คลังอู้อี้ยกเว้นภาษีคนเงินเดือน3หมื่นบาท

09 มี.ค. 2559 | 02:00 น.
กรมสรรพากร แบ่งรับแบ่งสู้ฐานรายได้ 3 หมื่นบาทไม่ต้องเสียภาษี ระบุฐานรายได้อยู่ระหว่างศึกษา ขณะที่พร้อมความชัดเจน ปลัดคลัง เตรียมเสนอ ครม. ภาษีแพ็กคู่ "ภาษีบุคคลธรรมดา-ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" เผยภาษีบุคคลธรรมดาปรับ 3 ด้าน ทั้งเงินได้สุทธิ-เพิ่มค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต้องเหมาะสมตามเศรษฐกิจ ด้านนักวิชาการชี้ หากปรับฐานภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ต้องจับตาคนเสียภาษีเข้าสู่ระบบ-ขยายฐานได้ตามเป้าหรือไม่

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกระแสข่าวการปรับฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 7 ขั้น จากเดิมที่ว่าจะปรับมาอยู่ที่ 28-30% ให้กลับมาปรับเท่าฐานสูงสุดในปัจจุบันที่35% ขณะที่หลังหักลดหย่อนแล้วผู้มีรายได้ 3 หมื่นบาทต่อเดือนไม่ต้องเสียภาษีนั้น ยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อสรุป และตนก็ไม่เคยให้ข่าวเช่นนั้น โดยขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างศึกษาฐานรายได้ที่เหมาะสมกับทุกกลุ่ม ที่สำคัญต้องไม่กระทบโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากปัจจุบันต้องยอมรับว่าถึงแม้รายได้ของผู้เสียภาษีจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ฐานรายได้ไม่ได้ปรับเพิ่ม

"ตอนนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างกำลังดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติประมวลรัษฎากร โดยปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ และจะใช้เป็นการถาวร ผู้เสียภาษีทุกคนจะได้ประโยชน์ เสียภาษีลดลง จะเริ่มใช้ปีภาษี 2560 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2561 ดังนั้นภาษีรอบใหม่จะต้องตั้งอยู่บนแนวทางการเสียภาษีที่ไม่กระทบ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย-ปานกลางกลาง ทุกกลุ่มต้องแฮปปี้ ที่สำคัญจะต้องเสนอนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาภายในเดือนมีนาคม นี้"

นายประสงค์ กล่าวเพิ่มเติม ว่า การพิจารณาการขอลดหย่อนภาษี ยังมีหลายปัจจัยประกอบ ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่สำคัญการกำหนดจำนวนรายหรือ ฐานผู้เสียภาษีให้เพิ่มขึ้นนั้น มีการประเมินถ้าจะให้ผู้มีรายได้ 3 หมื่นบาทไม่ต้องเสียภาษีนั้น มีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างหลังจากที่ได้ศึกษาก็จะเสนอไปให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งน่าจะเปิดเผยได้อย่างเป็นทางการหลังจากเสนอ ครม.ไปแล้ว

 ยื่นเสียภาษีผ่านเน็ตพุ่ง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันในการยื่นแบบสำหรับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีการขอยื่นเสียภาษีเข้ามาแล้ว 11 ล้านราย โดย 84-85% หรือคิดเป็น 9.24-9.35 ล้านราย เป็นการยื่นผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และคาดว่า ณ สิ้นปี 2559 จะมีการยื่นเข้ามาถึง 87% หรือคิดเป็น 9.57 ล้านราย เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2558 ที่มีการยื่นแบบการเสียภาษีเข้ามาที่ 79% หรือ 8.69 ล้านราย

ทั้งนี้มีผู้เสียภาษีจริงประมาณ 7 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้มีรายได้สุทธิเกิน 4 ล้านบาท ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุด 35% มีเพียง 1-2% ของผู้ที่ยื่นแบบทั้งหมด ซึ่งถือเป็นจำนวนไม่มาก ซึ่งการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อผู้มีรายได้มากและผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น นอกจากนี้การปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะสอดคล้องกับอัตราภาษีนิติบุคคลที่เสียอยู่ 20% และเสียภาษีเงินปันผลอีก 8% รวมเป็น 28% ซึ่งหากลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 35% เหลือ 30%ก็จะมากกว่าภาษีนิติบุคคลธรรมดา 2% เท่านั้น

