การศึกษาทรรศนะอาจารย์ป๋วย l โอฬาร สุขเกษม

21 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
ครั้งที่แล้วผมคัดลอกข้อความจากหนังสือ “ท่านผู้ว่าการป๋วย” ว่าด้วย “การลาออกจากตำแหน่ง” มาเผยแพร่ต่อ เพื่อร่วมสดุดีคุณงามความดีของ “ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์” ในโอกาสที่องค์การยูเนสโกได้มีมติให้ประกาศยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของไทยและของโลก  ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในวันที่ 9 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา และคราวนี้ผมคัดลอกข้อความบางตอนจากหนังสือ “การศึกษาในทัศนะข้าพเจ้า ป๋วย อึ้งภากรณ์” ว่าด้วยเรื่อง “การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม” เผยแพร่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2518 ซึ่งเป็น 1 ในหลายเรื่องที่ สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ได้รวบรวมเอาไว้ และตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ กุมภาพันธ์ 2530 เพื่อเพิ่มเติมความรู้แก่ผู้อ่านทั่วไปที่สนใจในกิจกรรมของ “ท่านผู้ว่าการป๋วย” ซึ่งแม้จะผ่านเวลามายาวนานพอสมควรแล้ว แต่ก็ยัง “คมสาระ” อันเป็นประโยชน์ในการศึกษาของไทยแม้ในยุคสมัยปัจจุบัน เชิญติดตามอ่านได้เลย ครับ

การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม

-การศึกษาไทยควรแก่การปฏิรูป

ความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทยนั้นเป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่นักศึกษา นักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ อาจารย์ต่างๆทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐบาล เทศบาลที่เกี่ยวข้องเป็นเวลานานมาแล้ว เมื่อผมเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณสิบห้าปีที่แล้วมา ก็ได้สะดุดใจว่า ผลของการลงทุนด้านการศึกษาของประเทศเรานั้นไม่สู้จะดีนัก ระบบการศึกษาของเราบกพร่องหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและหนุ่มสาวในชนบทและแหล่งเสื่อมโทรมในเมือง ไม่ได้รับประโยชน์จากการอำนวยการศึกษาเท่าที่ควร เวลาพิจารณางบประมาณแต่ละปี ก็มีแต่ประเด็นให้พิจารณาว่าจะก่อสร้างโรงเรียน จะต้องซื้อโต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ จ้างครู ซึ่งเป็นของจำเป็น  แน่ละ  แต่ผู้ที่รับผิดชอบในการศึกษาของชาติไม่ได้ประเมินผลของการอำนวยการศึกษาอย่างจริงจัง และไม่ได้มีความคิดว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง และไม่ได้มีความคิดว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบสังคายนาหลักการ วิธีการดำเนินการศึกษาระดับต่างๆ ทั้งระบบ ให้เหมาะสมกับภาวะของประชาคมที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้กำหนดเป้าหมายตามลำดับความสำคัญ และไม่ได้เสาะแสวงหาวิธีการที่จะดำเนินการบริหารให้เป็นไปโดยประสิทธิภาพสู่เป้าหมายนั้นๆ

สรุปความว่า การจัดการศึกษาได้เป็นไปตามบุญตามกรรม หาเช้ากินค่ำอยู่ตลอดมา มิหนำซ้ำต่อมาบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็พยายามตัดช่องน้อยแต่พอตัว คิดแก้ปัญหาด้วยการย้ายสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการไปสู่สำนักนายกรัฐมนตรี ย้ายระบบจาก ก.พ. ไปสู่ ก.ม. อย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่ง กระทรวงมหาดไทยก็ดำเนินการยื้อแย่งอำนาจการจัดการระดับประถมศึกษาไปเสียจากกระทรวงศึกษาธิการโดยอ้างว่า จะกระจายอำนาจหน้าที่สู่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่แท้จริงไม่มีการกระจายอำนาจหน้าที่สู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริงเลย เพียงแต่เปลี่ยนขุมอำนาจรับผิดชอบในส่วนกลางจากกระทรวงหนึ่งไปอีกกระทรวงหนึ่ง โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเทศบาลกังไม่ได้เป็นอิสระเท่าที่ควร การบริหารการศึกษาจึงแตกแยกออกเป็นเรื่องของ 3 กระทรวง นโยบายไม่จำต้องสอดคล้องกันและแท้จริงมักจะขัดแย้งซึ่งกันและกัน ส่วนสภาการศึกษาแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่อำนาจกุมนโยบายและควรจะอำนวยความสะดวกในด้านประสานงานก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นั้นได้เท่าที่ควร กลับกลายเป็นหน่วยราชการที่ 4  ที่ผู้บริหารสถาบันการศึกษาทั้งหลายจะต้องผ่านการสอบสวนในกรณีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือขยายงานใดๆ

