แนวโน้มสินเชื่อยูโรไม่เพิ่ม แม้อีซีบีใช้ดอกเบี้ยติดลบ

25 มี.ค. 2559 | 10:00 น.
แม้อีซีบีจะออกมาตรการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ด้วยการตั้งดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืนในแดนลบ แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่ามาตรการของอีซีบียังไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น

รายงานจากบลูมเบิร์กระบุว่า มูลค่าเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซนนำมาฝากกับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่นอกเหนือจากเงินฝากตามข้อบังคับนั้น เพิ่มขึ้น 6 เท่านับตั้งแต่มีการนำนโยบายดอกเบี้ยติดลบมาใช้เมื่อปี 2558 ขณะเดียวกัน การปล่อยสินเชื่อภายในภูมิภาคยูโรโซนแทบจะไม่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากสินทรัพย์มูลค่ารวม 6.46 แสนล้านยูโรที่ธนาคารมีเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ประมาณ 85% ถูกนำกลับไปฝากไว้ที่อีซีบี

แม้อีซีบีจะปรับลดดอกเบี้ยสู่ระดับติดลบ ซึ่งหมายความว่าธนาคารจะต้องจ่ายเงินเพื่อฝากเงินกับอีซีบี แต่หนึ่งเหตุผลที่ธนาคารยอมจ่ายเงินพื่อนำเงินไปฝากเป็นเพราะความต้องการสินเชื่อที่อ่อนแอในภาวะเศรษฐกิจที่ยังค่อยๆ ฟื้นตัวจากภาวะถดถอยและวิกฤติหนี้สาธารณะ เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ธนาคารยังมีปัญหากับหนี้เสียหรือระดับเงินทุนต่ำ ขณะที่ธนาคารซึ่งอยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างลังเลที่จะเพิ่มการปล่อยสินเชื่อ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า แม้แต่นโยบายล่าสุดของอีซีบี ในการจ่ายดอกเบี้ยให้กับเงินกู้ที่ธนาคารมากู้จากอีซีบีอาจจะช่วยไม่ได้มากนัก

"พวกเขามีกำไรไม่มากพอที่จะเพิ่มการปล่อยสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแม้แต่ดอกเบี้ยเงินฝากติดลบก็ช่วยไม่ได้มากนัก" ยาน ชิลด์บาค หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านธนาคารและตลาดการเงินของดอยช์แบงก์ ให้ความเห็น

ข้อมูลจากอีซีบีแสดงให้เห็นว่า การปล่อยสินเชื่อให้กับบุคคลทั่วไปและบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยไม่รวมสินเชื่อบ้าน คงที่อยู่ที่ประมาณ 6.8 ล้านล้านยูโรนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557

แม้ว่าดอกเบี้ยติดลบช่วยลดต้นทุนกู้ยืมให้กับบริษัทและผู้บริโภคในยุโรป แต่ขณะเดียวกันก็กดดันอัตรากำไรของธนาคารพาณิชย์ โดยในขณะที่ดอกเบี้ยการปล่อยสินเชื่อลดลงแต่ดอกเบี้ยเงินฝากไม่สามารถลดลงไปได้ต่ำกว่าศูนย์เนื่องจากธนาคารเกรงว่าผู้ฝากเงินจะถอนเงินออกไป ผลต่างระหว่างดอกเบี้ยที่ธนาคารเก็บจากผู้กู้ยืมและที่ธนาคารต้องจ่ายให้ผู้ฝากเงินจึงลดน้อยลง

"หนึ่งในเหตุผลที่ธนาคารมีผลประกอบการไม่ดีมาจากอัตรากำไรที่ถูกกดดันจากดอกเบี้ยติดลบ ถ้าธนาคารไม่เข้มแข็งพอจะปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเนื่องจากทำเงินไม่ได้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อได้อย่างไร" นายอลาสแตร์ จอร์จ นักยุทธศาสตร์การลงทุนจากเอดิสัน อินเวสต์เมนต์ รีเสิร์ช กล่าว

แทนที่จะปล่อยกู้ด้วยส่วนต่างดอกเบี้ยที่ต่ำให้กับบริษัทและผู้บริโภคในเขตยูโร ธนาคารหันไปลงทุนกับสินทรัพย์นอกภูมิภาคแทน อีกทั้งยังลดการถือพันธบัตรรัฐบาลที่ส่วนใหญ่มีผลตอบแทนติดลบ

ซาติอาโก้ คาร์โบ-วัลเวอร์ดี ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยบังกอร์ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ถ้าดอกเบี้ยยังติดลบต่อไป ธนาคารอาจไม่มีทางเลือกนอกจากเริ่มเก็บเงินจากผู้บริโภครายย่อยที่นำเงินมาฝากธนาคาร "เงินบางส่วนจะถูกนำไปเก็บไว้ในบ้าน แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเงินเฟ้อติดลบ คุณจะไม่รู้สึกว่าสูญเสียเงินไปเพราะเงินฝากธนาคารก็มีดอกเบี้ยติดลบเช่นกัน"

ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อติดลบ หรือเงินฝืด เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความกังวลให้กับอีซีบี โดยเงินเฟ้อในยูโรโซนช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาแกว่งตัวอยู่ในระดับ -0.6 ถึง 0.4%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559