สิงห์เลี่ยงตลาดเบียร์แข่งเดือด ยํ้าขายราคาเดิมอัดงบตลาดฉุดยอดสินค้านอนแอลกอฮอล์

25 มี.ค. 2559 | 07:00 น.
สิงห์ ย้ำจุดยืนขายราคาเดิมหลังมีกระแสเบียร์จ่อปรับราคา ชี้ตลาดเบียร์แข่งขันรุนแรงขึ้นหลังคู่แข่งโหมโปรโมชั่น ขณะที่แนวโน้มตลาดทรงตัวจากปีก่อน เหตุปัจจัยลบรุมเร้าเพียบ หันอัดงบตลาดเพิ่มหวังฉุดยอดเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์

[caption id="attachment_40048" align="aligncenter" width="328"] ปิติ ภิรมย์ภักดี  กรรมการบริหาร  บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ปิติ ภิรมย์ภักดี
กรรมการบริหาร
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด[/caption]

นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่มีแผนปรับขึ้นราคาเบียร์ทั้งในส่วนของโรงงานหรือส่วนของเอเยนต์แต่อย่างใด เนื่องจากอัตราการจัดเก็บภาษีของเบียร์เต็มเพดานแล้ว ซึ่งหากจะมีการปรับขึ้นราคาจริงก็ต่อเมื่อทางกรมสรรพสามิตมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราการจัดเก็บภาษีเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าทางกรมสรรพสามิตยังไม่มีการขยายเพดานภาษีในช่วงเร็วๆนี้แต่อย่างใด แต่ในระยะยาวเชื่อว่าจะมีการขยายเพดานภาษีอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้านราคาอยู่แล้ว

ขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทจะหันมาให้ความสำคัญและทำตลาดกับสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น เนื่องจากคาดว่าตลาดเบียร์ปีนี้จะซบเซาหนักกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะติดลบ 3-5% จากปีก่อนที่ตลาดเติบโตที่ 1% ซึ่งการเติบโตมาจากการกักตุนสินค้าของผู้ประกอบการก่อนการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบกับการรณรงค์ให้ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐยิ่งทำให้ตลาดค่อนข้างเงียบเหงา

ทั้งนี้ในส่วนของการจัดกิจกรรมทางการตลาด ยังคงให้ความสำคัญเหมือนทุกปีที่ผ่านมาภายใต้งบประมาณ 1.6-1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน สอดรับกับตลาดที่ค่อนข้างอิ่มตัว แต่จะไม่อัดโปรโมชั่นที่รุนแรงเพื่อดึงอัตราการบริโภค หรือจัดโปรโมชั่นแข่งขันด้านราคากับคู่แข่ง เพราะเข้าใจว่าการผลักดันอัตราการบริโภคค่อนข้างยากท่ามกลางการแข่งขันและสภาพตลาดแบบนี้ จึงหันมาปรับลดต้นทุนภายใน เพื่อรักษาอัตราการทำกำไรให้ได้ 5% ตามเป้าหมายที่วางไว้แทน

“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันตลาดเบียร์แข่งขันรุนแรงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่คู่แข่งปรับแพ็คเกจจิ้งและจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของบริษัทมองว่าในสภาวะปัจจุบันการรักษาระดับการเติบโตโดยคำนึงถึงสังคมและกฎหมาย รวมไปถึงผลกำไรมากกว่าการเดินหน้าชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งถ้าหากบริษัทจะอัดกิจกรรมการตลาดรูปแบบต่างๆก็สามารถทำได้ แต่นั่นไม่ใช่นโยบาย แต่เราจะหันมาเน้นการบริการจัดการต้นทุนแทน เพื่อรองรับในสภาวะที่ตลาดเบียร์ชะลอตัว”

ขณะที่ภาพรวมการเติบโตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าขายของแทบทุกกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มในตลาด แต่จากภาพรวมที่ประเมินแล้วมองว่าน่าจะซบเซาเหมือนช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัจจัยลบเข้ามาเกี่ยวข้องหลายปัจจัย โดยประเมินแล้วว่าจะไม่มีการอัดกิจกรรมทางการตลาดมากมายแต่อย่างใด แต่การที่บริษัทเพิ่มงบประมาณทางการตลาดนั้น เนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรงจึงต้องเพิ่มงบตามไปด้วยเพื่อรองรับและรักษายอดขาย ส่วนตำแหน่งหรือส่วนแบ่งการตลาดนั้น ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักตราบใดที่ยังสามารถรักษากำไรได้ตามเป้า

อย่างไรก็ตามในส่วนของแผนงานต่างประเทศนั้น เบื้องต้นบริษัทยังไม่มีแผนขยายการลงทุนแต่อย่างใด เนื่องจากตลาดยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลัก เกิดสภาวะซบเซาจากสภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดเออีซีบริษัทยังไม่มีแผนที่จะขยายการทำตลาดเช่นกัน โดยจะคงรักษาปริมาณขายไว้เท่าเดิมที่ 140 ล้านลิตรต่อปี เพราะถ้าเพิ่มมากไปกว่านี้จะมีปัญหาด้านการลงทุน รวมถึงเงื่อนไขกฎหมายในแต่ละประเทศ ที่ต้องการให้เข้ามาลงทุนเมื่อมีมูลค่าการทำธุรกิจที่สูงขึ้น หรือมีปริมาณสินค้าที่ส่งเข้าไปมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,141 วันที่ 20 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2559