ต่อมาในสมัยปฏิวัติ 2513 จนถึงทุกวันนี้ ผู้มีอำนาจในราชการยังได้แยกบทบาทของสภาการศึกษาแห่งชาติออกเป็น 2 เสี่ยง ส่วนที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเอาไปเป็นเรื่องของทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ในสำนักนายกรัฐมนตรี  ส่วนสภาการศึกษาแห่งชาติเรียกชื่อเสียใหม่ว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ให้มีหน้าที่รับผิดชอบแต่เฉพาะการศึกษาระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา เป็นการพยายามแก้ไขเปลือกนอก ไม่ได้หยั่งลงไปถึงแก่นแห่งปัญหา การแก้ไขชนิดนี้จึงอยู่ในลักษณะที่เรียกได้ว่า ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งยกยิ่งลึก

-ข้อเสนอในการปฏิรูป

เมื่อกลางปี 2517 ได้มีข้าราชการจำนวนหนึ่งที่เล็งเห็นความหายนะอันจะเกิดขึ้นได้ และกำลังเกิดขึ้นจากระบบการศึกษาปัจจุบัน ได้สามารถเสนอความเห็นผ่านกระทรวงศึกษาธิการจนถึงคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษา ให้พิจารณาการศึกษาทั้งระบบและกระบวนการ เพื่อตรวจสอบปัญหาและแสวงหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงให้การศึกษาสามารถสนองคามคาดหวังของประชาชนสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระบอบประชาธิปไตย และเหมาะสมแก่กาลสมัย

คณะกรรมการชุดนี้ได้ขะมักเขม้นปฏิบัติหน้าที่อย่างถี่ถ้วนแต่รวดเร็ว สามารถเสนอรายงานได้ภายใน 6 เดือน เรียกว่า “การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม” เป็นรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2517 เป็นหนังสือกว่า 375 หน้า แบ่งออกเป็น 11 ตอน รวมกับบทสรุปเป็น 12 ตอน ในขณะเดียวกันคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษาได้พยายามสรุปรายงานเพื่อความสะดวกของผู้อ่านที่ไม่สู้มีเวลาหรือความวิริยะมากนักให้เป็นเล่มเล็กๆ ตัวรายงานแท้ๆ ไม่เกิน 63 หน้าขนาดเล็ก เก็บความจากรายงานฉบับสมบูรณ์มาเสนอ เรียกชื่อว่า “แนวทางปฏิรูปการศึกษาสำหรับรัฐบาลในอนาคต”

เรื่องของการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เป็นกุญแจไขปัญหาต่างๆ ทุกปัญหาในประชาคมไทย ไม่ว่าเราจะสนใจเรื่องการเมือง การสังคม เศรษฐกิจ การพัฒนา การจัดตั้งสหกรณ์ การจัดรูปที่ดิน การอนามัย หรือปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ปัญหาเรื่องโสเภณี หรือความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ฉะนั้นรายงานเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนจะต้องสนใจ เฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาปัญญาชน ข้าราชการ นักการเมือง พ่อค้า นักอุตสาหกรรม กรรมกร ชาวนาชาวไร่ และแน่ละ นักการศึกษาครูอาจารย์ และนักเรียนทุกระดับกับผู้ปกครองของนักเรียนทุกระดับ คนไทยที่สนใจเรื่องความเจริญของบ้านเมืองไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้นที่จะเพิกเฉยละเลยต่อรายงานนี้ เพราะถ้าไม่สามารถย่อรายงานฉบับ 375 หน้า ก็ยังมีโอกาสอ่านเพียง 60 กว่าหน้า ทั้งนี้ไม่ว่าเราแต่ละคนจะเห็นด้วยหรือเห็นขัดแย้งกับผู้รับผิดชอบในรายงานนี้

