รอทุนญี่ปุ่นไม่ไหว ‘ไอทีดี’ดิ้นทาบจีนเพิ่มสปีดทวาย

11 มี.ค. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายบนพื้นที่ 197 ตารางกิโลเมตรในขั้น Full Phase ซึ่งเป็นขั้นสมบูรณ์เต็มรูปแบบนั้น เป็นโครงการใหญ่ระดับอภิมหาโปรเจ็คท์ และจะเป็น 1 ใน 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) ที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศของเมียนมา โดยอีก 2 เขต SEZ นอกเหนือจากที่ทวาย ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิ่วในรัฐยะไข่ และเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาชานกรุงย่างกุ้ง ซึ่งจีนและญี่ปุ่นเป็นผู้ได้รับสัมปทานตามลำดับ

นับตั้งแต่ที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี และคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนที่จดะเบียนในประเทศเมียนมาภายใต้ชื่อบริษัท เมียนทวาย อินดัสเทรียล เอสเตท จำกัด (เอ็มไออี) ได้รับสัมปทานพัฒนาพื้นที่โครงการระยะแรกจากคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (DSEZMC) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมปีที่ผ่านมา ก็มีการเดินหน้าโครงการในหลายส่วนโดยเฉพาะในด้านการปรับพื้นที่และก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับนิคมอุตสาหกรรม การก่อสร้างอาคารที่พักคนงาน รวมทั้งการปรับปรุงสภาพถนนจากด่านพุน้ำร้อน จ. กาญจนบุรี เข้าสู่พื้นที่โครงการในจังหวัดทวาย ประเทศเมียนมา

[caption id="attachment_37011" align="aligncenter" width="382"] ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมียนทวาย อินดัสเทรียล เอสเตท จำกัด (เอ็มไออี) ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท เมียนทวาย อินดัสเทรียล เอสเตท จำกัด (เอ็มไออี)[/caption]

ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เมียนทวาย อินดัสเทรียล เอสเตท จำกัด (เอ็มไออี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการว่า ในส่วนของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้น ขณะนี้มีลูกค้าเซ็นสัญญาจับจองพื้นที่แล้ว และยังอยู่ในระหว่างการเจรจาอีกหลายราย ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถขายพื้นที่ปีละ 1.5-2 พันไร่ ใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ปี ส่วนสิ้นปีนี้ คาดว่า สาธารณูปโภค-สาธารณูปการในพื้นที่ส่วนใหญ่จะสมบูรณ์ พร้อมรองรับการเข้ามาก่อสร้างโรงงานของลูกค้า

"ก่อนหน้านี้อาจจะมีความคาดหวังเกี่ยวกับผู้ลงทุนที่เป็นบริษัทญี่ปุ่น แต่จริงๆแล้ว ญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างจะระมัดระวังและขยับตัวช้า ดังนั้นในช่วงปีแรกนี้ เราตั้งเป้าลูกค้าเป็นบริษัทไทย ซึ่งน่าจะได้ 10 รายในระยะปีเศษๆ ในอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้วัตถุดิบ (material based industries) และอุตสาหกรรมต้นน้ำ" ดร.สมเจตน์กล่าว และเปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการนั้นเป็นไปตามกำหนด รวมถึงการเสนอรายละเอียดแผนงานและการลงทุน โดยเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารของไอทีดี ได้นำคณะนักลงทุนจีน 14 คนเข้าพบประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (DSEZMC Chairman) และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่กรุงเนปิดอว์ เพื่อสรุปสถานการณ์การร่วมลงทุน

[caption id="attachment_37015" align="aligncenter" width="500"] ท่าเรือขนาดเล็กภายในโครงการ ท่าเรือขนาดเล็กภายในโครงการ[/caption]

