น (2.14 พันล้านบาท)โดยมาจากกำไรสะสม

 อ้างถูกริบแค่เงินประกัน644ล.

ในหนังสือแจ้งตลาดยังระบุด้วยว่า ภาระหรือความเสียหายที่จะเกิดกับแจสมีอย่างจำกัด โดยระบุว่า ทั้งนี้ ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทได้ให้ความเห็นว่า แจสโมบาย ต้องถูกริบเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจาก แจสโมบาย มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขใด ๆ ตามข้อ 5.2 ของหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ และการถูกริบเงินดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

หลังการชี้แจงตลท.ขึ้นเครื่องหมายSPพักการซื้อขายหลักทรัพย์ของแจส เนื่องจากยังชี้แจงไม่ครบ

(อ่านข่าวประกอบฟิทช์ยังมองลบหลังไร้ JAS หน้า 11)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559