สำหรับผมเอง ได้อ่านและพิจารณาแล้วอยู่ฝ่ายที่เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่กับรายงานนี้ จะไม่ให้เห็นด้วยอย่างไรในเมื่อทั้งข้อเท็จจริง (ที่ในรายงานเรียกว่า สภาพปัจจุบันและปัญหา) ทั้งหลักการและวิธีการที่รายงานนี้เสนอมา นอกจากจะตรงกับข้อประเมินและความคิดของผม (ซึ่งไม่สำคัญนัก) แล้ว ผมยังเห็นว่าคณะกรรมการที่เสนอรายงานนี้ได้ใช้ความคิดสติปัญญาเสนอหลักการต่างๆ ไปในทางก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาคมไทย และเมื่อได้เสนอหลักการอันแน่นอนแล้ว ก็ได้ใช้ความละเอียดสุขุมเสนอวิธีการไว้อย่างที่จะปฏิบัติได้เป็นขั้นตอน โดยคำนึงถึงทรัพยากรของประเทศซึ่งมีจำกัดด้วย

ในรายงานฉบับสมบูรณ์ คณะกรรมการได้วิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของไทยไว้อย่างถี่ถ้วนเป็นกลางผลของการวิเคราะห์นี้ ผมเห็นว่าเป็นกระจกเงาอันเที่ยงตรง ส่องให้เราเห็นภาพอันแท้จริงของประชาคมไทย บทพรรณนาในเรื่องนี้นักเรียนด้านสังคมศาสตร์จะได้ประโยชน์ในการศึกษาเป็นอย่างดี แต่ประโยชน์ของบทพรรณนาว่าด้วยสภาวะเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรมที่ว่านี้ คณะกรรมการฯถือเป็นมูลฐานเพื่อสร้างเป้าหมายและหลักการแห่งการปฏิรูปที่คณะกรรมการเสนอขึ้น ข้อนี้เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณาเสนอหลักการต่างๆ โดยประยุกต์เข้ากับความเป็นจริง และความเป็นไปได้ในประชาคมไทย ใครจะกล่าวหาว่าคณะกรรมการฯเท้าไม่ติดดินก็กล่าวหาได้ แต่เป็นคำกล่าวหาที่เลื่อนลอย แล้วแต่ผู้ที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงจะสรรหามาโจมตี ไม่น่านำพามาวินิจฉัย

ข้อบกพร่องของการศึกษาไทยปัจจุบันพอจะสรุปได้ว่า (ก) ไม่ทันสมัย ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของประชาคม  (ข) ไม่ได้ถือประโยชน์จากความคิดใหม่ๆ ที่นักปราชญ์ทั้งหลายทั่วโลกเขากำลังสร้างสรรค์ขึ้นเสนอ  (ค) ไม่สร้างความยุติธรรมในประชาคมไทย ไม่ให้ความเสมอภาคหรือโอกาสแก่คนส่วนใหญ่ มุ่งให้ประโยชน์แก่คนส่วนน้อย  ทั้งในด้านนักเรียนและผู้ปกครอง  (ง) ไม่ส่งเสริมให้นักเรียนแต่ละระดับสามารถใช้ความคิดริเริ่มของตนเอง ส่งเสริมแต่การท่องจำเลียนแบบ  (จ) ไม่สงเสริมให้นักเรียนแต่ละคนสามารถประกอบอาชีพได้โดยสะดวก ไม่เอาใจใส่ต่อปัญหาการว่างงานในประเทศไทย (ฉ) เป็นระบบที่ปิด ใครที่ออกจากระบบไปแล้วประตูปิดตาย เข้าอีกไม่ได้ ไม่มีความคล่องตัว  (ช)  นอกจากจะเป็นระบบที่ปิดแล้วยังไม่เอาใจใส่ต่อคนที่อยู่นอกระบบ คือ ไม่สนใจเพียงพอต่อการอำนวยการศึกษานอกโรงเรียน  (ฌ) ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร ซึ่งแยกแยะออกไปเป็นหลายตอน แม้แต่ในตอนที่เกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการเอง ในปัจจุบันก็ไม่มีการประสานงานกัน ทำให้สิ้นเปลืองเปล่าดาย และได้ผลน้อย ทั้งหมดนี้ในรายงานได้กล่าวอย่างชัดแจ้ง มีเหตุผลข้อเท็จจริงประกอบ