  ภาษีใหม่ใช้ปี60ยื่นเสียปี61

สำหรับแนวทางการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คาดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเห็นชอบภายในไตรมาสแรกของปีนี้ และจะให้มีผลบังคับใช้สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2560 ที่จะยื่นแบบและเสียภาษีในปี 2561 โดยสาระสำคัญคือ จะทำให้ผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดามีภาระลดลง มีความสุขในชีวิตมากขึ้น โดยจะลดอัตราภาษี เพิ่มการหักค่าใช้จ่ายเหมารวมที่ปัจจุบันได้ 6 หมื่นบาท รวมถึงการพิจารณาค่าหักลดหย่อนในส่วนของบุตรจะไม่จำกัดจำนวนคน และการหักลดหย่อนอื่นๆ โดยจะมีเพดานกำหนดว่าหักลดหย่อนรวมได้ไม่เกินเท่าไร แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

"เห็นได้จากปัจจุบันผู้มีรายได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือนไม่มีภาระภาษีต้องเสีย แต่หลังลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาแล้ว จะทำให้ผู้มีรายได้มากกว่า 2หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน จะไม่มีภาระเสียภาษี โดยจะเสนอให้นายอภิศักดิ์ พิจารณาตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง"

  ปีภาษี59 ยังคงที่ 7 ขั้น

ข้อมูลจากกรมสรรพากร ชี้แจงถึงอัตราภาษีบุคคลธรรมดา นั้น จะยังคงไว้ที่ 7ขั้นตามเดิม คือ 5, 10, 15, 20, 25, 30 และ 35% ทั้งนี้ รายได้ สุทธิตั้งแต่ 1-1.5 แสนบาท ยังคงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดยรายได้ สำหรับขั้นที่ 1 ส่วนที่เกิน 1.5-3 แสนบาท ให้เสียในอัตราที่ 5% ขั้นที่ 2 ส่วนที่เกิน 3-5 แสนบาท เสียในอัตราที่ 10% ขั้นที่ 3ส่วนที่เกิน 5-7.5 แสนบาท เสียในอัตรา 15% ขั้นที่ 4 ส่วนที่เกิน 7.5-1 ล้านบาท เสียในอัตรา 20% ขั้นที่ 5 ส่วนที่เกิน 1-2 ล้านบาท เสียในอัตรา 25% ขั้นที่ 6 ส่วนที่เกิน 2-4 ล้านบาท เสียในอัตรา 30% และขั้นที่ 7 ส่วนที่เกิน 4 ล้านบาท เสียในอัตรา 35%

 เล็งเพิ่มลดหย่อน"ประกันสุขภาพ"

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การเสนอปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา ถูกจับตาอย่างมากว่าจะสามารถเสนอครม.พิจารณาได้ทันภายในเดือนมีนาคมนี้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาหลังจากที่กรมสรรพากรได้เสนอรายละเอียดของโครง สร้าง โดยเฉพาะเงินลดหย่อนภาษี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 2 คน ก็มีแนวคิดที่จะให้ไม่จำกัดจำนวน หรือแม้แต่การเปิดโอกาสให้นำเบี้ยประกันสุขภาพ ให้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนจากเบี้ยประกันเช่นเดียวกับประกันชีวิต หรือ LTF/RMF ที่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไปในอนาคต

