สิงคโปร์ประดิษฐ์โซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูงสุด

24 มี.ค. 2559 | 07:00 น.
หนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ส รายงานว่านักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ค้นพบวิธีการทำให้โซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าในอัตราส่วนที่สูงที่สุดที่ผลิตได้ในสิงคโปร์ในระดับราคาที่ไม่แพง

โซลาร์เซลล์ที่นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ประดิษฐ์และผลิตขึ้นทั้งหมดในสิงคโปร์มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพลังงานถึง 21.3 % สูงที่สุดในสิงคโปร์ โดยดร.โทนีโอ โบนาเซสซี (Tonio Buonassisi) อาจารย์จากโครงการพันธมิตรสำหรับเทคโนโลยีและวิจัยร่วมสิงคโปร์-เอ็มไอที (สมาร์ท) ให้สัมภาษณ์สเตรตไทม์ส ว่าโซลาร์เซลล์ที่ผลิตได้ในสิงคโปร์ในปัจจุบันมีอัตราส่วนในการเปลี่ยนพลังแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่เพียง 17-18 % เท่านั้น

[caption id="attachment_40016" align="aligncenter" width="357"] ดร. อาร์มิน อาร์เบอร์ลี (Armin Aberle) ดร. อาร์มิน อาร์เบอร์ลี (Armin Aberle)[/caption]

ดร. อาร์มิน อาร์เบอร์ลี (Armin Aberle) ผู้ร่วมในทีมของสมาร์ทอีกคนหนึ่ง ระบุว่า โซลาร์เซลล์ที่ผลิตในต่างประเทศ มีอัตราเปลี่ยนพลังงานสูงถึง 24% ซึ่งสูงกว่าความสามารถของนวัตกรรมล่าสุดที่คิดค้นได้ในสิงคโปร์ แต่มีต้นทุนสูงกว่าโซลาเซลล์ที่มีอัตราเปลี่ยนพลังงานแบบทั่วไป ถึง 50%

ดร.โบนาเซสซี กล่าวว่าโซลาร์เซลล์ ทั่วไปทำจากซิลิคอน ซึ่งมีความสามารถในการเปลี่ยนแสงในสีที่อยู่ใกล้กับอินฟราเรตซึ่งเป็นแสงที่มองไม่เห็นให้เป็นไฟฟ้าได้ดี แต่มีประสิทธิภาพต่ำในการเปลี่ยนแสงที่มองเห็นและอัลตราไวโอเลตให้เป็นพลังงานไฟฟ้า

ดร.โบนาเซสซี กล่าวว่า “โซลาร์เซลล์ที่นักวิจัยชาวสิงคโปร์คิดค้นขึ้นมามีประสิทธิภาพมากกว่าโซลาร์เซลล์โดยทั่วไป เนื่องจาก เป็นนวัตกรรมที่ผสมวัสดุแกลเลียมอาร์เซไนด์เข้าไปในตัวโซลาร์เซลล์ทำให้สามารถเปลี่ยนแถบสีอื่นๆ ของแสงที่มองเห็นได้ให้เป็นไฟฟ้าได้ดีขึ้น”

สเตรตไทม์ส ระบุว่า โซลาร์เซลล์ที่นักวิจัยสิงคโปร์ประดิษฐ์ขึ้นสามารถใช้กับแสงแดดที่ส่องลงมาตรงๆโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์กระจกหรือเลนส์รวมแสงซึ่งมีราคาแพงทำให้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาได้ทันทีในราคาที่ไม่เพิ่มมาก

ดร.อาร์เบอร์ลี กล่าวว่าการค้นพบวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพโซลาร์เซลล์ให้มีอัตราเปลี่ยนพลังงานที่ 21.3%โดยใช้แกลเลียมอาร์เซไนด์ ยังอยู่ในระดับเริ่มต้น เพราะมีทีมวิจัยที่ใช้วัสดุอื่น เชื่อว่าภายในปี 2568 จะสามารถผลิตโซลาร์เซลล์ที่มีอัตราเปลี่ยนพลังงานที่ 25 % และหลังจากนั้นอีก 5 ปีจะค้นพบนวัตกรรมที่จะทำให้อัตราการเปลี่ยนพลังงานไปอยู่ที่ 30% ซึ่งเกือบเป็น 2 เท่าของอัตราทั่วๆ ไปในปัจจุบัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559