ในส่วนที่เป็นข้อเสนอที่มีลักษณะในทางสร้างสรรค์ คณะกรรมการฯตั้งคำถามคำตอบสำคัญไว้ 4  ประการ คือ (ก) อย่างใดจึงจะเรียกว่าการศึกษาที่พึงประสงค์ (ข) จะจัดการศึกษาเพื่ออะไร  (ค) จะจัดการศึกษาเพื่อใคร  (ง) จะจัดการศึกษาอย่างไร ในตอนสุดท้ายนี้ได้เสนอหลักการในการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษาไว้ 7 ประการ คือ

(1)    ความเสมอภาคโดยไม่มีเงื่อนไขสำหรับทุกคนในการศึกษาขั้นต้น และความเสมอภาคในเชิงโอกาสสำหรับการศึกษาชั้นต่อๆ ไป

(2)    การบริหารการศึกษาจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่แตกแยกเป็นช่วงๆ จะต้องให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมและจะต้องมีประสิทธิภาพ

(3)    ระดมทรัพยากรมาใช้เพื่อการศึกษา และจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม

(4)    ฝึกฝนให้นักเรียนคิดเป็นทำเป็น และประสานการศึกษาในโรงเรียนกับนอกโรงเรียนให้สัมพันธ์กัน

(5)    จัดสาระและกระทบวนการเรียนให้เจริญทางคุณธรรม จริยธรรม ปัญญาและวัตถุ เพื่อการดำรงชีวิตตามกาลสมัย

(6)    บทบาทของครูและผู้บริหารการศึกษาต้องรับกับสภาพการณ์ใหม่

(7)    การปฏิรูปทั้งหลายนี้จะต้องมีอยู่ต่อไปเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในประชาคม

จากหลักการ 7 ประการนี้ รายงานได้ขยายความออกเป็นประเด็นๆ ตั้งแต่ตอนที่ 3 ถึงตอนที่ 11 (ของฉบับสมบูรณ์) ว่าด้วยความเสมอภาค โครงสร้างของระบบ เนื้อหาสาระ และกระบวนการเรียนรู้ บทบทและฐานะครู อุดมศึกษา การจัดการศึกษาเอกชน ระบบบริหาร การระดมสรรพกำลังและการลงทุน กฎหมายการศึกษา แต่ละตอนส่วนใหญ่กล่าวถึงหลักการวิธีการปฏิรูป ขั้นตอนของการปฏิรูป รวมทั้งกำหนดเวลาแต่ละขั้นตอน มาตรการเพื่อป้องกันและขจัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิรูป ซึ่งท่านผู้อ่านคงจะต้องใช้ความพยายามเอาใจใส่อ่านและพิจารณาตริตรองเอาเอง  ในที่นี้ จะขอยกประเด็นข้อเสนอบางประเด็นที่ผมเห็นว่าสำคัญมาเรียบเรียงไว้โดยไม่แสดงเหตุผลประกอบ และโดยไม่ปรารถนาจะให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

(1)    เน้นความสำคัญของการศึกษาภาคบังคับให้ทั่วถึงทุกท้องถิ่น

(2)    ขั้นตอนของการศึกษาชั้นประถม : มัธยม : มัธยมปลาย  เปลี่ยนจาก 7 ปี : 3 ปี 2 ปี เป็น 6 : 3 : 3

(3)    เน้นความสำคัญของการศึกษานอกโรงเรียน

(4)    ควบสายอาชีพกับสายสามัญเข้าด้วยกันทุกขั้นตอน

(5)    แต่ละขั้นให้จบได้ในตัวของตัวเอง โดยให้ออกไปประกอบอาชีพได้ แต่นักเรียนที่ออกไปแล้วยังกลับมาเรียนต่อภายหลังได้

(6)    กระจายอำนาจการวัดผลให้โรงเรียนต่างๆ

(7)    ผลิตและอบรมครู ตลอดจนผู้ช่วยสอนและบุคลากรอื่นๆ ให้ได้ผล

(8)    จูงใจให้ครูดีไปสอนในท้องถิ่นกันดารและแหล่งเสื่อมโทรม

(9)    จัดหลักประกันให้อาชีพครู และให้ระบบบริหารครูอิสระจาก ก.พ.

