คนไทยเริ่มตกงานกันบ้างแล้ว

22 มี.ค. 2559 | 00:00 น.
แม้ว่าคนไทยเพิ่งจะดีใจที่สำนักข่าว "บลูมเบิร์ก" ยกให้คนไทยมีความสุขที่สุดในโลกประจำปี 2558 เนื่องจากคนตกงานน้อยมาก ซึ่งเป็นการวัดความสุขตามมาตรฐานสากลที่ว่า ประเทศไหนคนตกงานน้อยที่สุดจะได้รับความสุขมากขึ้น ถ้าตกงานมากหรือตกงานเพิ่มมากขึ้นนั่นก็แสดงว่าความสุขของคนในชาติจะลดลงไป ซึ่งประกาศดังกล่าวก็นำความสุขแก่คนไทยเพียงชั่วครู่เท่านั้น เพราะเราก็ทราบดีว่า การจ้างงานนั้นขึ้นอยู่กับการลงทุนในประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานติดตามมา ในขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกชี้ชัดว่ากำลังชะลอตัวลงอย่างเชื่องช้า หลายประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดโดยเฉพาะประเทศที่เคยส่งออกน้ำมันเป็นล่ำเป็นสัน การส่งออกก็ชะลอตัวลงไปด้วย และเป็นเช่นนี้โดยทั่วไป ยกเว้นประเทศที่สามารถระดมเงินลงทุนใหม่เข้าไปได้จึงจะหลุดรอดจากภาวการณ์นี้ ดังนั้น คนไทยก็ต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบทางลบของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทยผมว่ามีจุดเด่นตรงที่เราไม่ได้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ประเทศไทยยังมีเงินสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับสูง ประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศเพียงเล็กน้อยเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ประเทศไทยมีระบบการเงินการธนาคารในระดับที่มั่นคง คนไทยส่วนใหญ่รู้จักสรุปบทเรียนความผิดพลาดในอดีต (จากวิกฤติการทางการเงินเมื่อปี 2540) และถือว่าเรา "โชคดี" ที่มีรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร หาไม่แล้วหากเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ป่านนี้ยังคงรบกันบนท้องถนนไม่จบ หรือไม่ก็อาจจะแยกภาคเหนือหรือภาคอีสานออกไปเป็นอิสระแล้ว

อีกอย่างมีข้อสังเกตว่า โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ในไทยมักจะเกิดขึ้นหลังจากฝ่ายปฏิวัติรัฐประหารขึ้นมามีอำนาจและสั่งให้ดำเนินการ เป็นเช่นนี้มาตลอด เหมือนกับมีทหารยึดอำนาจเพื่อเข้ามาสะสางปัญหาต่างๆ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยทหารร่วมมือกับ 4 เหล่าทัพทั้งปัจจุบันและ 4 เหล่าทัพเก่าที่เกษียณไปแล้ว ร่วมด้วยพลเรือนที่มีความรู้ความสามารถและเข้าใจเรื่องต่างๆ จริงๆ มาวางระบบหรือมาจัดระเบียบใหม่ วางแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่มูลค่าหลายล้านล้านบาท ปัญหาใดมีอยู่ก็แก้ไขให้ลุล่วงไป ถ้ายังไม่ลุล่วงก็พยายามต่อไปเพื่อให้ลุล่วงในอนาคต มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นจากรัฐบาลปัจจุบันมากมายหลายพันโครงการ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เงินลงทุนและจะก่อให้เกิดการจ้างงานติดตามมาอีกมหาศาล หากโครงการเหล่านี้ผ่านขั้นตอนต่างๆและได้ลงมือทำในภาคปฏิบัติจริง

รายได้เฉลี่ยของคนไทยเวลานี้ตกประมาณ 12,736 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ระดับปานกลางเมื่อเทียบกับระดับสากล เรามีผลิตภาพการผลิตเพียง 25,508 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปีเท่านั้น เรายังแพ้มาเลเซียอยู่ 1 เท่าตัว และถ้าวัดเฉพาะผลิตภาพการผลิตภาคเกษตรระหว่างไทยกับมาเลเซีย เราจะต่ำกว่าเขา 5 เท่าตัว และผลิตภาพการผลิตและบริการเราก็แพ้เขาเกือบ 2 เท่า นั่นก็หมายถึงว่าคนไทยต้องช่วยกันเร่งสร้างผลิตภาพให้มากขึ้น เราต้องใช้กำลังผลิตอุตสาหกรรมในประเทศให้เต็มที่เพราะขณะนี้เรามีความสามารถผลิตได้เพียง 64.7% ของกำลังผลิตติดตั้งเท่านั้น

สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยเคยสรุปเมื่อปลายปี 2558 ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยยังคงเหลือกำลังผลิตอยู่ประมาณ 30-35% โดย 75% ของผู้ประกอบการเห็นว่าการจ้างงานในปี 2559 นี้จะเท่าเดิม ขณะที่ 12% เชื่อว่าจะจ้างงานเพิ่มขึ้น และ 13 % เชื่อว่าอาจจะลดการจ้างงานลง ทั้งนี้อัตราการว่างงานปี 2559 อาจขยับสูงขึ้นเป็น 1% โดยอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นทุก 0.1% มีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 30,000-32,000 คน ข้อเท็จจริงในปีนี้ผมเชื่อว่าจะมีการเลิกจ้างเยอะมากขึ้น เท่าที่เห็นก็ออกอาการกันบ้างแล้วในธุรกิจปิโตรเลียม รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก แต่กระทรวงแรงงานยังรายงานเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ว่า การจ้างงาน ว่างงาน และการเลิกจ้างงานยังถือว่าอยู่ในภาวะปกติ ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,141 วันที่ 20 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2559