"โดยเบื้องต้นนั้นจีนจะเข้ามาร่วมปรับปรุงและขยายถนน 4 เลนจากด่านพุน้ำร้อนถึงพื้นที่โครงการซึ่งมีระยะทาง 138 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นถนนลูกรัง 2 เลน ถนนส่วนขยาย 4 เลนอาจจะไม่ทับแนวเดิมทั้งหมด คาดว่าต้องใช้เงินทุนเพิ่มราว 3 เท่าจากวงเงินปรับปรุงเดิม 4.5 พันล้านบาท ก็จะคิดเป็นเงินลงทุนราว 13,500 ล้านบาทในส่วนของถนน 4 เลน อีกส่วนที่จีนจะเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาคือท่าเรือส่วนขยาย คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 25,200 ล้านบาท" ดร.สมเจตน์กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่ามทุนฝ่ายจีนนั้นมีทั้งบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจ อาทิ บริษัท คิง ทริลเลียน บริษัทการรถไฟจีน (ไชน่า เรลเวย์ เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด : ซีอาร์อีซี) บริษัทด้านพลังงานของจีน รวมทั้งกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) อย่างไรก็ตาม การเข้ามาร่วมลงทุนของฝ่ายจีนในลักษณะกิจการค้าร่วมหรือคอนซอร์เทียม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของถนนหรือท่าเรือ ต้องเสนอแผนการลงทุนให้ทางฝ่ายเมียนมาพิจารณาซึ่งอาจต้องรอการตัดสินใจของรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นในเร็วๆนี้ "ผมมองว่า การมีรัฐบาลใหม่น่าจะเป็นผลบวกกับโครงการ เพราะเขาเองก็ต้องการเปิดประเทศ" ผู้บริหารของเอ็มไออีกล่าว พร้อมระบุว่า ระหว่างนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าทำงานในส่วนที่ทำได้ไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นการปรับพื้นที่เตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม การก่อสร้างอาคารที่พักคนงาน (หรือทาวน์ชิป) ที่ขณะนี้อาคารหลังแรกมีความคืบหน้าไปกว่า 70 % แล้ว รวมทั้งการปรับความลาดชันของถนน 2 เลนที่มีอยู่ ให้มีความชันลดลงไม่เกิน 10 % เพื่อพร้อมรับการสัญจรของรถบรรทุกขนาดใหญ่หรือเทรลเลอร์ที่จะวิ่งล่องขนส่งวัสดุก่อสร้างหรืออุปกรณ์หนักที่จะต้องใช้ในการก่อสร้างโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมทวาย

  ลูกค้าไทยรายแรกปักธงในนิคม

สมชัย เอี่ยมอิ่มจิตต์ ประธานกรรมการบริษัท วีเอสไอ ยูเนี่ยนไทย จำกัด อดีตประธานหอหารค้าระนอง 3 สมัย เป็นลูกค้ารายแรกที่เข้ามาเซ็นสัญญาจับจองพื้นที่เบื้องต้น 10 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 110 ล้านบาท จะเป็นการสร้างโรงงานห้องเย็น โรงงานผลิตน้ำแข็ง และโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ "แหล่งวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ตัดสินใจมาตั้งโรงงานที่นี่ ปัจจุบัน บริษัทมารับซื้ออาหารทะเลที่ทวายอยู่แล้วโดยใช้ห้องเย็นของพันธมิตรท้องถิ่น และบางส่วนก็ต้องรีบขนส่งทางรถเข้าไปยังฝั่งไทย เพื่อนำไปแปรรูปและส่งออก" สมชัยยังเปิดเผยด้วยว่า มีความมั่นใจในการลงทุนครั้งนี้ เนื่องจากที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้รับทั้งสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองการลงทุนตามกฎหมายของเมียนมา จึงมีความมั่นใจที่จะเข้ามาบุกเบิกเป็นรายแรกๆ ที่สำคัญคือเขายังมองไปในอนาคตระยะยาวว่า ผู้ประกอบการของไทยรายอื่นๆสามารถเข้ามาตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารทะเลและการแปรรูปสัตว์น้ำในนิคมอุตสาหกรรมของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพราะนอกจากจะอยู่ในแหล่งวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบโควตาและสิทธิพิเศษทางศุลกากร (จีเอสพี) ในการส่งออกสินค้าจากเมียนมาไปยังตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาอีกด้วย "ท่าเรือที่นี่กำลังได้รับการพัฒนา อีกหน่อยเราไม่ต้องส่งสินค้าเข้าเมืองไทยเพื่อไปแปรรูปและส่งออก แต่จะสามารถผลิต แปรรูป และส่งออกจากท่าเรือที่ทวายไปบุกตลาดทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป หรือที่อื่นๆทั่วโลกได้อย่างสบายๆ"

พลวัตรของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกำลังขับเคลื่อนรุดหน้า แม้ไม่เร็วนักแต่ก็เห็นพัฒนาการที่ชัดเจน เมื่อเมียนมาได้รัฐบาลชุดใหม่อย่างเป็นทางการในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราคงได้เห็นสปีดของโครงการที่รวดเร็วกว่านี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559