(10) ตั้งวิทยาลัยชุมชนต่ำกว่าปริญญาในท้องถิ่นต่างๆ

(11) เปลี่ยนวิธีการคัดเลือกเข้าอุดมศึกษาให้เสมอภาคกันทุกท้องถิ่น

(12) ให้มีสถาบันอุดมศึกษามีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่นอกระบบราชการในระยะยาว

(13) ค่อยๆ ลดบทบาทของโรงเรียนราษฎร์ในการศึกษาภาคบังคับให้หมดสิ้นไป

(14) จัดและส่งเสริมให้โรงเรียนราษฎร์มีความคล่องตัวในการบริหารและการพัฒนาวิชาการ

(15) กำหนดค่าเล่าเรียนและอัตราค่าธรรมเนียมของโรงเรียนราษฎร์ตามมาตรฐานคุณภาพของแต่ละโรงเรียนให้มีกำไรพอสมควร และลดการอุดหนุนจากรัฐ นักเรียนที่ยากจนให้ได้รับทุน

(16) ส่งเสริมคุณภาพครูและวิชาการแก่โรงเรียนราษฎร์

(17) ประกันสิทธิและสวัสดิการครูโรงเรียนราษฎร์เท่าเทียมกับครูรัฐบาล

(18) รวมงานบริหารการศึกษาส่วนกลางไว้แห่งเดียวกันเรียกว่ากระทรวงการศึกษา มีทบวงอุดมศึกษารวมอยู่ด้วย

(19) ในส่วนท้องถิ่นให้กรุงเทพมหานคร และท้องถิ่นระดับจังหวัด รับผิดชอบในการวางนโยบายและบริหารเป็นการกระจายอำนาจเต็มที่

(20) ระดมกำลังและจัดสรรการลงทุนอย่างเสมอภาคให้มีประสิทธิภาพและอย่างประหยัด แหล่งการเงินอาจจะมาจากการขึ้นค่าเล่าเรียน เงินงบประมาณและเงินกู้

(21) แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักการข้างต้น

(22) นอกจากการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าวแล้ว จะต้องปรับปรุงระบบเศรษฐกิจ ระบบการปกครอง ระบบราชการ กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม กำหนดและดำเนินการตามนโยบายประชากร กำหนดนโยบายการใช้สื่อมวลชนและกำหนดนโยบายเกี่ยวกับชนต่างวัฒนธรรม

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เสนอเงื่อนไขว่า จะต้องปฏิรูปการศึกษาทั้งในหลักการ ระบบและกระบวนการทั้งมวล มิใช่แก้เพียงบางจุดบางเรื่องบางตอนจึงจะได้ผลจริงจัง  ผมขอย้ำอีกที่ว่า ข้อสรุป  22 ข้อที่ผมเสนอมานี้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และไม่ตรงกับบทสรุปในรายงานสมบูรณ์หน้า  330-347 หรือข้อความสรุปในรายงานฉบับย่อในทุกประเด็น แต่เห็นว่าอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านบทความนี้ ให้ได้ทราบถึงเค้าของรายงานที่กล่าวถึงอย่างสั้นๆ

ข้อวิจารณ์

ในตอนท้ายของบทความนี้ ผมจะขอออกความเห็นและหยิบยกประเด็นบางเรื่องขึ้นมาวิจารณ์ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของคณะกรรมการฯ ที่ใคร่จะได้รับทราบข้อคิดเห็นจากผู้สนใจประเภทต่างๆ

