เปลี่ยนชาวไร่ชาวนา เป็นผู้ประกอบการ

20 มี.ค. 2559 | 01:00 น.
การส่งออกของไทยติดลบต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปี และยังมีแนวโน้มจะติดลบต่ออีก 1-2 ปีข้างหน้า ตามการคาดการณ์ของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้น ประกอบกับจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญและชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของเอเชียอันดับ 2 ของโลก ก็ยังส่งออกติดลบถึง 25% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกก็เหมือนการยืมจมูกคนอื่นหายใจ หากไทยยังจะเกาะไหล่เกาะบ่าคนอื่นต่อไปในยามนี้ไม่รู้จะพึ่งใครได้ ฝั่งตะวันตกวันนี้ฝรั่งปั๊มเงินอัดฉีดเศรษฐกิจตัวเองจนดอลลาร์และยูโรจะกลายเป็นแบงก์กงเต็ก ฝั่งตะวันออกญี่ปุ่นลดดอกเบี้ยมานานแล้วยังไม่ฟื้น วันนี้เอาเงินไปฝากแบงก์ยังต้องเสียค่าฝาก

จะหวังพึ่งจีนพี่ใหญ่แห่งเอเชียแม้จะประกาศขยายบทบาท “จีนเชื่อมโลก” ด้วยนโยบาย One Belt One Road แต่ความร้อนแรงที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้น่าสงสัยว่าวันนี้จีนเป็นพญามังกรที่กำลังป่วยไข้หรือแค่พักเอาแรงเพื่อลุยต่อ

การนำประเทศฝ่าความฝืดเคืองในยามนี้ รองนายกฯสมคิดพูดชัดเจนว่าเลือกวิธีผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก คือทั้งอัดฉีดเงินสู่ระบบ และปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรกรรม ทั้งขานรับความคิดของนายกรัฐมนตรี และช่วยเหลือเกษตรกรโดยนโยบายประชารัฐ(ไม่ใช่ประชานิยม)

ถ้าปล่อยให้เกษตรกรชาวไร่ชาวนาทำต่อไปอย่างเดิมๆ ปลูกข้าว ปลูกมัน ปลูกยางพารา เอาผลผลิตมาขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ก็จะยากจนต่อไปอย่างนี้จนชั่วลูกชั่วหลาน เพราะราคาสินค้าถูกตลาดกำหนด และจะถูกกลไกตลาดกดราคาลงอีกจนแทบไม่คุ้มการลงทุนลงแรง นี่ไม่นับรวมถึงผลกระทบจากฝนฟ้าที่เดี๋ยวน้ำท่วมเดี๋ยวฝนแล้ง

แนวคิดของนายสมคิดที่จะดึงเกษตรกรให้หลุดจากความยากจนคือ เปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ

“1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี” คือโครงการที่จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วยการยกระดับเกษตรกร 3 ด้าน คือจากแค่ผู้ผลิตวัตดุดิบให้ก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ ยกระดับสินค้าเกษตรพื้นฐานสู่สินค้าชุมชน และสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยววิถีเกษตร

แต่ดูไปแล้วเหมือนกับเป็นความพยายามของนายสมคิดที่จะสานต่อโครงการ “1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์” ที่ตนเองเคยจุดประกายให้กำเนิดสินค้า “โอท็อป” จนเกษตรกรแห่ทำกันมากมาย ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาแปรรูปผลผลิตการเกษตร ทำน้ำผลไม้ ไวน์ อาหารอบแห้ง ขนมพื้นเมือง ของหมัก ของดอง สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้และของตกแต่ง ฯลฯ

ในเชิงการตลาดทำให้คำว่า “โอท็อป” ติดตลาดและลบทิ้งไม่ได้แม้ว่าการเมืองสมัยหนึ่งพยายามจะลบทิ้ง แต่อีกด้านหนึ่งก็พบว่าสินค้าโอท็อปที่เกิดขึ้นมาก็ตายไปเยอะ เพราะทำแบบชาวบ้าน ขาดนวัตกรรม ขาดเทคโนโลยีในการผลิต ขาดดีไซน์ ขาดช่องทางตลาด สายป่านสั้น ทุนน้อย

เกรงว่าถ้าปล่อยให้คิดและทำแบบราชการที่ชอบเอาตัวเลขเป็นที่ตั้ง ทั้งประเทศมี 7,254 ตำบล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงอุตสาหกรรม อาจจับมือกันผลิตหลักสูตร “ เกษตรกรก้าวหน้ายุคประชารัฐ” แล้วเกณฑ์เกษตรกรทั่วประเทศเข้าอบรมตามหลักสูตรถือว่าบรรลุเป้าหมาย

ส่วนที่จะให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาช่วยสนับสนุน คงต้องขอความชัดเจนว่าจะสนับสนุนอย่างไร เป็นการช่วยฟรีหรือมีเงื่อนไข จะหาช่องทางการตลาด จะช่วยด้านเทคนิคการผลิต สอนกลยุทธ์การตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

ข้อสำคัญต้องบอกยักษ์ใหญ่ว่า ช่วยแล้วห้ามก๊อบปี้สินค้าของเกษตรกรออกมามาวางขายแข่งนะคนดี!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559