"ต้องบอกตามตรงว่า รมว.คลัง ใช้เวลาพิจารณาในการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างมาก เรียกว่ารอบคอบป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด ซึ่งหลังจากที่กรมสรรพากร เสนอ 2-3 รอบก็มีการส่งกลับไปให้เพิ่มหรือปรับลดเงื่อนไขหลายครั้ง แม้เดิมคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ภายในสัปดาห์นี้ (8 มีนาคม 2559) แต่ก็ไม่สามารถเสนอได้ทัน เนื่องจากยังต้องมีการปรับในส่วนของข้อความบางรายการเพื่อให้เกิดความชัดเจน เรียกว่าโครงสร้างการลดหย่อน รวมถึงรายได้จะมีการขยายให้กว้างมากขึ้น เดิมคนที่มีรายได้น้อยก็จะไม่ต้องจ่าย หรือเรียกว่าการจ่ายภาษีจะทำบนความสมดุล ซึ่งได้เร่งรัดให้กรมสรรพากร เร่งเสนอเข้ามาให้เร็วที่สุด"

 ชงแพ็กคู่"ภาษีเงินได้-ที่ดิน"

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้การเสนอ ครม. พิจารณาจะมีการเสนอรูปแบบภาษี 2 ฉบับ คือ ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะได้เห็นชัดเจนว่า เมื่อมีการปรับลดภาษีใดแล้ว ภาษีอีกตัวก็จะสามารถสร้างรายได้จากการจัดเก็บให้เพิ่มขึ้น เรียกว่ามีทั้งได้แล้วมีทั้งเสีย โดยมั่นใจว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา น่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ขณะเดียวกันภาครัฐ โดยกรมสรรพากร ยังสามารถขยายฐานผู้เสียภาษีให้กว้างมากขึ้น ขณะที่แนวโน้มการเสียภาษีก็จะมีทิศทางลดลง โดยต้องบทสรุปจาก รมว.คลัง ว่าท้ายสุดแล้วจะเพิ่มในส่วนของรายได้ขยับขึ้นไปมากกว่าหรือหยุดอยู่ที่ผู้มีรายได้ 3 หมื่นบาทไม่ต้องเสียภาษี หรือไม่

"ยืนยันว่าโครงสร้างใหม่ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีการปรับ 3-4 อย่าง คือ ปรับในส่วนของเงินได้สุทธิที่เกิน 4 ล้านบาท มีการปรับเพิ่มในส่วนของค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าลดหย่อนจะต้องมีความเหมาะสม รวมถึงจะเพิ่มค่าลดหย่อนใหม่ๆ บางรายการเข้าไปด้วยเพื่อทำให้เกิดการช่วยเหลือแทนที่จะต้องมาพึ่งภาครัฐเท่านั้น "

 ม.ภาษีกระตุกศก.ได้ผลน้อย

ด้านผศ. ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย องอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยกอการค้าไทย กล่าวว่าการที่กระทรวงการคลังศึกษาเตรียมปรับโครงสร้างภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ส่วนหนึ่งเชื่อว่าจะทำให้การจัดเก็บภาษีของไทยมีความเป็นสากลมากขึ้น ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เนื่องจากปัจจุบันภาษีของไทยยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทั้งนี้หากทำให้ฐานภาษีกว้างแต่ระยะสั้นจะทำให้ขยายฐานภาษีได้ ก็ต้องจับตาดูว่าจะมีคนเข้าสู่ระบบได้เพิ่มตามที่กรมสรรพากรตั้งเป้าไว้แค่ไหน ขณะนี้ต้องยอมรับว่าการปรับลดภาษีจะทำให้คนมีเงินเหลือใช้ มีเงินในกระเป้ามากขึ้นแต่ในเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจเห็นผลไม่มากนัก เนื่องจากมีทั้งคนที่นำเงินจากการที่ไม่ต้องจ่ายภาษีเก็บไว้ หรือมีการจ่ายออกไปบ้างแต่หากระยะยาวหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง ภาครัฐควรเร่งนโยบายการเบิกจ่ายเงินลงทุน ก็จะเห็นได้รวดเร็วกว่า

สำหรับภาษีที่น่าจะมีการปรับให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่ถือว่ามีความจำเป็นมาก คือ ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา รวมถึงภาษีที่ส่งเสริมให้คนมีบุตรมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนกำลังคน ดังนั้นหากส่งเสริมในส่วนของค่าลดหย่อนให้เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลดีในระยะยาว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559