(1)    การที่จะดำเนินการปฏิรูปกรศึกษาให้บรรลุถึงความสำเร็จนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องปรับปรุงระบบต่างๆ และกำหนดนโยบายต่างๆ ให้แน่วแน่ ตามข้อ (22) ข้างต้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ ระบบและนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง (มิใช่เพียงแต่อ้างว่าระบบการปกครองท้องถิ่นปัจจุบันนี้กระจายอำนาจไปแล้ว) นโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ นโยบายวางแผนครอบครัวและจำนวนประชากร เพราะถ้าประชากรยังเพิ่มขึ้นในอัตราสูงอย่างปัจจุบันแล้ว จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นไปได้โดยยาก  ทั้งในด้านของปัญหาและในด้านของทรัพยากรที่จะนำมาแก้ไขปัญหา แต่ที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ รัฐบาลจะต้องมีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ (มี political will) ที่จะดำเนินการปฏิรูป มิใช่ว่า “คณะรัฐมนตรีรับหลักการ” หรือรับหลักการวันนี้แล้ว วันหลังโลเล มิใช่ว่าเอาเรื่องรายละเอียดมาเป็นอุปสรรคคัดง้างหลักการปฏิรูปใหญ่ รัฐบาลต้องพิจารณากันให้ถ่องแท้ จะไม่รับปฏิบัติก็ต้องบอกมาโดยกล้าหาญว่าไม่รับ อย่าให้ทำมาแล้วเสียเวลาเปล่า สิ่งที่ผมอยากจะเห็นก็คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา นำเรื่องนี้ขึ้นอภิปรายกันอย่างน้อย 1 วัน ให้สมกับที่เป็นเรื่องสำคัญยิ่งของชาติ และเมื่อรัฐสภาตกลงให้ดำเนินการปฏิรูปตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯแล้ว ก็ให้ถือว่ารัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามข้อเสนออย่างซื่อสัตย์สุจริต ประเด็นที่สำคัญยิ่งอีกข้อหนึ่งก็คือ รัฐบาลจะมีความแน่นอนในความเอาใจใส่เรื่องนี้เพียงพอหรือไม่ ที่จะตั้งบุคคลที่เข้มแข็งจริงๆ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แล้วให้ความสนับสนุนแก่บุคคลนั้นทุกประการ

(2)    ในรายงานนี้ได้กล่าวไว้หลายตอนถึง “ความงอกงามทางคุณธรรม และจริยธรรม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐพึงปรารถนาในระบบการศึกษาปัจจุบันก็ระบุถึงศีลธรรม จรรยา และจริยศึกษาที่มีอยู่ในหลักสูตรและตำราเรียนด้วย การอบรมเด็กหรือนักศึกษาผู้ใหญ่ด้วยถ้อยคำ คำเทศนา แบบเรียน ตำราเหล่านี้เท่าที่เป็นมาทุกกาลสมัย ทุกประเทศทั่วโลกไม่ได้ผล ตรงกันข้าม ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและเพิกเฉยแก่นักเรียนนักศึกษา เรื่องนี้จะปฏิรูประบบการศึกษาสักอย่างใดเท่าใดก็คงจะไม่ได้ ต้องปฏิรูประบบการปฏิบัติและความประพฤติของพวกเรา คือ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ ตลอดจนนักการเมือง รัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลาย ความซื่อสัตย์ เอาใจใส่ต่อหน้าที่ ความตรงต่อเวลา ความมีใจเป็นนักกีฬารู้แพ้รู้ชนะ เป็นสิ่งที่พร่ำสอนกันไม่ได้ แต่ก่อให้เกิดได้จากการปฏิบัติ และการปฏิบัติให้เด็กเอาเยี่ยงอย่าง

(3)    การรวมหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเข้าเป็นกระทรวงการศึกษานั้น ผมเห็นชอบด้วย เป็นหลักการที่ดี แต่ใคร่จะเสนอเงื่อนไขไว้ 2 ประการ คือ

(ก)   เมื่อกระทรวงการศึกษาเป็นหน่วยราชการใหญ่ แยกออกมาเป็นหน่วยใหญ่ที่ย่อยลงมานั้น ตามประวัติการณ์ของกระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงอื่นๆ การประสานงานระหว่างหน่วยต่างๆ ภายในกระทรวงเดียวกันมักจะเป็นจุดอ่อนของราชการไทย จำเป็นจะต้องพยายามวางมาตรการให้เกิดการประสานงานภายในกระทรวงให้รัดกุม ข้อนี้อาจจะพาดพิงไปถึงตัวรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง ก็เป็นได้

