วิจักขณ์ สุวรรณภักดี บาลานซ์ศิลปะและการค้า...ขายจุดต่างความคิดสร้างสรรค์

20 มี.ค. 2559 | 03:00 น.

ในยุคสมัยที่คนสนใจทำธุรกิจการค้าบนโลกออนไลน์มากขึ้น หนึ่งหนุ่มที่คว้าจังหวะและโอกาส มาผสมผสานกับความเป็นนักคิดสร้างสรรค์ของเขาและทีมงานได้อย่างลงตัว

 ก็คือ "แคน - วิจักขณ์ สุวรรณภักดี" กรรมการผู้จัดการ บริษัท A Taste Sive จำกัด บริษัทที่แตกออกมาเพื่อโต จาก บริษัท ไอเดีย ป๊อป จำกัด ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง เอเยนซี ที่มีลูกค้ามากมาย อาทิ เบทาโกร ซัมซุง นกแอร์ เอสซีจี ดีแทค ซีเอ็มจี พานาโซนิค



จากที่เคยทำหน้าที่เป็น ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (Creative Director) ในบริษัท ไอเดีย ป๊อป จำกัด เขาบอกว่า มันถึงเวลาแล้ว ที่จะสามารถแยกตัวออกมาเติบโตให้มากขึ้น เพราะงานเกี่ยวกับการดีไซน์ เป็นงานที่นักการตลาดในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญมาก เพราะไม่เพียงแค่งานดีไซน์ที่โดน จะสร้างความแตกต่าง สร้างความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าได้แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของสินค้านั้นๆ ด้วย
 

"แคน" จบการศึกษาปริญญาตรี ด้าน Communication Design School of Fine and Applied Arts จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเริ่มทำงานกับผู้บริหารบริษัท ไอเดีย ป๊อปฯ ดูแลด้านออนไลน์ให้กับ ดีแทค มาลี เชฟโรเลต เบทาโกร และยังรับงานด้านออนไลน์จากเอเยนซียักษ์ใหญ่ข้ามชาติ
 

เป้าหมายในการแยกตัวของ "แคน" ไม่ใช่แยกออกมาแบบต่างคนต่างทำ แต่ A Taste Sive ยังรับงานออกแบบจาก ไอเดีย ป๊อป มาสานต่อ และขยายฐานลูกค้าออกไปรับลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งด้าน ดิจิตอล ดีไซน์ งานโมชัน งานกราฟิกดีไซน์ รวมไปถึงงานอาร์ต อีเวนต์ และรีเทล

เขาบอกว่า ตอนนี้งานดีไซน์แทรกซึมไปทุกที่ และงานที่ได้ผลดีทางแง่การตลาด คืองานที่สามารถผสมผสานได้ดีและลงตัว ระหว่างงานศิลปะ และงานด้านคอมเมอร์เชียล หรือการค้า โดยจุดแข็งของ เขาคือ การนำไอเดียสร้างสรรค์ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ของคนรุ่นใหม่จากทีมงาน มาผสมผสานเข้ากับความเป็นตัวตนของสินค้า และเจ้าของสินค้า ซึ่งทีมงานของเขา จะมีความโดดเด่นทางผลงานที่แตกต่างกันไป

 

"เรามี Passion หรือความชื่นชอบที่เหมือนกัน เป็นคนชอบกิน เที่ยว ดื่ม เหมือนกัน ชอบงานอาร์ต ชอบความคิดสร้างสรรค์ เหมือนกัน โดยแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป งานที่ออกมาจึงมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งที่เป็นออนไลน์ และออฟไลน์"
 

"แคน" ยอมรับว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีความเป็นอาร์ติสต์ จะมีความเป็นตัวของตัวเองมาก การบริหารงานอาจจะยากสำหรับคนอื่น แต่สำหรับเขา ซึ่งเป็นคนพันธุ์เดียวกัน ทีมงานที่ทำงานร่วมกัน ก็คิดและมีความต้องการไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นการบริหารจึงไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่เขาซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้วางขอบข่ายงาน และกระจายงานให้เหมาะสมกับแต่ละคน ซึ่งที่ผ่านมาตลอด 5 ปี เขาและทีมงาน ก็สามารถทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี

สิ่งต่อมาที่นักบริหารอย่างเขาต้องทำ คือการบาลานซ์ความคิดระหว่างไอเดียสร้างสรรค์ ที่เต็มไปด้วยความเป็นศิลปะของแต่ละ ให้กลมกลืนกับแนวคิดทางการตลาดของลูกค้า ซึ่งตรงนี้แหละ ที่เขาบอกว่า มันคือจุดแข็ง และเป็นเสน่ห์ ที่ทำให้ลูกค้าให้ความสนใจมาใช้บริการจากบริษัทของเขา

"คอนเซ็ปต์ส่วนใหญ่เราจะมองเรื่องไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป็นหลัก เราจะลงไปศึกษารายละเอียด มีการคุยกัน ให้ได้แนวทางของเขา แล้วเอามาพัฒนา ออกแบบ และประยุกต์ให้เข้ากับงบประมาณของลูกค้า โดยการใส่เข้าไปทั้งความเป็นอาร์ตและคอมเมอร์เชียล"

ผู้บริหารหนุ่มวัยไม่ถึง 30 ปีคนนี้ยอมรับว่า การแข่งขันของตลาดเอเยนซีดีไซน์มีสูง เพราะแม้แต่เด็กจบใหม่ก็เข้ามาชิมลางกับตลาดนี้ แต่การทำงานตรงนั้นค่อนข้างฉาบฉวย การที่เขาจะสามารถเอาชนะทั้งคู่แข่งรายย่อยและรายใหญ่ได้ คือ การให้บริการที่ครบวงจร และดึงจุดแข็งที่เขาและทีมงานมีอยู่ ระหว่างงานงานอาร์ตและงานคอมเมอร์เชียล มันสร้างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยอมรับได้ดี เพราะงานไม่ได้อาร์ตแบบสุดโต่ง แต่เป็นงานอาร์ตที่เข้าใจงานขายและการตลาด ซึ่งนั่นคือหัวใจสำคัญของการบริหารงานในธุรกิจของเขาให้ประสบความสำเร็จ
 

"หัวใจสำคัญของเรา คือต้องเข้าใจลูกค้า บางคนต้องการยอดขาย บางคนต้องการสร้างภาพลักษณ์ เราต้องบาลานซ์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน"
 

การพัฒนาธุรกิจของผู้ชายคนนี้ ยังคงเดินหน้าไปเรื่อยๆ ตอนนี้องค์กรของเขา ทำทั้งงานด้านดิจิตอลเอเยนซี และการเป็นผู้สร้างสรรค์สินค้า ซึ่งที่ผ่านมา มีทั้ง นาฬิกา ติดตามเด็ก Pomo เครื่องตรวจวัดความดัน และกำลังพัฒนาสินค้าอื่นๆ ออกสู่ตลาดเพิ่มเติม
 

เป้าหมายของนักคิดและนักบริหารคนนี้ก็คือ ก็สร้างองค์กรให้เติบโตตามเทรนด์ของตลาด ตลาดต้องการอะไร เข้าจะเข้าไปซัพพอร์ตตรงนั้น เขามีเป้าหมายที่จะขยายองค์กรของเขาให้เติบโตมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับหัวหน้างานคนแรกของเขา ที่สร้างองค์กรจากบริษัทเล็ก จนขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน โดยไม่ได้มุ่งเป้าว่า จะต้องเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป และสามารถรองรับความต้องการของตลาดได้ นั่นจึงจะทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน
 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559