(ข)   การศึกษากับการสาธารณสุขเป็นของคู่กัน ในโรงเรียนระดับต่างๆ จำเป็นต้องมีบริการอนามัยโรงเรียน ฉะนั้น การประสานงานระหว่างกระทรวงศึกษากับกระทรวงสาธารณสุขจะต้องกระชับกันแน่นแฟ้น ข้อนี้เห็นได้ชัดมากที่ในศูนย์เด็กปฐมวัย (การศึกษาชั้นก่อนประถมศึกษา) ในศูนย์เช่นนี้ โภชนาการและการอนามัยสำคัญกว่าการเรียนหนังสือ ฉะนั้น กระทรวงการศึกษาจะต้องร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด และพิจารณาจากสภาวะปัจจุบันผมค่อนข้างจะเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขควรจะเป็นช้างเท้าหน้าและกระทรวงศึกษาควรจะยอมรับสภาพเป็นช้างเท้าหลังในเรื่องศูนย์เด็กปฐมวัย

(4)     การควบเอาอาชีวศึกษาเข้าไปรวมกับสายสามัญนั้น ผมเห็นด้วยเต็มที่ เพราะเป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาร่วมกันไป ไม่ใช่แยกกัน แต่ทั้งนี้ผมเข้าใจว่า คณะกรรมการฯคงจะไม่ต้องการกีดกันมิให้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาอาชีวะขึ้นเป็นพิเศษโดยเอกชน หรือโดยรัฐบาล หรือโดยท้องถิ่น เพราะสถาบันที่กล่าวนี้คงจะมีประโยชน์และมีส่วนในกระบวนการศึกษาแน่ เฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเสริมสร้างความสามารถพิเศษแก่ผู้ที่ได้รับการศึกษาสายสามัญ (รวมทั้งอาชีวะ) มาแล้ว

(5)    การที่รัฐจะพยายามระดมทุนทรัพย์และกำลังคน ให้บริการการศึกษาภาคบังคับให้ทั่วถึงนั้น เป็นข้อที่น่าสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะจำเป็นหรือที่จะห้ามขาดมิให้เอกชนโรงเรียนราษฎร์เปิดสอนชั้นประถมภาคบังคับด้วย อย่างน้อยก็เป็นการแข่งขันกับโรงเรียนของรัฐ และอย่างน้อยก็ช่วยให้การศึกษาของเราไม่ใช่เป็นแบบจำลองเหมือนกันทั้งระบบ ความแตกต่างกันบางครั้งก็ทำให้เกิดผลดีซึ่งกันและกันได้ในส่วนรวม

(6)    ครูที่จะทำประโยชน์ให้แก่ศิษย์จริงๆ นั้น จะต้องมีความรู้ แต่สำคัญกว่าความรู้คือความเอาใจใส่สอนเด็ก  ในโรงเรียนจำนวนมากในขณะนี้ เฉพาะอย่างยิ่งในถิ่นกันดาร ไกลหูไกลตาผู้คน ครูใหญ่บางทีก็ไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นแรมเดือน ครูน้อยก็ไม่ใคร่จะเอาใจใส่สอนเด็ก ในรายงานของคณะกรรมการฯกล่าวถึงการนิเทศครู แต่ไม่ได้กล่าวถึงการตรวจตราการปฏิบัติงานของครูผมคิดว่าสารวัตรการศึกษายังมีความจำเป็น

(7)    คณะกรรมการฯเสนอจัดตั้งสำนึกงานส่งเสริมพลานามัยขึ้นแทนกรมพลศึกษา (เว้นแต่การจัดวิทยาลัยพลศึกษา) และสำนักงานเยาวชนแห่งชาติให้ส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับพลานามัยและกิจกรรมเยาวชนต่างๆ และจะไม่จัดการศึกษาในโรงเรียน ข้อนี้ทำให้ผมฉงนว่า การพลศึกษาในโรงเรียนจะทำอย่างไร ผมเองเห็นว่า สำหรับเด็กนักเรียนส่วนใหญ่รุ่น 10 ขวบ ถึง 18 ขวบ นอกเหนือไปจากการเรียนวิชาความรู้ตามปรกติแล้ว การจัดงานพลศึกษาหรือจัดองค์กรอย่างเช่น ลูกเสือ มีความสำคัญพอใช้ เพราะเกี่ยวกับการอบรมนิสัยให้รู้แพ้รู้ชนะ บำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวม และชักจูงให้มามั่วสุมกันในเชิงที่เป็นประโยชน์ แทนที่จะปล่อยให้ชักจูงกันไปทำชั่ว ผมอ่านดายงานหลายครั้งแล้วเห็นว่า คณะกรรมการฯ ไม่ใคร่จะเห็นมากนักในเรื่องสำคัญนี้ อาจจะเป็นเพราะมีปฏิกิริยาต่อสภาพปัจจุบันก็เป็นได้

(8)    ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษานั้น คณะกรรมการฯใจเย็นกว่าผม คือ ในชั้นแรกให้มีการปฏิรูประบบการบริหารเพียงแต่ให้ยังอยู่ในราชการ แต่มีคณะกรรมการข้าราชการอุดมศึกษาขึ้นจัดการบริหารงานบุคคล และในการพัฒนาระยะยาว จึงจะเสนอให้ศึกษารายละเอียดให้สถาบันอุดมศึกษามีอิสระในการดำเนินกิจการ แล้วแปรสภาพของทบวงอุดมศึกษาเป็นคณะกรรมการจัดสรรเงินอุดหนุนอุดมศึกษา ถ้าเป็นใจผม ใคร่จะเสนอให้ถือเป็นหลักการว่า สถาบันอุดมศึกษาจะต้องมีอิสระในการดำเนินกิจการของตนเอง มหาวิทยาลัยใดจัดวางระเบียบภายในของตนได้สำเร็จเมื่อใด ก็ให้พ้นจากความครอบงำของระบบราชการได้โดยทันที

(9)    ในรายงานของคณะกรรมการฯ หลายแห่ง มีการเสนอให้เพิ่มค่าเล่าเรียน เพื่อให้ตรงตามหลักเศรษฐกิจต้นทุนกำไร ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเอกชนหรือมหาวิทยาลัยของรัฐ ส่วนผู้ที่ยากจนนั้น ให้ท้องถิ่นหรือโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยให้ทุนการศึกษาหรือให้ยืมเงินศึกษา เป็นการปฏิบัติตามหลักความเสมอภาคแห่งโอกาส ข้อนี้เห็นด้วยในหลักการ แต่พิจารณาในทางปฏิบัติ ถ้าจะรอให้นักเรียนเข้าโรงเรียนเสียก่อน หรือนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยเสียก่อน แล้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยหรือท้องถิ่นจึงให้ทุนแล้ว คนที่ยากจนจริงๆ ไม่แน่ใจว่าจะได้ทุนจะไม่สามารถสมัครเข้าเรียนได้  ฉะนั้น ข้อสำคัญที่ควรคำนึง คือ ท้องถิ่นแต่ละแห่งจะต้องได้รับความอุดหนุนจากรัฐบาล จากเอกชนผู้ให้ทุนให้สามารถพิจารณาให้ทุนแก่เด็กเรียนดีในท้องถิ่นนั้นๆ ก่อนสมัครเข้าเรียนต่อในชั้นใดๆ ทั้งสิ้น การะกระทำเช่นนี้จะต้องให้ท้องถิ่นมีอิสระทางการเงินและการบริหารอย่างสมบูรณ์ ซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่เบื้องแรกที่จะต้องกระทำ เพราะรัฐธรรมนูญมิได้ระบุไว้หรือว่า อิสรภาพของท้องถิ่นทางการเงินและการบริหารเป็นข้อพึงปรารถนา และพิจารณาจากแง่ของการปฏิรูปการศึกษาตามรายงานของคณะกรรมการนี้ อิสรภาพของท้องถิ่นและการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น มิใช่เงื่อนไขสำคัญของเอกสารนี้ดอกละหรือ

มีนาคม 2518

Photo Credit: http://www.puey.in.th/